ปชช.กว่า66%อายที่เห็นบ้านเมืองมีแต่ความวุ่นวาย

ปชช.กว่า66%อายที่เห็นบ้านเมืองมีแต่ความวุ่นวาย


ปชช.กว่า66%อายที่เห็นบ้านเมืองมีแต่ความวุ่นวาย

"เอแบคโพลล์"เผยความเห็นปชช.กว่า 66 % อายที่เห็นบ้านเมืองมีแต่ความวุ่นวาย ระบุความขัดแย้งจะหมด หากนักการเมืองลดทิฐิ หันหน้ามาคุยกัน



วันที่ 13 ต.ค.56 สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่องการทำงานของรัฐบาล บทบาทของฝ่ายค้าน และการปฏิรูปพฤติกรรมของนักการเมือง กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ในกรุงเทพมหานครและจังหวัดหัวเมืองใหญ่

นางสาวปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง การทำงานของรัฐบาล บทบาทของฝ่ายค้าน และการปฏิรูปพฤติกรรมของนักการเมือง กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้ที่พักอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครและจังหวัดหัวเมืองใหญ่ของประเทศ ได้แก่ เชียงราย นครราชสีมา ชลบุรี และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 1,784 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 7 - 12 ตุลาคม 2556 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกเขต/อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน โดยมีช่วงความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 พบว่า

เมื่อสอบถามกลุ่มตัวอย่างถึงความภาคภูมิใจเมื่อพูดถึงการเมืองไทยในขณะนี้ พบว่า สองในสามหรือร้อยละ 66.4 รู้สึกอาย เพราะบ้านเมืองเต็มไปด้วยความวุ่นวาย ขัดแย้งกันเอง ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น ความเดือดร้อนของประชาชน และยังไม่มีแนวโน้มที่จะลดลง ในขณะที่ร้อยละ 33.6 รู้สึกภาคภูมิใจ เพราะยังดีที่ประเทศยังคงปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย สำหรับความคิดเห็นต่อการเคลื่อนไหวของกลุ่มมวลชนหรือม็อบในขณะนี้ พบว่า ร้อยละ 80.3 คิดว่ามีการเมืองอยู่เบื้องหลัง และร้อยละ 19.7 คิดว่าไม่มี

อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 79.7 ยังมีความหวังต่อการกอบกู้ความเชื่อมั่นศรัทธาของคนไทยต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย หากนักการเมืองยอมลดทิฐิและหันหน้าเข้าหากัน ในขณะที่ร้อยละ 20.3 คิดว่าสายเกินไปแล้ว ขอให้คนไทยทำใจยอมรับสภาพ และปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติของสังคมประชาธิปไตย

ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อสอบถามกลุ่มตัวอย่างถึงการดำเนินงานของรัฐบาล เพื่อเร่งสร้างความเชื่อมั่นกลับคืนมาในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ พบว่า ร้อยละ 71.6 คิดว่ารัฐบาลควรเร่งเข้าถึงประชาชนทุกชนชั้น เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนอย่างทั่วถึง และทำงานอย่างโปร่งใสตรวจสอบได้ เพื่อเร่งสร้างความเชื่อมั่นกลับคืนมาในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ ในขณะที่ร้อยละ 28.4 คิดว่าควรเร่งสร้างความสัมพันธ์ ที่ดีระหว่างประเทศ และการไปพบปะผู้นำประเทศอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามถึงบทบาทของพรรคฝ่ายค้าน พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 79.2 อยากให้ร่วมกันหาแนวคิดเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ยึดหลักการทำงานด้วยสันติวิธี ไม่ใช้อารมณ์และความรุนแรง และค้านด้วยเหตุและผล และร้อยละ 20.8 ระบุควรค้านการทำงานของรัฐบาลในทุกด้านที่ไม่เห็นด้วย

