โรคอ้วนคุกคาม สูญ2พันล.ลดนน.

แนวโน้มครัวเรือนมีรายจ่ายด้านการลดน้ำหนักมาก

นายกิติศักดิ์ สินธุวนิช รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงเมื่อวันที่ 17 ก.ย. ถึงภาวะสังคมไทยไตรมาส 2/2550 ว่า โรคอ้วนในประเทศ ไทยขยายตัวอย่างรวดเร็ว จนแนวโน้มครัวเรือนมีรายจ่ายด้านการลดน้ำหนักมาก โดยเชื่อว่าปี 2550 มีมูลค่า 1,800-2,000 ล้านบาท และปรับเพิ่มอีก 20% ในปี 2551 ทั้งการเล่นฟิตเนส ซื้ออาหารหรือยาลดน้ำหนัก ใช้บริการโรงพยาบาล เนื่องจากภาคธุรกิจเน้นโฆษณาจูงใจให้ลดน้ำหนักในลักษณะที่เห็นผลรวดเร็ว  จนหลายรายต้องเสียเงินโดยไม่จำเป็น หรือเห็นผลได้ระยะหนึ่งแล้วกลับมาอ้วนเหมือนเดิม จึงอยากให้ภาครัฐเร่งโฆษณาให้ความรู้แก่ประชาชนให้เห็นความสำคัญของการออกกำลังกายถึงเปลี่ยนแปลงการบริโภคอาหาร ซึ่งจะลดภาระค่าใช้จ่ายได้มาก
 

จากผลสำรวจพบว่าประชาชนที่มีปัญหาโรคอ้วนต้องเสียค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการลดความอ้วนเฉลี่ยคนละ 900-2,600 บาทต่อเดือน

โดยใช้บริการโรงพยาบาล หรือสถานลดน้ำหนักมากสุด เฉลี่ย 2,555 บาท รองลงมาซื้ออาหารหรือยาลดน้ำหนักมากินเอง 1,200 บาท ซื้อเครื่อง ออกกำลังกาย 1,077 บาท ออกกำลังกายตามสถานที่เก็บค่าบริการ 896 บาท แต่ที่ สศช.เป็นห่วงมากสุดคือการลดน้ำหนักตามโรงพยาบาลที่มีค่าใช้จ่ายแพง แต่กลับได้ผลเพียง 29.4% ส่วนที่เหลือไม่คุ้มกับรายจ่าย เพราะน้ำหนักลดเพียงเล็กน้อย น้ำหนักเพิ่มหลังหยุดการรักษา และผลการใช้ยาทำให้เกิดอาการง่วงซึม และเฉื่อยชา 


กลยุทธ์การตลาดของผู้ประกอบการได้ขยายจากในเมืองไปสู่ชนบทอย่างรวดเร็ว

เพราะมีการโฆษณาผ่านสื่อบ่อยครั้ง ขณะเดียวกัน ผลสำรวจที่กระทบจากโรคอ้วนพบว่า คนในเมืองต้องเสียค่าใช้จ่ายการรักษา 6.7% ของผู้ตอบคำถามทั้งหมด และเสียค่าใช้จ่ายซื้อเสื้อผ้าใหม่ 31.6% แต่คนชนบทต้องจ่ายค่ารักษา 8% และซื้อเสื้อผ้าใหม่ 26.5% อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลวิธีที่คนมักใช้ลดน้ำหนักมากสุดคือควบคุมอาหาร หลีกเลี่ยงหรือลดอาหารที่ทำให้อ้วน ออกกำลังกายสม่ำเสมอ กินยาลดความอ้วน ออกกำลังกาย ตามสถานที่รักษาการลดน้ำหนัก
 

ด้านนายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการ สศช. เปิดเผยว่า

ในไตรมาส 2/2550 ครัวเรือนไทยมีค่าใช้จ่ายด้านบุหรี่ 5,493 ล้านบาท เพิ่มจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.4% เนื่องจากผู้บริโภคหันมาสูบบุหรี่นำเข้าที่มีราคาแพงมากถึง 125.61 ล้านซอง เพิ่มขึ้น 25.4% จนส่งผลให้สัดส่วนการบริโภคบุหรี่นำเข้าเพิ่มจาก 21.5% ในไตรมาส 2/2549 เป็น 23.3% ของทั้งหมด ดังนั้น ภาครัฐควรพิจารณาขยายพื้นที่ห้ามสูบให้ครอบคลุมสถานบริการ เช่น ผับ และบาร์ ตลอดจนปราบปรามผู้ฉวยโอกาสลักลอบนำเข้าบุหรี่เถื่อน  สำหรับการบริโภคสุราและของมึนเมามีมูลค่า 35,943 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.4% เพราะประชาชนบางกลุ่มหันไปดื่มสุราพื้นบ้าน และเป็นผลของการรณรงค์งดเหล้าอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันเชื่อว่า มติ ครม.อนุมัติให้ขึ้นภาษีสุราขาว สุราผสม และสุราพิเศษ ประเภทบรั่นดี อาจทำให้ปริมาณการบริโภคสุราลดลง 60-65 ล้านลิตรต่อปี ทั้งนี้ แม้จะมีมาตรการภาษีและควบคุมโฆษณา แต่ก็ยังห่วงการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะผู้ค้าได้นำผลิตภัณฑ์ใหม่มาเจาะกลุ่มลูกค้าตลอดเวลา เช่น เหล้าปั่น เหล้าผง ซึ่งกฎหมายสุรายังควบคุมไม่ถึง เพราะถูกจัดให้อยู่ในหมวดเครื่องปรุงรส เบื้องต้นภาครัฐควรปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัยให้เท่าทันกลยุทธ์ทางการตลาดของธุรกิจประเภทนี้


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์