แพทย์จุฬาใจป้ำ รับโควต้าไม่อั้น ผลโอเน็ตรอบ3 ประกาศ30เม.ย.

แพทย์จุฬาใจป้ำ รับโควต้าไม่อั้น ผลโอเน็ตรอบ3 ประกาศ30เม.ย.

มติประชุมร่วม สกอ.-สทศ.-ทปอ. และสถาบันแพทย์ 9 สถาบัน ลั่นประกาศผลสอบโอเน็ต-เอเน็ตรอบ 3 ได้แน่ 30 เม.ย.นี้ ผ่านเวบไซต์ทุกสถาบัน พร้อมแจกซีดีรอม ยันตรวจข้อสอบอัตนัยเฉพาะที่มีปัญหา ยันให้สิทธิเด็กสอบติดโควตา "แพทย์จุฬาฯ" เปิดรับไม่อั้น

ขณะเดียวกันยังมีนักเรียนบุก สกอ.ขอให้ตรวจข้อสอบอัตนัยใหม่หมด และเตรียมเสนอทางออกต่อ "จาตุรนต์" 17 เม.ย.นี้

ภายหลังการประกาศผลคะแนนสอบการทดสอบทางการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งชาติ (โอเน็ต) และผลคะแนนสอบการทดสอบทางการศึกษาขั้นสูงแห่งชาติ (เอเน็ต) 2 ครั้งเกิดปัญหาโดยเด็กได้คะแนนลดลง ได้ศูนย์คะแนน และขาดสอบทั้งๆ ที่ไปสอบ และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบผลโอเน็ตและเอเน็ตชุดใหม่ เพื่อตรวจข้อสอบปรนัยใหม่ทั้งหมดและตรวจข้อสอบอัตนัยที่มีปัญหา และเลื่อนการรับสมัครแอดมิชชั่นส์

เมื่อวันที่ 14 เมษายน เวลา 12.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่ามีกลุ่มนักเรียนที่ร่วมเรียกร้องต่อกรณีแอดมิชชั่นส์จาก กทม.และต่างจังหวัด เช่น นครสวรรค์ สระบุรี ศรีสะเกษ ประมาณ 10 คนมารวมตัวกัน ต่อมาเวลา 13.30 น. กลุ่มนักเรียนนำโดย น.ส.อังศุสร อภิราชกมล ยื่นหนังสือต่อ ศ.(พิเศษ) ดร.ภาวิช ทองโรจน์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เพื่อให้ตรวจข้อสอบโอเน็ตและเอเน็ตแบบอัตนัยใหม่ทั้งหมด

น.ส.อังศุสร ให้สัมภาษณ์ว่า กลุ่มนักเรียนเห็นว่าข้อสอบแบบอัตนัยยังมีข้อผิดพลาด เพื่อความเป็นธรรมควรตรวจสอบใหม่ทั้งหมด และเห็นด้วยที่ตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อสอบอัตนัย แม้สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ต้องเพิ่มคน ใช้งบมากขนาดไหนก็ต้องทำ ถึงต้องเลื่อนเปิดภาคเรียนก็รอได้ หากตรวจเฉพาะคนร้องเรียนได้ศูนย์คะแนน หรือมีปัญหาทั้งๆที่จริงแล้วมีจำนวนมาก ก็ไม่เป็นธรรม และถ้าสุ่มตรวจอนาคตร้องเรียนกันไม่จบแน่

ทั้งนี้ ศ.(พิเศษ) ดร.ภาวิช รับเรื่องร้องเรียนไว้และกล่าวว่า ยินดีรับใช้ทุกคน และเดินเข้าห้องประชุมเพื่อหารือร่วมกับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และผู้บริหาร สทศ.

