ไชยยศ แฉมหาลัยอีสานขาย วุฒิปลอม

พยานชัด "มหาวิทยาลัยอีสาน" เปิดซื้อขายวุฒิปลอม แฉรายละ 4.5 หมื่นถึง 5.5 หมื่น เล็งฟันอาจารย์ที่ขาย-เจ้าหน้าที่ทะเบียน-อธิการบดี เข้าข่ายผิดอาญา

วันนี้ (26 เม.ย.) ที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) นายไชยยศ จิรเมธากร รมช.ศึกษาธิการ นายองค์กร อมรสิรินันท์ เลขาธิการคุรุสภา และดร.สุเมธ   แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการอุดมศึกษา (กกอ.) ร่วมกันแถลงข่าวกรณีซื้อขายประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู หรือ ป.บัณฑิต วิชาชีพครู 

โดย นายไชยยศ กล่าวว่า  จากรายงานของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงที่ สกอ.แต่งตั้ง พบว่ามหาวิทยาลัยอีสาน จ.ขอนแก่น

มีการซื้อขายวุฒิการศึกษาจริง โดยมีพยานบุคคลยืนยัน 4 คน ที่มีการจ่ายเงินจริง ให้แก่อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัย และนักศึกษาบางรายยังมีการโอนเงินเข้าบัญชีเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัย ส่วนเงินที่จ่าย  3 คน จ่าย 45,000  บาทต่อคน และอีก 1 คน จ่าย  55,000 บาท เมื่อมีการจ่ายเงินแล้วผู้ซื้อ 4 คนก็มีรายชื่อสำเร็จการศึกษา ป.บัณฑิตที่มหาวิทยาลัยอีสานส่งให้กับสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา กรณีดังกล่าวเป็นการกระทำผิดฐานปลอมแปลงเอกสารสิทธิ และใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 265 และมาตรา 268   ขณะที่อาจารย์ที่ขาย เจ้าหน้าที่ทะเบียน และอธิการบดี เข้าข่ายกระทำความผิดอาญา  ดังนั้นเลขาธิการคุรุสภาในฐานะผู้เสียหายจะแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนต่อไป 

นายไชยยศ กล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546 คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง

รายงานว่า เรื่องการเงิน มหาวิทยาลัยได้จัดการเรื่องการรับเงินค่าลงทะเบียนในการจัดการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา แยกจากนักศึกษาทั่วไป  รวมทั้งการลงทะเบียน เรียนของนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาแยกจากทะเบียนของสำนักทะเบียนและวัดผล  เมื่อเข้าไปดูรายละเอียดพบว่าข้อมูลการลงทะเบียนยังมีความสับสนมาก  เช่น มีนักศึกษา 2-3 คนที่มีรหัสประจำตัวซ้ำกัน บางคนมีเกรดในทะเบียนของบัณฑิต แต่ในห้องเรียนไม่มีรายชื่อ หรือเกรดในทะเบียบกับเกรดที่อาจารย์ให้ไม่ตรงกัน  


ซึ่งจากการตรวจสอบ 3 รายวิชาพบว่ามีความผิดพลาดในลักษณะดังกล่าวถึง 63 คน  

ส่วนเรื่องการบริหารหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู ที่มหาวิทยาลัยแต่งตั้ง 6 คน  แต่ทำหน้าที่สอนจริงมีเพียง 1 คนเท่านั้น  ซึ่งประเด็นทั้งหมดนี้ถือว่ามหาวิทยาลัยอีสาน  ฝ่าฝืนพ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชนพ.ศ.2546 มาตรา43(6) ที่บัญญัติว่าอธิการบดีมีหน้าที่จัดทำทะเบียนนักศึกษาตามที่คณะกรรมการการอุดมศึกษากำหนด และมาตรา 62 วรรคสอง บัญญัติว่ารายได้ของสถาบันอุดมศึกษาจะต้องนำไปส่งกองทุนทั่วไป  และยังไม่ปฎิบัติตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องแนวทางการบริหารเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับอุดมศึกษาพ.ศ. 2548  ซึ่งกำหนดให้มีอาจารย์ประจำหลักสูตรไม่น้อยกว่า 3 คน 

