สั่งกบอ.-สบอช.ประเมินความเสี่ยงภัยพิบัติ

 สั่งกบอ.-สบอช.ประเมินความเสี่ยงภัยพิบัติ


ที่ทำเนียบรัฐบาล ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในวันนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้รับทราบแนวทางการให้ข่าวสาธารณะและการเตือนภัยแห่งชาติอย่างเป็นบูรณาการ โดยในที่ประชุมนายปลอดประสพ  สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ยังได้ชี้แจงถึงการเตือนภัย

โดยแบ่งออกเป็นการเตือนภัยใน ภาวะปกติ โดยจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ(สบอช.) กรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งข้อมูลข่าวสาร ข้อเท็จจริงที่อาจมีผลไปสู่ภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน ห้ามแสดงข้อมูลที่เป็นความคิดเห็น เว้นแต่เป็นเจ้าหน้าที่ที่มีความรับผิดชอบหรือนักวิชาการ ส่วนการเฝ้าระวัง เมื่อมีเหตุที่อาจจะนำไปสู่ภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน ด้านน้ำจะให้สบอช. เป็นผู้แจ้งข่าวแก่ประชาชนเพื่อเฝ้าระวังภัย

ส่วนหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องจะต้องส่งข้อมูลดิบให้กับ สบอช. เพื่อเป็นการเชื่อมข้อมูลสารสนเทศและแลกเปลี่ยนข้อมูลกันและกัน และให้องค์กรส่วนปกครองท้องถิ่นเป็นผู้นำข้อมูลหรือข้อเท็จจริงเผยแพร่แก่ ประชาชน และการแจ้งเตือนภัย เมื่อเกิดเหตุหรือคาดว่าจะเกิดเหตุให้คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) และ สบอช.เป็น command center เพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงและประเมินสถานการณ์ และหากคาดว่าจะมีความรุนแรงจะแจ้งไปยังศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เพื่อแจ้งเตือนประชาชนผ่านช่องทางต่างๆ ต่อไป

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ในส่วนของภาวะวิกฤตนั้น แบ่งเป็น 4 ระดับ คือ

1.อุทกภัยความรุนแรงขนาดเล็ก
ได้แก่ อุทกภัยที่ยังอยู่ในขีดความสามารถของอำเภอหรือการปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถ บริหารจัดการดูแลได้

2.อุทกภัยความรุนแรงขนาดกลาง
ให้ศูนย์อำนวยการส่วนหน้าของจังหวัดเป็นผู้ควบคุมสถานการณ์และการบริหาร จัดการพิบัติภัย

3.สาธารณะภัยขนาดใหญ่ จะให้ศูนย์ป้องกันบรรเทาสาธารณะภัยกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ดูแล และ

4.สาธารณะภัยขนาดร้ายแรงอย่างยิ่ง
ให้อยู่ในความดูแลของนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์