แม้วพลิกเกมที่ดินฉาว หาช่องโหว่ ลาก หม่อมอุ๋ย เข้าพวก

"ทักษิณ" พลิกเกมที่ดินฉาว หาช่องโหว่ ลาก "หม่อมอุ๋ย" เข้าพวก


25 เมษายนนี้จะเป็นวันที่คณะอนุกรรมการไต่สวนดคีที่ดินฉาวย่านรัชดาภิเษก ของคุณหญิง พจมาน ชินวัตร ภริยา ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มี "อุดม เฟื่องฟุ้ง"เป็นประธาน

จะสรุปสำนวนส่งที่ประชุม คตส.ชุดใหญ่ เพื่อส่งต่อให้อัยการสั่งเชือดเป็นคดีที่ 2

หลังจากสอบพยานปากสุดท้าย ม.ร.ว.ปรีดียาธร เทวกุล หรือ "หม่อมอุ๋ย" อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ในฐานะอดีตประธานกรรมการกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินไปหมาดๆ เมื่อวันก่อน

ตามที่ทีมทนายของ "ทักษิณ" ในฐานะผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 กับ คุณหญิงพจมาน ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ร้องขอให้สอบเพิ่มเติมโดยเฉพาะประเด็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี ในการเข้าไปกำกับดูแลกองทุนฟื้นฟู


เกมนี้ทีมทนายของ "ทักษิณ" เป็นฝ่ายขุดหลุมพราง


เพื่อล่อให้ คตส.ตกหลุม ด้วยการลาก "หม่อมอุ๋ย" เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีนี้ด้วย

เพราะถ้า "ทักษิณ" กับ "หญิงอ้อ" มีความผิด

"หม่อมอุ๋ย" ก็ย่อมมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีนี้ด้วยไปโดยปริยาย ในฐานะที่เป็นผู้กำกับดูแลกองทุนฟื้นฟูโดยตรง

และที่ผ่านมา "หม่อมอุ๋ย" ก็เป็นคนเดียวที่ออกมายืนยันเสียงแข็งว่าการซื้อขายที่ดินของกองทุนฟื้นฟูกับ "คุณหญิงพจมาน" โปร่งใส และมีกำไรเกิดขึ้น

ทั้งๆ ที่ยังอยู่ในตำแหน่ง รมว.การคลัง ของรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์

ที่สำคัญในช่วงที่ "หม่อมอุ๋ย" เป็นเสนาบดีกระทรวงการคลัง ก็ยังมีทีท่าไม่ค่อยเต็มใจให้ความร่วมมือกับการทำงานของ คตส.เท่าไรนัก

จับสังเกตได้จากการไม่พยายามเร่งรัดให้กองทุนฟื้นฟู เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ อาจเพราะกลัวโดน "หางเลข" เข้าไปด้วยก็ได้

จนเป็นเหตุให้ทีมทนาย "ทักษิณ" ยกประเด็นนี้มาต่อสู้ โดยอ้างว่ากองทุนฟื้นฟูไม่ใช่ผู้เสียหาย และการร้องทุกข์กล่าวโทษไม่ได้เกิดขึ้นด้วยความสมัครใจ


ประเด็นนี้แหละเป็นอีกหนึ่งเหตุปัจจัย


ที่ทำให้ "หม่อมอุ๋ย" ถอดใจทิ้งเก้าอี้กระโดดออกจากรัฐนาวา "ฤาษีเลี้ยงเต่า"

หากเป็นจริงตามที่ทีมทนายของ "ทักษิณ" ออกมากล่าวอ้างว่าการให้ถ้อยคำของ "หม่อมอุ๋ย" เป็นประโยชน์กับฝ่ายผู้ถูกกล่าวหา เพราะออกมายืนยันว่านายกรัฐมนตรีไม่มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลกองทุนฟื้นฟู

รูปคดีก็จะ "เข้าทาง" ทีมทนายของ "ทักษิณ" ยกประเด็นมาต่อสู้

โดยย้อนกลับไปขุดเอา พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 มาตรา 29 เตรส ที่บัญญัติให้ คณะกรรมการจัดการกองทุน เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่วางนโยบาย ควบคุม ดูแล กิจการของกองทุนเพื่อการฟื้นฟู รวมทั้งการออกข้อบังคับ

ดังนั้นผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี "ไม่มีอำนาจ" กำกับ ควบคุม ดูแล ตรวจสอบกิจการของกองทุนฟื้นฟู