"จากปัญหาดังกล่าวอาจทำให้เกิดความเสียหายแก่มหาวิทยาลัยอีสานได้ ดังนั้นรัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) มีอำนาจสั่งให้มหาวิทยาลัยอีสานอยู่ในความควบคุมของ สกอ. ตามมาตรา86(2)   โดยในวันที่ 27 เม.ย.. ผมให้มีการประชุม กกอ.นัดพิเศษ   เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการควบคุมการดำเนินงานมหาวิทยาลัยอีสาน และเมื่อมีการแต่งตั้งคณะกรรมการควบคุมฯจะมีผลทำให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยทั้งหมดพ้นจากตำแหน่งทันที   ซึ่งคณะกรรมการควบคุมฯจะมีอำนาจในการบริหารจัดการมหาวิทยาลัยทั้งหมด  

ส่วนระยะเวลาเข้าไปควบคุมยังตอบไม่ได้ว่าจะนานเท่าใด  ต้องให้คณะกรรมการดังกล่าวเข้าไปดูก่อน

และถ้าเข้าไปแล้วสามารถดำเนินการทุกอย่างได้เป็นไปตามมาตรฐานที่ สกอ.กำหนด อาจจะเสนอให้คืนอำนาจให้กับเจ้าของเดิมได้  แต่ถ้าไม่สามารถเยียวยาก็อาจจะต้องมีการถอนใบอนุญาต แต่ต้องเยียวยานักศึกษาที่มีอยู่  อย่างไรก็ตามผมยืนยันว่าการตัดสินใจอยู่บนหลักฐานที่มีอยู่ ไม่มีอคติหรือกลั่นแกล้งใคร พร้อมกันนี้จะส่งข้อมูลทั้งหมดให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อดูว่าจะสามารถดำเนินคดีได้หรือไม่ หรือต้องส่งให้กองปราบปรามดำเนินคดีต่อไป ส่วนการรับนักศึกษาใหม่ เป็นอำนาจของคณะกรรมการควบคุมฯที่จะพิจาณาต่อไป"

ด้าน นายองค์กร กล่าวว่า ขณะนี้มีการเปิดเผยรายชื่อมหาวิทยาลัยออกมาแล้ว ดังนั้นคุรุสภาจะต้องถือว่ารายชื่อนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยส่งมาให้จำนวน 1,349  คน เพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเป็นโมฆะ ซึ่งจะมีผลทำให้นักศึกษาไม่สามารถขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูได้

ดังนั้นนักศึกษากลุ่มนี้ต้องมารายงานตัวที่คุรุสภา เพื่อชี้แจงว่าได้เข้าเรียนและฝึกปฎิบัติการสอนจริงตามที่กำหนดหรือไม่ 

แต่ในช่วงแรกจะให้นักศึกษา 663  คน ที่คุรุสภาออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพไปให้แล้ว มายื่นเรื่องให้ข้อมูลกับคุรุสภา ในวันที่  29 เม.ย.-1พ.ค. เพื่อคุรุสภาจะได้กันไว้เป็นพยาน แต่ถ้าใครไม่มาก็จะถูกแจ้งความดำเนินคดีเช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยในฐานะผู้ร่วมกระทำผิด  ขณะที่ ดร.สุเมธ กล่าวว่า กรณีดังกล่าวจะมีการเปิดศูนย์รับข้อมูลร้องทุกข์ของผู้ที่ได้รับผลกระทบ  3 ศูนย์ ได้แก่ 1.สกอ. ชั้น  6 โทร. 0-2610-5200  เปิดรับเรื่องตั้งแต่ 27 เม.ย. -26 พ.ค.  2. สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา และ 3.อาคารสำนักงานอธิการบดี 2 มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับวิธีการควบคุมสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ตามมาตรา 86 วรรคสองแห่ง พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546 บัญญัติไว้ว่า ให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการการอุดมศึกษาสั่งให้สถาบันเอกชนอยู่ในความควบคุมของ สกอ.ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการควบคุมจำนวนไม่น้อยกว่า 5 คน แต่ไม่เกิน 15 คน และให้ประกาศคำสั่งควบคุมในหนังสือพิมพ์รายวันติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 วัน.
  
 

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์