รวมพลจุฬาฯกว่า5,000คว่ำนิรโทษ

รวมพลจุฬาฯกว่า5,000คว่ำนิรโทษ



'นายกฯสภา'ผนึกกำลัง'อธิการบดี-ประชาคมชาวจุฬาฯ'กว่า5,000 ชีวิต

เคลื่อนพลคัดค้านคนโกง คว่ำ'นิรโทษกรรม' 'อ.จุฬาฯ'ยันชุมนุมไม่เกี่ยวการเมืองแต่ทำเพื่อความถูกต้อง

               เมื่อเวลา 15.00 น.วันที่ 5 พฤศจิกายน 2556 บริเวณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลุ่มศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน คณาจารย์ และบุคลากร ชาวจุฬาลงกรณ์ ในแต่ละคณะ อาทิ คณะอักษรศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะครุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นต้น ได้ทยอยรวมพลในแต่ละคณะของตัวเองพร้อมร่างรายชื่อสนับสนุน แถลงการณ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฉบับที่ 1 เรื่องข้อขัดแย้งร่างกฎหมายนิรโทษกรรม

               หลังจากนั้นเวลา 16.00 น. ในแต่ละคณะได้เดินขบวนมายังบริเวณสนามหญ้าหน้าลานพระบรมรูป 2 รัชกาล รวมตัวกับคณะผู้บริหารจุฬาฯ มีผู้บริหารนำโดย ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาฯ และคุณหญิงสุชาดา กีระนันนท์ นายกสภาจุฬาฯ เพื่อแสดงพลังค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยมีการร่วมแสดงพลังประมาณ 5,000 คน ต่อมา ศ.นพ.ภิรมย์ กล่าวนำสักการะพระบรมรูป 2 รัชกาลและขอให้คุ้มครองชาวจุฬาฯทุกคนที่ออกมาเคลื่อนไหวในครั้งนี้ พร้อมร่วมกันร้องเพลงมหาจุฬาลงกรณ์

               ศ.นพ.ภิรมย์ กล่าวว่า การมารวมตัวของชาวจุฬาฯ ในครั้งนี้ เพราะเป็นห่วงร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่ผ่านวาระ 3 อย่างเร่งรีบผิดปกติ และมีการขยายระยะเวลา ซึ่งการนิรโทษกรรมดังกล่าวครอบคลุมไปถึงการทุจริตคอรัปชั่น ในฐานะที่เป็นสถานบันการศึกษา ที่สั่งสอนคนให้เป็นคนเก่ง คนดี แต่ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว สุ่มเสี่ยงต่อคุณธรรมจริยธรรม ซึ่งหากพ.ร.บ.ผ่านวุฒิสภาแล้ว ต่อไปจะสอนเด็กได้อย่างไร

               อธิการบดีจุฬาฯ กล่าวต่อว่า โดยส่วนตัว อยากเสนอทางออกให้คว่ำร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ให้กลับมาแก้ไขให้ถูกด้วยเหตุและผล ทั้งนี้ แม้ขณะนี้ประธานวุฒิสภา ออกมาบอกว่าจะคว่ำ แต่ขอดูก่อนว่าจะมีปัจจัยอื่นที่จะส่งผลให้พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านการพิจารณาหรือไม่ ทั้งนี้ ทางจุฬาฯได้มีการตั้งกรรมการทำงาน ประกอบด้วย อาจารย์จากคณะต่างๆ อาทิ คณะรัฐศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ เป็นต้น มารวมพลังกันเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ในแต่ละวันที่จะเกิด เพื่อนำมาสู่การพิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่อได้ และมีแผนระยะยาวจะให้ความรู้แก่ศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน และประชาชนเกี่ยวกับกฎหมาย

               "ทางจุฬาฯได้ให้อิสระอย่างเต็มที่แก่นิสิต อาจารย์ และบุคลากรที่ต้องการไปร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มอื่นๆ ซึ่งถือเป็นสิทธิ์ส่วนบุคคล และเป็นการแสดงพลังเพื่อเรียกร้องสิ่งที่ถูกต้อง แต่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับทางการเมืองนั้น มีอาจารย์ด้านกฎหมายที่คอยดูแลให้ความเข้าใจแก่นิสิตอยู่แล้ว"ศ.นพ.ภิรมย์ กล่าว

