ความนัย ลึกซึ้ง การเป็น รัฏฐาธิปัตย์ ของ สุเทพ

ความนัย ลึกซึ้ง การเป็น รัฏฐาธิปัตย์ ของ สุเทพ

คําประกาศเป็น "รัฏฐาธิปัตย์" ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ภายหลังการประชุมแกนนำ กปปส.ทั่วประเทศ ณ สวนลุมพินี

มากด้วยความมั่นใจ

เป็นความมั่นใจ 1 ว่า ป.ป.ช.จักต้องวินิจฉัยชี้มูลความผิดของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในกรณีโครงการจำนำข้าวอย่างแน่นอน

1 ว่าศาลรัฐธรรมนูญจักต้องทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พ้นสภาพ

พ้นสภาพจากกรณีการโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี ออกจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ

อันเท่ากับเป็น "สุญญากาศ" ทางการเมือง

เป็นสุญญากาศอันนำไปสู่การที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ จะนำรายชื่อ "บุคคล" ซึ่งสมควรดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีขึ้นทูลเกล้าฯ

แล้วนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

ไม่ว่านายสุเทพ เทือกสุบรรณ จะได้ "ความมั่นใจ" เช่นนี้มาอย่างไร แต่ "ความมั่นใจ" นี้ก็ละเอียดอ่อนเป็นอย่างยิ่ง

เท่ากับ "สะท้อน" ถึง "ทฤษฎีสมคบคิด"

วิถีดำเนินแห่งกระบวนการ 3 "สมคบคิด"

อันเป็นเหมือนกระดานหกทะยานไปสู่ภาวะ "สุญญากาศ" และการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 7

ล่อแหลม และหวาดเสียว

ล่อแหลมเพราะเท่ากับแสดงให้เห็นว่า กระบวนการของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ มิได้เป็นเรื่องของคนคนเดียว หรือคนกลุ่มเดียว

หากแต่สัมพันธ์และยึดโยงอยู่กับหลายส่วน

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ "มั่นใจ" ได้อย่างไรว่า ป.ป.ช.จะวินิจฉัยไปในทิศทางเช่นนั้น นายสุเทพ เทือกสุบรรณ "มั่นใจ" ได้อย่างไรว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยไปในทิศทางเช่นนั้น

เว้นแต่ว่าจะมีการสมคบคิดกันมาก่อน

เว้นแต่ว่า บุคคลซึ่งอยู่ในสถานะแห่ง "ประธาน" กปปส.มากด้วยอิทธิพล มากด้วยบารมีพอที่จะกำกับและบงการให้ ป.ป.ช.วินิจฉัยไปในทิศทางนี้ กำกับและบงการให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไปในทิศทางนี้

อันเท่ากับอำนาจเหนือ ป.ป.ช.มีอยู่ อันเท่ากับอำนาจเหนือศาลรัฐธรรมนูญมีอยู่

ยิ่งหากนำเอากระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่เคยทรงมีต่อการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 7 ว่าเป็นไปไม่ได้มาพิจารณาประกอบ ยิ่งเป็นเรื่องน่าหวาดเสียว

น่าหวาดเสียวต่อคำประกาศของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ

อย่ามองข้าม "ความหมาย" ของคำว่า "รัฏฐาธิปัตย์" ในทางรัฐศาสตร์ ในทางการเมืองไปอย่างเด็ดขาด

รัฏฐาธิปัตย์คืออำนาจอันยิ่งใหญ่

บทเรียนจากการรัฐประหารในอดีตยืนยันในสถานะแห่ง "รัฏฐาธิปัตย์" อย่างเด่นชัดยิ่ง ไม่ว่าจะโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ไม่ว่าจะโดยจอมพลถนอม กิตติขจร

2 คนนี้เคยประหารชีวิตคนมาแล้ว

เมื่อเป้าหมายของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ คือการเป็น "รัฏฐาธิปัตย์" อันอยู่ในสถานะเดียวกันกับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และ
จอมพลถนอม กิตติขจร

หรือสถานะของหัวหน้าคณะ
"รัฐประหาร"

แม้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ จะอ้างฐานที่ยืนของตนคือ "มวลมหาประชาชน" แต่ความเป็นจริงแห่ง "มวลมหาประชาชน" ก็เปราะบางอย่างยิ่ง

เปราะบางกระทั่งไม่กล้าเข้าสู่กระบวนการของการเลือกตั้ง

เปราะบางกระทั่งต้องถอยร่นจากที่เคยดำเนินมาตรการ "ชัตดาวน์" กทม. คงเหลือเพียงชัตดาวน์เฉพาะ "สวนลุมพินี"

แล้วอย่างนี้ ป.ป.ช.จะเห็นด้วยหรือ แล้วอย่างนี้ศาลรัฐธรรมนูญจะเซย์เยสหรือ

ทั้งนี้ แทบไม่ต้องกล่าวถึงสถานะที่จะทำหน้าที่ "ทูลเกล้าฯ" และ "รับสนอง" พระบรมราชโองการ

ถึงคำประกาศของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ จะมากด้วยความมั่นใจต่อกระบวนตุลาการรัฐประหาร

กระนั้น ก็มิได้หมายความว่า "องคาพยพ" อื่นๆ ในสังคมประเทศไทยจะเห็นชอบด้วย อย่างน้อย "คนเสื้อแดง" ก็ประกาศออกมาเช่นเดียวกันว่าพร้อมที่จะต่อสู้ คัดค้าน และต่อต้านอย่างสุดตัว

โลกนี้มิได้อยู่ด้วย มณี เดียวนา ทรายและสิ่งอื่นมี ร่วมสร้าง

(ที่มา:มติชนรายวัน 7 เมษายน 2557)


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์