สิ่งที่น่าสนใจคือ ความคิดเห็นต่อการปฏิรูปนักการเมืองไทยทุกฝ่ายระหว่างการปฏิรูปการเมืองไทยกับการปฏิรูปพฤติกรรมของนักการเมือง ควรเร่งทำอะไรก่อน พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 84.7 คิดว่าควรเร่งปฏิรูปพฤติกรรมและสร้างจิตสำนึกเพื่อส่วนร่วมในกลุ่มนักการเมืองทุกฝ่ายก่อน เพราะหากประชาชนขาดความเชื่อมั่นในตัวบุคคล การปฏิรูปในระดับประเทศคงเป็นไปได้ยาก ดังนั้นต้องเริ่มจากฐานให้แข็งแรงก่อน ในขณะที่ร้อยละ 15.3 คิดว่าควรเร่งปฏิรูปการเมืองก่อน เพราะจะทำให้ทุกฝ่ายเห็นด้วยและร่วมมือกันในที่สุด

นางสาวปุณฑรีก์ กล่าวว่า จากการสัมภาษณ์เชิงลึกเพิ่มเติม พบว่า กลุ่มตัวอย่างได้แสดงความคิดเห็นว่า ประเทศไทยเป็นประเทศสยามเมืองยิ้ม และเมืองศิวิไลที่เป็นที่ยกย่องเรื่องวัฒนธรรมที่ดีงาม ความรัก ความสามัคคี และความสงบสุข กำลังโดนทำลายด้วยน้ำมือของคนไทยด้วยกันเอง ด้วยสิ่งยั่วยุทั้งอำนาจ ผลประโยชน์ และทิฐิการมุ่งเอาชนะ เพื่อศักดิ์ศรีของตนเองและพวกพ้อง ซึ่งผลกระทบไปตกอยู่กับประชาชนชาวไทยที่ไร้เดียงสา ต้องมานั่งรับกรรมจากพฤติกรรมซ้ำซากของนักการเมืองทุกฝ่าย ในขณะที่บ้านเมืองเต็มไปด้วยความเดือดร้อนรอบด้าน ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และภัยพิบัติทางธรรมชาติ สิ่งที่น่าพิจารณาสำหรับรัฐบาลคือ ต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนกลับคืนมา แสดงให้เห็นถึงความจริงใจ ความเป็นห่วงและการเร่งช่วยเหลือประชาชน เปิดช่องทางการสื่อสารสองทางที่สามารถเข้าถึงประชาชนได้อย่างทั่วถึง และตอบสนองอย่างรวดเร็วในกรณีเร่งด่วน แสดงบทบาทความเป็นผู้นำอย่างเต็มที่ พร้อมทั้งทำงานอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ ลดการโฆษณาชวนเชื่อ และไม่ใช้อำนาจพร่ำเพรื่อ

นางสาวปุณฑรีก์ กล่าวต่อว่า ยุทธศาสตร์การปฏิรูปประเทศและการเมืองควรต้องมุ่งเน้นมาที่ พฤติกรรมและภาพลักษณ์ของนักการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะประชาชนส่วนใหญ่ต้องการเห็นแต่ยังไม่ได้เห็นถึงการทำ “หน้าที่” ของนักการเมืองในการรักษาผลประโยชน์ของชาติและลดความเดือดร้อนของประชาชนมากเท่าใดนัก แต่กลับเห็นพฤติกรรมที่เสื่อมเสียไม่เหมาะสม ไม่เป็นแบบอย่างที่ดีต่อเด็กและเยาวชน

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 50.1 เป็นชาย ร้อยละ 49.9 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 7.0 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 16.2 อายุระหว่าง 20-29 ปี ร้อยละ 18.6 อายุระหว่าง 30-39 ปี ร้อยละ 18.0 อายุระหว่าง 40-49 ปี และ ร้อยละ 40.2 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 71.2 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ในขณะที่ ร้อยละ 28.8 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 29.5 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 9.9 ระบุเป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 8.2 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 33.8 รับจ้างใช้แรงงานทั่วไป/เกษตรกร ร้อยละ 8.6 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 7.0 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 3.0 ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์