                ผศ.ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า กำหนดการเดินขบวนในวันนี้ จะเริ่มพิธีขึ้นในเวลา 16.30 น. โดย ศ.นพ.ภิรมย์ เป็นผู้กล่าวแถลงการณ์ จากนั้นเวลา 17.00 น.จะเดินขบวนออกจากมหาวิทยาลัยผ่านบริเวณด้านหน้าประตูใหญ่ฝั่งถนนพญาไทไปจนถึงสี่แยกปทุมวันและสิ้นสุดขบวนที่เวทีด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในเวลา 18.00 น. เพื่อร่วมร้องเพลงชาติไทยและเพลงมหาจุฬาลงกรณ์เป็นอันเสร็จสิ้นพิธีการ

                ทั้งนี้ ทางจุฬาฯ ได้ประสานสถานีตำรวจนครบาลปทุมวันไว้แล้วว่าจะมีการเดินขบวนในช่วงเวลาดังกล่าว โดยขบวนของจุฬาฯ จะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ซึ่งเคลื่อนขบวนพร้อมกัน ได้แก่ กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มนิสิตปัจจุบันจะเดินออกจากมหาวิทยาลัยมุ่งไปทางสี่แยกปทุมวันแล้วเลี้ยวขวาเข้าสยามแสควร์เพื่อแจกเอกสารแถลงการณ์รณรงค์ กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มนิสิตปัจจุบันและศิษย์เก่าที่มีความรู้ภาษาอังกฤษจะเดินแจกเอกสารแถลงการณ์และประชาสัมพันธ์กิจกรรมเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่บริเวณห้างสรรพสินค้ามาบุญครองได้รับทราบ และกลุ่มสุดท้ายคือ กลุ่มนิสิตเก่าสูงวัยจะค่อยๆ เดินมุ่งตรงไปยังเวทีด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

 เครือข่ายจุฬาฯ เชิดชูคุณธรรม ประกาศจุดยืน 5 ข้อ ดังนี้

               1.ขอคัดค้านร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ฉบับเหมาเข่งสุดซอย อย่างถึงที่สุด โดยจะร่วมมือสนับสนุนการเคลื่อนไหวการต่อต้านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมโดยสันติวิธี

               2.ขอเรียกร้องให้วุฒิสภา ได้พิจารณากลั่นกรองร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ด้วยความรอบคอบและเป็นอิสระอย่างถึงที่สุด ไม่ให้ร่างกฎหมาย ซึ่งมีที่มาที่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญและขัดแย้งต่อหลักการปกครอง แบบประชาธิปไตยผ่านมือไปได้

               3.ขอเรียกร้องให้พรรคเพื่อไทย และรัฐบาลภายใต้การนำของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หยุดการผลักดันร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ทันที

               4.ขอเรียกร้องและสนับสนุนให้ประชาชนคนไทยทุกคนและทุกกลุ่มองค์กรวิชาชีพต่างๆ แสดงเจตนารมณ์ที่แท้จริงของตนเองเกี่ยวกับร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ให้บรรดา ส.ส. ส.ว. และพรรคการเมือง ซึ่งเป็นตัวแทนทางการเมืองของท่านได้อย่างเปิดเผย อีกทั้ง ตรวจสอบการลงมติของ ส.ส.ของท่านอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจว่า ส.ส. ส.ว. ลงมติผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ ตรงตามเจตนารมณ์ของระชาชนอย่างแท้จริง

               5.ขอคัดค้านการใช้กฎหมายความมั่งคง ใช้อำนาจรัฐและอิทธิพลทางการเมืองจำกัดสิทธิในการแสดงความคิดเห็นคัดค้านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของประชาชนและขอต่อต้านการใช้ความรุนแรง ในการเข้าควบคุม สลายมวลชนที่ชุมนุมคัดค้านร่างกฎหมายนิรโทษกรรม โดยสันติวิธี

