“เติ้ง”หน้าแหก“มาร์ค”ปัดร่วมปฏิรูปลั่นต้องหยุดนิรโทษ-แก้รธน.

“บรรหาร” หน้าแหก “มาร์ค” ปัดร่วมวงปฏิรูป ยื่นข้อเสนอถอน “นิรโทษฯ-แก้รธน.” บิ๊กเติ้งไม่ยอมรามือเล็งมาชวนอีกหน

เมื่อเวลา 15.35 น. วันที่ 16 ก.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานผลการหารือระหว่างคณะของนายบรรหาร ศิลปอาชา ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนากับคณะของนายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ใช้เวลาหารือกว่า 1 ชั่วโมง  โดยนายบรรหาร ให้สัมภาษณ์ว่า  มาเชิญนายอภิสิทธิ์เข้าร่วมสภาปฏิรูปการเมือง ซึ่งนายอภิสิทธิ์ ไม่ปฏิเสธหรือตอบรับ โดยในอนาคตคงได้มาเชิญอีกครั้งหนึ่ง

ทั้งนี้นายอภิสิทธิ์ ให้เหตุผลต่าง ๆ อาทิ อยากให้รัฐบาลหยุดกฎหมายนิรโทษกรรมและการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ก่อน
 
ถ้าหยุดได้ก็ให้มาพูดคุยกันเรื่องปฏิรูปการเมือง ตนจะไม่นำข้อนี้เสนอน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีโดยตรง แต่จะนำไปมอบให้คณะทำงานของรัฐบาลเพื่อรวบรวมข้อคิดเห็น นอกจากนี้นายอภิสิทธิ์ ยังให้ข้อคิดเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม มาตรา 3 เกี่ยวกับผู้ได้รับประโยชน์จากกฎหมายดังกล่าว หลายประการ เพื่อให้แก้ไขให้ถูกต้องชัดเจนมากขึ้น จึงรับไปทำความเข้าใจกับเสียงข้างมากในสภาว่าจะแก้ไขอย่างไร แต่คงลำบากที่จะให้รัฐบาลถอนกฎหมายนิรโทษกรรมออกจากสภาฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายบรรหารพยายามหลีกเลี่ยงไม่ตอบคำถามสื่อมวลชนถึงต้นเหตุปัญหาและศูนย์กลางความขัดแย้งที่มาจากพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยระบุเพียงว่าไม่ทราบ พร้อมแสดงท่าทีมีอารมณ์เมื่อผู้สื่อข่าวพยายามจี้ถามถึงต้นเหตุของปัญหา


“เติ้ง”หน้าแหก“มาร์ค”ปัดร่วมปฏิรูปลั่นต้องหยุดนิรโทษ-แก้รธน.

โดยเมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า มองว่าพ.ต.ท.ทักษิณ ทำผิดกฎหมายหรือไม่ นายบรรหาร ตอบเพียงว่า พ.ต.ท.ทักษิณบอกแล้วว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม แล้วจะให้ว่าอย่างไร ขนาดกรรมการบริหารพรรคชาติไทยยังถูกเว้นวรรคทางการเมืองถึง 5 ปี

ทั้งนี้ นายบรรหารให้สัมภาษณ์ต่อว่า กระบวนการเดินสายพบบุคคลต่างๆ เพื่อเชิญเข้าร่วมเวทีปฏิรูปการเมืองคืบหน้าประมาณ 60%

ส่วนที่เหลืออยู่คือการพบบุคคลต่างๆ อาทิ นายคณิต ณ นคร อดีตประธานคอป. และน.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ที่ปรึกษาคณะเสนาธิการร่วม และจะเข้าพบนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ในวันที่ 19ก.ย.นี้ โดยไม่รู้สึกกังวลว่าจะได้คำตอบเดิม เพราะนายชวนไม่ใช่เสือและเราก็เป็นเพื่อนกัน ส่วนที่กลุ่มสภาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย ตั้งสภาปฏิรูปการเมืองนั้น เป็นเรื่องที่ดี แต่ตนคงไม่ไปประสานพูดคุย ปล่อยให้เป็นเรื่องของคณะทำงาน

ด้านนายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนขอบคุณในไมตรี และบอกกับนายบรรหาร ชัดเจนว่าจะไม่เข้าร่วมสภาปฏิรูปการเมือง
 
