ไทยได้ลูกช้างผสมเทียมเชือกแรกของเอเชีย

ลูกช้างน้อยเกิดใหม่ในวาระพิเศษ เป็นลูกช้างตัวแรกที่เกิดจากการผสมเทียม โดยทีมสัตวแพทย์คนไทย และเกิดในปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา ศูนย์คชบาลอยู่ระหว่างขอพระราชทานชื่อ


ลูกช้างน้อยที่เกิดจากการผสมเทียมเชือกนี้ เกิดเมื่อเวลา 21.30 น. วันที่ 7 มีนาคม 2550
 
ใกล้กับวันช้างไทย 13 มีนาคม 2550 เบื้องต้นชื่อที่ใช้เรียกช้างน้อยเชือกนี้ คือ "เอไอ" ซึ่งขณะนี้ ศูนย์คชบาล ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จ.ลำปาง อยู่ระหว่างการขอพระราชทานชื่ออย่างเป็นทางการ น.สพ.สิทธิเดช มหาสาวังกุล หัวหน้าฝ่ายโรงพยาบาลช้าง โครงการอนุรักษ์ช้างไทย กล่าวว่า การผสมเทียมช้างไทยครั้งนี้ เป็นความสำเร็จครั้งแรกของเอเชีย แม่ของช้างน้อย ชื่อ "พังขอด" ปัจจุบันอายุ 25 ปี ได้รับการผสมเทียมเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2548 โดยการใช้น้ำเชื้อสดจากช้างพ่อพันธุ์ชื่อ "พลายซาปาตี" ปัจจุบันอายุ 14 ปี


ภายหลังการผสม พังขอดได้เข้ารับการตรวจการตั้งท้องด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Ultrasonography) ในเดือนที่สามหลังการผสม

ร่วมกับการวัดระดับฮอร์โมนการตั้งท้องเป็นประจำทุกสัปดาห์ เพื่อวางแผนการดูแลและทำนายช่วงเวลาคลอดจากระดับฮอร์โมนที่ลดต่ำลง โดยทำนายว่า พังขอดจะตกลูกประมาณเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2550 ในระยะท้ายของการตั้งท้อง ทางศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยได้เตรียมช้างแม่รับชื่อ "พังทานตะวัน" คอยช่วยเหลือและดูแลพังขอดในระหว่างการตกลูก


กระทั่งวันที่ 7 มีนาคม 2550 เวลา 21.30 น. พังขอดได้ตกลูกออกมา

รวมระยะเวลาการตั้งท้อง 666 วัน ลูกช้างเป็นเพศผู้ มีสุขภาพแข็งแรงมาก น้ำหนักตัวโดยประมาณ 100 กิโลกรัม ความยาวลำตัว 120 เซนติเมตร ความสูงถึงไหล่ 90 เซนติเมตร ความยาวงวง 45 เซนติเมตร รอบอก 128 เซนติเมตร เส้นรอบวงเท้าหน้าขวา 40 เซนติเมตร เส้นรอบวงเท้าหน้าซ้าย 47 เซนติเมตร ถือว่าตัวโตกว่าลูกช้างแรกเกิดทั่วไป ซึ่งอาจเป็นเพราะพ่อช้างเชือกนี้เป็นพ่อพันธุ์ลูกครึ่งระหว่างช้างไทยกับช้างอินเดีย ส่งผลดีต่อลูกที่ออกมา ประกอบกับการเอาใจใส่ดูแลเรื่องการให้น้ำให้อาหารอย่างเต็มที่ เมื่อลูกออกมาจึงมีขนาดใหญ่และแข็งแรง
 

น.สพ.สิทธิเดช กล่าวว่า แต่ก็มีเรื่องน่าเศร้าใจเกิดขึ้น

เมื่อพังขอด ช้างแม่ที่แท้จริงไม่สามารถเลี้ยงลูกได้ โดยพังขอดจะทำร้ายลูกเมื่อลูกนอน ซึ่งจากการตรวจสอบประวัติของ พังขอดที่ผ่านมา เคยตั้งท้องมาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อตกลูกออกมา พังขอดก็ทำร้ายลูกจนตาย สำหรับสาเหตุที่ทำร้ายลูกนั้น ตามหลักพฤติกรรมของช้างโดยทั่วไปในธรรมชาติ ช้างเมื่ออยู่รวมกันเป็นสังคมเพศเมีย เวลาที่ช้างตั้งท้องใกล้ตกลูกตัวแรก จะมีช้างเพศเมียตัวอื่นๆ ที่เคยตกลูกมาแล้ว คอยดูแลอยู่ใกล้ชิด เรียกว่า "แม่รับ" ช่วงใกล้คลอดแม่ช้างจะมีความเจ็บปวดมาก และเมื่อลูกออกมา แม่ช้างจะเข้าใจว่า ลูกคือสาเหตุที่ทำให้เจ็บ จึงทำร้ายลูก
 

หากมีแม่รับอยู่ แม่รับจะคอยกันแม่ช้างออก จนกว่าแม่ช้างจะสงบสติอารมณ์ก่อน แล้วจึงค่อยปล่อยให้ลูกเข้าไปดูดนมแม่ได้

ส่วนพังขอดเมื่อตกลูกตัวแรกนั้น ไม่มีแม่รับอยู่ด้วย จึงทำร้ายลูกจนตาย ในการตั้งท้องครั้งที่สองนี้ เจ้าหน้าที่จึงได้เตรียมแม่รับชื่อ "พังทานตะวัน" ให้อยู่ใกล้ๆ "พังขอด" ตลอดเวลา ควาญช้างและสัตวแพทย์จึงสามารถแยกลูกช้างออกมาดูแลก่อน จนกว่าพังขอดจะสงบนิ่งลง กระทั่งเช้าวันที่ 8 มีนาคม ควาญช้างและสัตวแพทย์จึงนำลูกเข้าไปหา "พังขอด" และดูดนมน้ำเหลืองได้อย่างเต็มที่ ซึ่งนมน้ำเหลืองนั้น จะมีภูมิคุ้มกันโรคต่างๆ ที่แม่จะถ่ายทอดสู่ลูกช้าง ซึ่งลูกช้างต้องได้รับจากแม่ภายใน 48 ชั่วโมง
 

"พังขอดแสดงความเป็นแม่ที่ดี ยอมให้ลูกช้างดูดนมได้ แต่เมื่อลูกช้างนอนลง พังขอดก็จะแสดงพฤติการณ์ที่แปลกๆ ออกมาอีก คือ จะทำร้ายลูกช้างหลายครั้ง คาดว่าเกิดจากความฝังใจตอนตกลูกเชือกแรก จนเจ้าหน้าที่ลงมติว่า ควรแยกลูกช้างออก แล้วให้แม่ช้างอื่นมาเลี้ยงแทน เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดกับลูกช้าง และถือว่าเป็นโชคดีของลูกช้างน้อย ที่มีแม่ช้าง "พังพุ่มพวง" ที่เพิ่งแยกลูกออกไปฝึกยังมีน้ำนมอยู่ เป็นแม่นมแทน" น.สพ.สิทธิเดช กล่าว


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์