จึงเท่ากับว่า การออกระเบียบ และการซื้อขาย ของกองทุนฟื้นฟู ไม่จำเป็นต้องนำกลับไปหารือกับฝ่ายบริหาร นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี หรือกระทรวงการคลัง

การให้ถ้อยคำของ "หม่อมอุ๋ย" ครั้งนี้ จึงทำให้ทีมทนายของ "ทักษิณ" มั่นใจว่าจะเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายผู้ถูกกล่าวหา

"มั่นใจว่า ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ได้ตอบข้อซักถามที่เคยได้ยืนยันไปก่อนหน้านี้ ว่าการซื้อขายที่ดินระหว่างกองทุนฟื้นฟูกับคุณหญิงพจมาน ถูกต้องและมีกำไร และทีมทนายยังมั่นใจในข้อบังคับของกองทุนฟื้นฟูว่า ไม่ต้องผ่านฝ่ายบริหาร"


นี่คือสุ้มเสียงของ พิชิต ชื่นบาน


ทนายความผู้ได้รับมอบอำนาจจาก "ทักษิณ" ให้รับผิดชอบในคดีนี้

พร้อมทั้งเตรียมขอคำให้ถ้อยคำของ "หม่อยอุ๋ย" ต่ออนุกรรมการไต่สวน ไว้ต่อสู้คดีในชั้นศาลต่อไป

เท่ากับว่าการเดินเกมครั้งนี้ของ "ทักษิณ" จึงมีเป้าประสงค์ชัดเจนในการหาช่องทางหายใจในการต่อสู้คดี

โดยมีเจตนาดึงเอา "หม่อยอุ๋ย" เข้ามาเป็นพวก หลังจากพ้น ครม.ขิงแก่

ดังนั้นงานนี้ คตส.ต้องคิดหนัก หากยังขืนปล่อยให้ลอยนวลจะกลายเป็นชองโหว่ในการต่อสู้คดีในชั้นศาล

เพราะที่ผ่านมา ไม่มีการลงดาบ "หม่อมอุ๋ย" เนื่องจากก่อนหน้านี้ยังถือว่าเป็นคนในรัฐบาลขิงแก่ ที่ยังพอเป็นไม้เป็นมือในการปราบ "ทักษิณ"

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดมีรายงานมาว่า อนุกรรมการไต่สวนเตรียมชงให้ที่ประชุมพิจารณาเพื่อตั้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมกับ "คุณชายอุ๋ย" ว่าเข้าข่ายความผิดที่ต้องรับผิดชอบด้วยหรือไม่

โดย "อุดม" ยืนยันว่าจะถูกหรือผิดขึ้นอยู่กับหลักฐานและข้อมูลซึ่งที่ประชุมต้องมีการพิจารณาอย่างรอบด้าน

รวมถึงต้องรอมติของที่ประชุมว่าจะตัดสินใจอย่างไร ในการประชุมนัดสุดท้าย 25 เมษายนนี้


อย่างเพิ่งไปตกใจ หรือตื่นเต้น กับคำพูดของทนายผู้ถูกกล่าวหา


เพราะคนเป็นทนายย่อมทำหน้าที่แก้ต่างให้แก่ลูกความ ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดา ที่จะต้องยกข้อกฎหมายต่างๆ มากล่าวอ้าง คตส.เองก็ยืนยันในข้อกฎหมายที่ได้พิจารณามาอย่างรอบด้าน"

พร้อมทั้งยืนยันว่าไม่ว่าจะยกกฎหมายมาตราใดมากล่าวอ้าง

สุดท้ายต้องอยู่ภายใต้กรอบ "ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน" ภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี ที่ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

ซึ่งอนุกรรมการไต่สวนได้พิจารณาข้อกฎหมายทุกประเด็นแล้ว รวมถึง พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 มาตรา 29 เตรส

นั่นเป็นเพราะว่า กองทุนฟื้นฟูอยู่ภายใต้การดูแลของแบงก์ชาติโดยมีกระทรวงการคลังกำกับดูแล

ซึ่งก็อยู่ภายใต้การบริหารงานของ "นายกรัฐมนตรี" อยู่ดี

งานนี้จะตายหรือรอด ต้องไปว่ากันที่ชั้นศาลเท่านั้น

ส่วน "หม่อยอุ๋ย" ก็ต้องรอวัดดวงว่าจะโดนร่วมวิบากกรรมเดียวกันกับ "ทักษิณ" หรือไม่



ขอขอบคุณ : ข้อมูลข่าวที่มีคุณภาพ จาก หนังสือพิมพ์คมชัดลึก


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์