เพราะเห็นว่ากลไกดังกล่าวยังไม่ตอบโจทย์ประเทศ ด้วยเหตุผลหลายเรื่อง โดยได้จัดทำเป็นเอกสารมอบให้นายบรรหาร ถึงเหตุผลต่าง ๆ ด้วย แม้นายบรรหารจะรับอาสาไปสื่อสารให้ก็ตาม แต่จากที่นายกฯ ตีกรอบแล้วเรื่องนี้ต้องปล่อยให้สภาฯ หรือการที่พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าว่าปลายทางคือการรื้อรัฐธรรมนูญ ซึ่งรู้อยู่แล้วว่าเป็นความขัดแย้ง จึงเป็นเรื่องยาก ที่จะเข้าร่วมด้วย แต่ถ้ากระบวนการนี้ไปสู่สิ่งดีๆ เช่นเสนอการปฏิรูปเป็นประโยชน์ต่อสังคม ก็ไม่ต้องกังวลพรรคประชาธิปัตย์พร้อมสนับสนุน และหาก 1-2 วันนี้ รัฐบาลหยุดเรื่องนิรโทษกรรม แก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ก่อน ก็เป็นไปได้ที่พรรคประชาธิปัตย์จะเข้าร่วมด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เอกสารที่นายอภิสิทธิ์ มอบให้นายบรรหาร มีชื่อว่า “สภาปฏิรูปของรัฐบาลไม่ตอบโจทย์ประเทศ”

โดยมีข้อความตอนหนึ่งระบุว่า การตอบโจทย์ปฏิรูปต้องอาศัยพลังจากสามฝ่าย คือภาคประชาชน ภาควิชาการ และ ภาคการเมือง ซึ่งภาคประชาชน และภาควิชาการมีความพร้อมแล้ว ปัญหาจึงอยู่ที่ภาคการเมืองว่ามีความจริงใจหรือไม่ ถ้ารัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ จะปฏิรูปเพื่อเพิ่มความพร้อมให้กับประเทศ ไปต่อสู้ในเวทีโลก  เราก็พร้อมสนับสนุน แต่ถ้ารัฐบาลอยากรวบอำนาจ อยากสร้างรัฐตำรวจ อยากครอบงำสื่อเพื่อประโยชน์ทางการเมือง เปลี่ยนรัฐมนตรีเป็นว่าเล่น มีผลประโยชน์ร่วมกับปตท. อยากให้ประชาชนพึ่งประชานิยม และไม่เปลี่ยนวิธีคิดและพฤติกรรม สภาปฏิรูปของรัฐบาลจึงไม่ใช่การตอบโจทย์การปฏิรูป และไม่ตอบโจทย์ปรองดอง

ซึ่งปมความขัดแย้งที่เหลืออยู่มีสองเรื่องหลัก คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการออกกฎหมายล้างผิด

ถ้ารัฐบาลนี้ไม่ทำสองเรื่องนี้ และให้หลักประกันว่าทุกคนเคลื่อนไหว ใช้สิทธิ์ทางการเมืองกันได้อย่างเสรี ไม่มีการไปคุกคามซึ่งกันและกัน หยุดแบ่งแยกประชาชน สังคมก็จะปรองดองได้ การปฏิรูปและการปรองดอง ไม่อาจใช้เสียงข้างมาก เสียงข้างน้อยได้ แต่เกิดขึ้นจากการแสวงหาจุดร่วม บนหลักการที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ ปฏิบัติได้ แล้วเดินไปด้วยกัน

“ผมจึงไม่อาจเข้าร่วมกับสภาปฏิรูปของรัฐบาล แต่ผมเชื่อมั่นว่า การปฏิรูปและการปรองดองจะต้องเกิดขึ้นในประเทศไทยบนหลักการของความถูกต้อง ขอให้ทุกฝ่ายต่างมีพื้นที่ทางการเมืองในการแสดงความคิด ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการนโยบายสาธารณะ ทบทวนวัฒนธรรมทางการเมือง พฤติกรรมทางการเมืองในสังคมไทย ซึ่งจะต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง เพื่อสนับสนุนให้การเมืองเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ประชาชนมีสิทธิ เสรีภาพ และนำไปสู่กระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะที่ยกระดับความเป็นอยู่ คุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งในด้านเศรษฐกิจ และสังคมต่อไป” เอกสารระบุ


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์