นายณัฐพงศ์ นพโลหะ ร.ร.สระบุรีวิทยาคม จ.สระบุรี กล่าวว่า วันที่ 17 เมษายน เวลา 10.00 น. กลุ่มนักเรียนได้ขอเข้าพบนายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เพื่อรายงานปัญหา เช่น การใช้จีพีเอในแอดมิชชั่นส์สูงเกินไป ควรปรับลดเหลือร้อยละ 10 เท่าเดิม การตรวจสอบกระดาษคำตอบโอเน็ตและเอเน็ตไม่ได้มาตรฐาน และเสนอแนวทางแก้ไขแอดมิชชั่นส์ถ้าต้องใช้ในปีถัดไป

ส่วนปัญหาตรวจข้อสอบอัตนัยโอเน็ต วิชาภาษาไทยที่พบ เช่น ถามคำตายจากโคลงสี่สุภาพที่กำหนดให้ ซึ่งคำตอบคือ สัตว์ กับ บัติ หากตอบสัตว์, บัติได้คะแนน แต่ตอบว่า สัตว์ บัติ ไม่ได้คะแนน ลักษณะการตอบต่างกันแค่เครื่องหมายจุลภาค

นายศิริพล เคารพธรรม ร.ร.นครสวรรค์ กล่าวว่า ข้อสอบโอเน็ต วิชาสังคมให้ระบุสัดส่วนป่าอนุรักษ์และป่าเศรษฐกิจตามนโยบายป่าไม้แห่งชาติ 2528 ซึ่งคำตอบที่ถูกต้อง คือ ร้อยละ 15 : ร้อยละ 25 แต่ไม่มีในตัวเลือกมีใกล้เคียงที่สุดคือ ข้อ 2 ร้อยละ 25 : ร้อยละ 15 ไม่แน่ใจเป็นคำตอบที่ถูกต้อง หรือยกประโยชน์ให้คะแนนนักเรียน และผลสอบเอเน็ตวิชาภาษาอังกฤษได้ศูนย์คะแนนบางข้อ จึงขอตรวจสอบ แต่เจ้าหน้าที่ สทศ.ไม่ให้ดูเฉลย อ้างรอคณะกรรมการอิสระตรวจสอบระบบตรวจสอบข้อสอบอัตนัย

น.ส.ปทิตตา ญาณะจารี ร.ร.เตรียมอุดมศึกษา กล่าวว่า ข้อสอบเอเน็ต วิชาภาษาอังกฤษแบบอัตนัย ให้วิจารณ์เนื้อหาเพลง Que sera sera. Whatever will be, will be. คะแนนเต็ม 20 คะแนน แต่ได้ศูนย์คะแนน ทั้งที่ข้อสอบเชิงวิจารณ์ตามหลักจะไม่ให้ศูนย์คะแนน

ทั้งนี้ หลักการตรวจข้อสอบของ สทศ.ใช้คีย์เวิร์ด ถ้าใช้คำไม่ตรงกับเฉลยได้ศูนย์ ซึ่งศัพท์ภาษาอังกฤษเลี่ยงไปใช้คำอื่นที่ใกล้เคียงได้ และมาตรฐานตรวจข้อสอบอัตนัยใช้คนนั่งอ่านทีละบรรทัด และสรุปความประเมินคุณค่า เนื้อหา ไวยากรณ์ และการเรียงประโยค แต่กลับมาใช้คีย์เวิร์ดตรวจซึ่งทั่วโลกไม่มีใครใช้กัน

ถ้า สทศ.หาคนมานั่งอ่านข้อสอบรายบรรทัดไม่ได้ ควรยกเลิกข้อสอบอัตนัย เท่าที่คุยกับเพื่อนๆ พบปัญหากว่า 50 ราย โดยข้อสอบเขียนเอเน็ตวิชาภาษาอังกฤษหลายคนได้ศูนย์ ทั้งที่เป็นเด็กเก่ง บางคนเคยได้รับทุนเอเอฟเอส อย่างหนูได้ศูนย์ แต่เรียนได้เกรด 4 มาตลอด เคยสอบ CU-TEP ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเทียบเท่าโทเฟลได้ 640 คะแนน ใช้เรียนต่อปริญญาโทต่างประเทศได้สบาย น.ส.ปทิตตา กล่าว

นักเรียนหญิงรายหนึ่ง กล่าวว่า ทราบจากอาจารย์ว่าการตรวจข้อสอบอัตนัยของ สทศ.จะส่งต่อให้อาจารย์ โดยอาจารย์นำไปให้นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏช่วยตรวจตามคีย์เวิร์ดที่บรรจุอยู่ในซีดี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดช่วงเช้ามีนักเรียนและผู้ปกครอง กทม.และต่างจังหวัด 20 ราย เดินทางมา สทศ.เพื่อขอตรวจสอบกระดาษคำตอบ แม้ยกเลิกให้ตรวจสอบแล้ว โดยเจ้าหน้าที่ สทศ.อนุโลมให้ผู้มาจากต่างจังหวัดเข้าตรวจสอบได้ แต่โน้มน้าวให้ผู้ที่อยู่ใน กทม.รอฟังประกาศผลสอบรอบที่ 3

