โรคคอบวมระบาดวัวควาย ล้มตายเป็นเบือหวั่นติดคน

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 10 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก นพ.ศิริชัย ลีวรรณนภาใส สาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส ว่า เมื่อบ่ายโมงวันที่ 9 มิ.ย. ที่ผ่านมา ได้รับรายงานว่า มีวัวควายของชาวบ้านหมู่ 1 ต.ปูโย๊ะ และหมู่ 2 ต.มูโน๊ะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ล้มตายจำนวนมากโดยไม่ทราบสาเหตุ

จึงรายงานให้นายการันย์ ศุภกิจวิเลขการ ผวจ.นราธิวาส เดินทางลงพื้นที่ตรวจสอบร่วมกับนายสุรินทร์ เพชรสังข์ นายอำเภอสุไหงโก-ลก และเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จังหวัดนราธิวาส พบวัวควายของชาวบ้านล้มตายกว่า
100 ตัว ซากวัวกระจายทั่วหมู่บ้าน ตรวจสอบพบว่าเป็นโรคคอบวม ซึ่งเป็นโรคระบาดชนิดหนึ่งในสัตว์เลี้ยง พร้อมสั่งเจ้าหน้าที่ทำลายซากวัวควายทั้งหมดแล้ว เพื่อป้องกันการระบาดของโรค
 

 

นพ.ศิริชัยเปิดเผยด้วยว่า

สถานการณ์ดังกล่าวอาจทำให้พี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวและบริเวณใกล้เคียงเกิดความวิตกกังวลได้ โรคคอบวมเป็นโรคระบาดในวัว-ควาย เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง การระบาดของโรคนี้จะเกิดขึ้นในสภาวะที่สัตว์เกิดความเครียด เช่น ต้นหรือปลายฤดูฝน การเคลื่อนย้ายสัตว์ หรือการใช้แรงงานสัตว์มากเกินไป ในสภาวะความเครียดเช่นนี้สัตว์ที่เป็นตัวเก็บเชื้อจะปล่อยเชื้อออกมาปนเปื้อนกับอาหารและน้ำ เมื่อสัตว์ตัวอื่นกินอาหาร หรือน้ำที่มีเชื้อปนอยู่เข้าไปก็จะป่วยเป็นโรคนี้ และขับเชื้อออกมากับสิ่งขับถ่ายต่างๆ เช่น น้ำมูก น้ำลาย อุจจาระ ทำให้โรคแพร่ระบาดต่อไป ซึ่งเชื้อตัวนี้เมื่อปนเปื้อนอยู่ในแปลงหญ้าจะมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ
24 ชั่วโมง ถ้าอยู่ในดินที่ชื้นแฉะอาจมีชีวิตอยู่ได้นานถึง 1 เดือน

เมื่อสัตว์ได้รับเชื้อจะมีไข้สูงอย่างรวดเร็ว หายใจหอบ น้ำลายฟูมปาก หยุดกินและเคี้ยวเอื้อง ท้องผูกในระยะแรกแล้วต่อมาท้องร่วง อาการที่พบทั่วไปได้แก่ คอบวมร้อนและแสดงอาการเจ็บปวด หายใจดัง การบวมอาจลามลงไปถึงใต้คาง แก้ม คอส่วนล่าง จนถึงไหล่และขาหน้า กลืนอาหารลำบาก ลิ้นห้อยจุกปาก เยื่อเมือกของปากแดงจัด น้ำลาย น้ำตา และน้ำมูกไหล สัตว์อาจจะตายเนื่องจากหายใจไม่สะดวกภายใน
6 ชั่วโมง-2 วัน นอกจากนี้ บางรายอาจจะมีอาการเสียดท้อง ท้องเดิน และไอด้วย ขณะนี้ทางอำเภอและจังหวัดได้ดำเนินการควบคุมป้องกัน รวมทั้งทำลายสัตว์และจำกัดการระบาดแล้ว

นพ.ศิริชัยยังกล่าวต่อไปอีกว่า
 
โรคนี้มีโอกาสติดต่อมาสู่คน โดยทางบาดแผล การสัมผัสกับสารคัดหลั่งของสัตว์ที่มีเชื้อ หรือทางลมหายใจ หรือการรับประทานเข้าไปก็ได้ ดังนั้น จึงขอให้พี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยง หรือบริเวณใกล้เคียงป้องกันการติดต่อโดยห้ามนำสัตว์ที่ป่วยตายมารับประทาน หากต้องสัมผัสกับสัตว์ควรสวมถุงมือ รองเท้าบูต หน้ากากปิดปาก และจมูก เพื่อป้องกันสารคัดหลั่งกระเด็น ควรดื่มน้ำต้มสุก ล้างมือก่อนรับประทานอาหาร และหลังทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสัตว์ทุกครั้ง

นอกจากนี้ ต้องใส่คลอรีนเพื่อฆ่าเชื้อโรคในน้ำที่ใช้อุปโภค-บริโภค เช่น บ่อน้ำ หรือโอ่งน้ำ โดยสามารถติดต่อขอรับคลอรีนได้ที่สถานีอนามัยและ รพ.ใกล้บ้าน สำหรับผู้ที่มีอาชีพรับจ้างชำแหละ หรือขายเนื้อสัตว์ หรือมีประวัติสัมผัสกับสัตว์ต้องคอยสังเกตอาการของตนเอง หรือญาติพี่น้องอย่างใกล้ชิด หากมีอาการไข้ ไอ ปวดศีรษะ ปัสสาวะน้อย เหนื่อยหอบ ซึม ปวดตามตัวมาก ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์