                ทั้งนี้ เวลา 16.45 น. กลุ่มผู้ชุนนุมชาวจุฬาฯ ได้เริ่มออกเดินเท้าจากบริเวณด้านหน้าสนามหญ้าหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ 2 รัชกาล ทั้งศิษย์ปัจจุบัน และศิษย์เก่า อาทิ ศิษย์เก่าจุฬาฯ ซึ่งมีผู้มีชื่อเสียงในแวดวงการเมืองหลายคน อาทิ นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ หรือครูหยุย, คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช, พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร, ดร.พิจิตต รัตตกุล, นายเกียรติ สิทธีอมร, นายประสาร มฤคพิทักษ์ ขณะที่ดารานักแสดง อาทิ ญาณี จงวิสุทธ์ และซูโม่โค้ก ได้เดินถือป้าย เป่านกหวีด พร้อมตะโกนว่า "ไม่เอาคนโกง" นอกจากนั้น จะรณรงค์ให้คนไทยทั้งประเทศ และชาวจุฬาฯ ช่วยเขียนจดหมาย และไปรษณีย์บัตร ถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์ และสมาชิกวุฒิสภา ให้รู้ว่าเราต้านกฎหมายฉบับนี้แทนประชาชนทุกคน และจะเอาตู้ไปรณียบัตรยักษ์ ให้บริการชาวจุฬาฯ และประชาชน

                ขณะที่ ศิษย์เก่าคณะอักษรศาสตร์ รุ่น 06 และศิษย์เก่าคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า รู้สึกดีใจมากที่วันนี้จุฬาฯออกมาเคลื่อนไหว เพราะจากการติดตามข่าวสารมาตั้งแต่วันแรกที่ประชาชนออกมาเคลื่อนไหว หรือกลุ่มนิสิตนักศึกษากลุ่มอื่นออกมาเคลื่อนไหว ก็ยังไม่เห็นจุฬาฯจะออกมาดำเนินการอะไร ซึ่งเข้าใจว่าคณะผู้บริหารจุฬาฯ คงต้องมีการพิจารณาให้รอบคอบก่อนจะทำอะไร วันนี้ พอทราบว่าจุฬาฯ ออกมาแสดงจุดยืน จึงได้ชวนกันออกมา เพื่อต้านคนโกง เพราะถ้า พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านออกไป จะนำมาสู่ความเสียหายมากมาย โดยเฉพาะความเสียหายต่อสังคม ทำให้เห็นได้ว่าต่อไปคนโกง คนคอรัปชั่นก็ไม่ผิด ซึ่งขัดต่อคุณธรรมจริยธรรม
 
 
"อาจารย์จุฬาฯ"ยันชุมนุมไม่เกี่ยวการเมืองแต่ทำเพื่อความถูกต้อง
 
                ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ ในฐานะอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การออกมาร่วมชุมนุมของชาวจุฬาฯ ครั้งนี้ไม่ได้มาแสดงจุดยืนเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมือง ไม่ใช่เป็นการเชียร์พรรคไหน แต่เป็นเรื่องความถูกผิด เป็นเรื่องของจริยธรรมคุณธรรม เนื่องจากกฎหมายฉบับนี้ถือเป็นกฎหมายที่อัปยศที่สุด เพราะแก้กระทั่งความผิด
                "ดังนั้นชาวจุฬาฯ จึงมีจิตใจและความคิดร่วมกัน ในการแสดงจุดยืนว่าไม่เห็นด้วย กับสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ผิดหลักการและหลักจริยธรรม ดังนั้นเรามาคัดค้าน ในสิ่งที่ไม่ถูกต้องทั้งในวันนี้และในอนาคต" ศ.ดร.จรัส  กล่าว
 
 


รวมพลจุฬาฯกว่า5,000คว่ำนิรโทษ


รวมพลจุฬาฯกว่า5,000คว่ำนิรโทษ


รวมพลจุฬาฯกว่า5,000คว่ำนิรโทษ


รวมพลจุฬาฯกว่า5,000คว่ำนิรโทษ


รวมพลจุฬาฯกว่า5,000คว่ำนิรโทษ


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์