ไทยป่วยวัณโรคติดอันดับ 18 ของโลก

วันนี้ (19 มี.ค.) ที่กรมควบคุมโรค  นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข  แถลงว่า

เนื่องในวันวัณโรคโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 24 มี.ค. ของทุกปี ในปีนี้องค์การอนามัยโลก ได้ใช้คำขวัญในการรณรงค์ว่า “รวมพลัง หยุดยั้ง วัณโรค” เพื่อให้ประเทศสมาชิกช่วยกันหยุดการแพร่ระบาดของวัณโรค สำหรับประเทศไทยประสบปัญหาวัณโรคกลับมาแพร่ระบาดอีกครั้ง สาเหตุเกิดจากการแพร่ระบาดของเชื้อเอดส์ และแรงงานต่างชาติ ที่เข้ามาทำงานในไทยอย่างผิดกฎหมาย ทำให้จำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น คาดว่าจะมีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ปีละ 91,000 ราย เสียชีวิตปีละ 5,000-7,000 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยดื้อยา 1,500 ราย


นพ.สมชัย ภิญโญพรพาณิชย์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า

วัณโรคเป็นโรคติดต่อเรื้อรังเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เป็นได้ทุกส่วนของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นกระดูก หรือในผู้หญิงเจอได้ในโพรงรังไข่ แต่ที่เป็นปัญหา คือวัณโรคปอด ปัจจุบันการฉีดวัคซีนบีซีจีในเด็กจะช่วยป้องกันการเกิดวัณโรคเยื้อหุ้มสมอง ซึ่งจะทำให้เด็กพิการและเสียชีวิตตั้งแต่เด็ก พ่อแม่จึงควรพาบุตรหลานไปฉีดวัคซีนป้องกัน ส่วนผู้ใหญ่ก็ควรเอกซ์เรย์ปอดอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง


ด้านศ.นพ.ประพาฬ ยงใจยุทธ นายกสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย กล่าวว่า

หากวินิจฉัยผู้ป่วยวัณโรคได้เร็ว การให้ยาอย่างต่อเนื่องติดต่อกัน 6 เดือน จะทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสหายถึง 90-95 % แต่ที่ผ่านมามีผู้ป่วยวัณโรคกินยาเพียงแค่ 1-2 เดือน เมื่ออาการดีขึ้นได้หยุดยาทำให้ไม่หายขาด อย่างไรก็ตามในปัจจุบันพบว่า มีคนที่เป็นวัณโรค 30-40% ที่มีเชื้ออยู่ในร่างกาย แต่ไม่แสดงอาการ ดังนั้นหากมีอาการไอเรื้อรัง มีไข้ตอนบ่าย น้ำหนักลดเบื่ออาหาร ร่างกายผอมอ่อนเพลีย เกิน 2 สัปดาห์ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย


ศ.นพ.ประพาฬ กล่าวต่อว่า

วัณโรคถือเป็นโรคของคนจน โรคนี้พบมากในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน อาศัยในย่านชุมชนแออัด แต่ก็สามารถพบได้ในทุกอาชีพ เพราะแม้แต่แพทย์และพยาบาลก็ติดได้ คนจนคนรวยก็ติดได้ ซึ่งขณะนี้ทางสมาคมได้ทำการวิจัยการติดในกลุ่มเสี่ยงต่างๆ ทั้ง คนเลี้ยงเด็ก กลุ่มผู้ขับรถแท็กซี่ คนขายอาหาร ตัวอย่างละ 1,000 คน ระยะเวลาการศึกษา 5 ปี โดยปีนี้เป็นปีที่ 3 แล้วที่เก็บตัวอย่างเสมหะจากคนขับแท็กซี่ เพื่อดูว่าทั้ง 2 อาชีพนั้นมีผู้ติดเชื้อวัณโรคมากน้อยอย่างไร เนื่องจากที่ผ่านมาได้พบผู้ติดเชื้อวัณโรคที่มีอาชีพขับแท็กซี่ 2 ราย ดังนั้นจึงอยากดูภาพรวมทั้งหมด เพราะอาชีพแท็กซี่เป็นการทำงานในพื้นที่จำกัด ที่ง่ายต่อการแพร่และได้รับเชื้อ ขณะที่คนขายอาหารนั้น ก็มีโอกาสแพร่เชื้อได้เชื้อได้เช่นกัน กรณีมีการไอจามระหว่างที่ประกอบอาหาร


นพ.ยุทธิชัย เกษตรเจริญ นพ.9 สำนักวัณโรค กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า

สำหรับสถิติผู้ป่วยวัณโรคปัจจุบันประเทศจัดอยู่ในอันดับที่ 18 จาก 22 ประเทศ ที่ยังมีปัญหาวัณโลกรุนแรง ซึ่งหากมีการรณรงค์อย่างต่อเนื่อง คาดว่าอันดับจะลดลงไปเรื่อยๆ จนไม่อยู่ในอันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อวัณโรคสูงสุด สำหรับประมาณการผู้ป่วยวัณโรคดื้อยา ที่มีจำนวน 1,500 รายนั้น คาดว่า มีผู้ป่วยที่เป็นเชื้อดื้อยารุนแรงประมาณ 5.5% หรือ 75 ราย แต่ที่สามารถติดตามจนพบตัวผู้ป่วยนั้น มีเพียง 9 ราย โดย 4 รายเสียชีวิตไปแล้ว อีก 4 รายอยู่ระหว่างการรักษา และ 1 รายสามารถรักษาหายขาด แสดงให้เห็นว่า แม้ว่าจะเป็นเชื้อดื้อยาที่รุนแรงผู้ป่วยก็มีโอกาสรักษาหายได้


ขณะที่ นพ.วินัย สวัสดิวร รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ( สปสช.) กล่าวว่า

สปสช.ได้ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข และ กทม. ในการบริหารจัดการโรคอย่างครบวงจร เพื่อรักษาผู้ป่วยระยะแพร่เชื้อ โดยปีงบประมาณ 2550 ได้สนับสนุนงบประมาณ 295 ล้านบาท ปี 2551 สนับสนุนงบ 230 ล้านบาท และในปี 2552 ได้ตั้งงบประมาณไว้ 243 ล้านบาท หากผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด มีพี่เลี้ยงดูแลต่อเนื่องทุกวันอีก 6 เดือนจะหายป่วย ซึ่งเฉลี่ยจะเสียค่าใช้จ่ายเพียง 4,000-50,000 บาท ต่อการรักษา 1 ครั้ง


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์