11 เทวดายึดอำนาจ รธน.นายกฯ คนนอก ใครว่าสูญพันธุ์ !

11 เทวดายึดอำนาจ รธน. "นายกฯ คนนอก" ใครว่าสูญพันธุ์ !


แม้การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ดำเนินไปอย่างช้าๆ เรื่อยๆ มาเรียงๆ แต่ปรากฏว่าประเด็นต่างๆ ที่ถูกโยนออกมาสู่สาธารณะกลับร้อนแรงขึ้นตามลำดับ หินแต่ละก้อนที่ขว้างมาถามทางหวาดเสียวจะเจอสวนกลับด้วยก้อนอิฐเหลือเกิน



โดยเฉพาะประเด็นหัวใจที่ถูกจับจ้องตาเป็นมัน


คือหนทางการขึ้นสู่ตำแหน่ง "นายกรัฐมนตรี" ว่าจะมาจากไหน คนในหรือคนนอก

สืบทอดอำนาจหรือไม่ ???

ยังเป็นคำถามที่คุกรุ่นไม่หยุด โดยเฉพาะท่ามกลางสถานการณ์ที่ขบวนการทักษิณ เริ่มตั้งลำ จัดทัพ เตรียมทีม พร้อมประลองกำลังกับอำนาจรัฐประหารเพื่อทวงบัลลังก์คืนด้วยแล้ว

ทั้งไทยรักไทย พีทีวี ไทยเซย์โน แท็กซี่ สามล้อ เกษตรกรรากหญ้า ตั้งป้อมจองกฐินรอถล่มล่วงหน้ากันแล้ว

ถ้าตอบไม่ชัดมีหวังพังทั้งแถบ ลุกฮือแน่ !

"น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ" ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ รับภารกิจตอบคำถามนี้ด้วยหัวใจนักรบ

จนร่างแรกรัฐธรรมนูญที่ปรากฏสู่สายตาประชาชน ระบุชัดเจนว่า "นายกรัฐมนตรีให้มาจาก ส.ส.เท่านั้น"

แต่เมื่อการพิจารณาให้ละเอียดลงไปอีกนิด ก็เห็นว่า กมธ.ยกร่างฯ จำนวนหนึ่งพยายามยื้อยุดให้รัฐธรรมนูญยืดหยุ่นช่องทางให้ยอมรับ "ผู้นำ" ที่มาจากหลากหลาย


โดยเฉพาะในยาม "ฉุกเฉิน" !!!


โดยซ่อนช่องทางเอาไว้ในหลายมาตราให้โยงใยกัน เริ่มตั้งแต่ มาตรา 7 ที่ระบุว่า

"ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใดให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"

ตามด้วยการสร้าง มาตรา 67 วรรคสอง ที่ระบุว่า

"ในกรณีที่ประเทศตกอยู่ในภาวะวิกฤติภาวะคับขันหรือเกิดสถานการณ์จำเป็นอย่างยิ่งในทางการเมืองให้มีการประชุมระหว่าง

1.นายกรัฐมนตรี
2.ประธานรัฐสภา
3.ประธานวุฒิสภา
4.ผู้นำพรรคฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
5.ประธานศาลรัฐธรรมนูญ
6.ประธานศาลฎีกา
7.ประธานศาลปกครองสูงสุด และประธานองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ
8.ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
9.ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
10.ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ
11.ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ"

การออกแบบ 2 มาตรานี้เป็นกลไกที่รัฐธรรมนูญปี 2550 ต้องการให้เป็นเครื่องมือในการผ่าทางตันวิกฤติการณ์ทางการเมือง

ยกอำนาจให้คณะบุคคลจำนวน 11 คนตัดสินใจแก้ปัญหาประเทศชาติ

แต่จะมีอำนาจถึงขนาดบังคับให้นายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่ง หรือมีอำนาจสรรหานายกรัฐมนตรี คนใหม่ ได้หรือไม่

ยังไม่ชัดเจน !


"น.ต.ประสงค์" กล่าวว่า


"ปัญหาการเมืองที่เคยเกิดขึ้นเพราะเราไม่มีทางออก มันก็เกิดเรื่อง ดังนั้นในยามวิกฤติ หรือฉุกเฉิน ถ้าเปิดช่องไว้บ้างมันน่าจะแก้ไขปัญหาได้โดยไม่ต้องปฏิวัติรัฐประหาร"

แปลว่าถ้าประชาชนไม่ต้องการให้ทหารยึดอำนาจ ก็ต้องยอมให้อำนาจกับ 11 คนนี้หรือ ???

ถ้าเป็นอย่างนั้น เท่ากับว่ารัฐธรรมนูญเปิดทางให้บุคคลจำนวน 11 คน "ยึดอำนาจ" ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ขณะที่ กมธ.จำนวนหนึ่งก็ออกมาประสานเสียงกันสื่อสารความเลวร้ายของ "ระบอบทักษิณ" อย่างต่อเนื่อง

ซึ่งจะด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ไม่ทราบได้ แต่การตอกย้ำความเชื่อให้ประชาชนอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนั้น เป็นการสร้างให้ประชาชนตกอยู่ในภาวะ "หวาดกลัว"

กลัวบรรยากาศการเมืองก่อนรัฐประหารจะหวนคืน

กลัวว่าถึงเวลาวิกฤติแล้วบ้านเมืองจะไม่มีทางออก


สุดท้ายประชาชนต้องยอมรับกลไกพิเศษที่รัฐธรรมนูญจะสร้างขึ้นมา


และกลไกนี้จะหา "นายกรัฐมนตรี" ให้ประเทศนี้ โดยไม่ต้องผ่านการเลือกตั้งหรือไม่ ???

ทั้งมาตรา 67 หรือการผลักดัน "นิรโทษกรรม" ลงในบทเฉพาะกาล ชี้ให้เห็นว่าตอนนี้ "น.ต.ประสงค์" มองเกมทะลุไปไกลหลังเลือกตั้งใหม่แล้ว

เป็นความเข้าใจดีว่าสถานการณ์อย่างนี้ ไว้ใจใครไม่ได้ทั้งสิ้น

และรู้ดีว่าถ้าอำนาจ "ทักษิณ" คืนสังเวียนการเมืองเมื่อไร มหกรรม "เช็คบิล" เรียงตัวจะเกิดขึ้นแน่นอน

เมื่อถึงวันนั้น ทั้งมาตรา 7 และมาตรา 67 จะมีชีวิตขึ้นมาสอดประสานรับกันขับไล่ "ระบอบทักษิณ" ให้เด้งออกจากสนามการเมืองอีกรอบ

เรียกว่าโดยถูกต้องตามกฎหมาย และไม่ต้องฉีกรัฐธรรมนูญ



ขอขอบคุณ : ข้อมูลข่าวที่มีคุณภาพ จาก หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์