ต่อมาเวลา 17.00 น. หลังประชุมร่วมกับ สทศ. ทปอ.และผู้แทนมหาวิทยาลัยต่างๆ ในสังกัดที่ไม่ใช่ใน ศธ.ที่ไม่ใช้คะแนนโอเน็ตและเอเน็ตรับเด็กเข้าเรียนกว่า 3 ชั่วโมง ศ.(พิเศษ) ดร.ภาวิช แถลงข่าวภายหลังประชุมว่า คณะกรรมอิสระที่ตั้งขึ้นมา ได้แก่ คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัยต่างๆ และข้าราชการฝ่ายคอมพิวเตอร์ของ สกอ.และกระทรวงไอซีทีมาช่วยสนับสนุนและตรวรจข้อสอบใหม่ทั้งหมด พร้อมขออำนาจรักษาการรมว.ศธ. เพื่อให้คณะกรรมการอิสระเป็นผู้ประกาศผลแทน สทศ.เพื่อความรวดเร็ว

สำหรับคณะกรรมการอิสระมีหน้าที่ 1.ตรวจสอบไฟล์ภาพกระดาษคำตอบที่สแกนไปแล้วและติดไฟล์ภาพที่หายไป ซึ่งดำเนินการไปแล้วร้อยละ 50 ของผู้สอบ 3 แสนคน และพบว่า มีกระดาษคำตอบที่ไม่ผ่านการสแกนภาพจำนวนหนึ่ง โดยคณะกรรมการอิสระจะกลับมารื้อเพื่อสแกนใหม่ ส่วนภาพที่สแกนไปแล้วและมีความสมบูรณ์นำมาใช้ได้เลยสามารถนำมาตรวจใช้ได้ทันที

2.เขียนโปรแกรมการตรวจภาพสแกนขึ้นใหม่โดยใช้ผู้เชี่ยวชาญมือหนึ่งของประเทศไทย คาดว่าโปรแกรมนี้จะเสร็จเร็วที่สุดในวันที่ 14 เมษายน หรือ อย่างช้าไม่เกินวันที่ 16 เมษายน จากนั้นจะนำโปรแกรมไปใช้ตรวจข้อสอบปรนัยใหม่ทั้งหมดและนำไปเปรียบเทียบกับการตรวจข้อสอบปรนัยชุดเก่าของสทศ.

3.ข้อสอบอัตนัยที่มีปัญหาและมีปัญหาแตกต่างกันไปแต่ละรายวิชา ขณะนี้คณะกรรมการอิสระทราบถึงปัญหาทั้งหมดแล้ว โดยวิชาวิทยาศาสตร์และสังคมเป็นวิชาที่มีปัญหาน้อยที่สุด และจะนำกระดาษคำตอบไปตรวจสอบกับวิธีการตรวจแบบเดิม

ส่วนวิชาภาษาอังกฤษพบว่า การตรวจข้อสอบมีความน่าเชื่อถือเพราะใช้อาจารย์ 2 คนตรวจข้อสอบแต่ละข้อ หากอาจารย์ 2 คนให้คะแนนต่างกัน ต้องมีอาจารย์คนที่ 3 มาตัดสิน แต่ปัญหาคะแนนที่ออกมาเป็นศูนย์เกิดจากการอ่านผลการตรวจของคอมพิวเตอร์ส่วนกลา ซึ่งอ่านเฉพาะคะแนนเลขหลักสุดท้าย เช่น ได้คะแนน 20 หรือ 10 คะแนน ผลออกมาเป็น 0 ได้คะแนน 18 จะออกมาเป็น 8 คะแนน

"วิชาที่มีปัญหามากที่สุดคือ วิชาภาษาไทย สทศ.จะเชิญอาจารย์ตรวจข้อสอบอัตนัยวิชานี้ทั้งหมดมาประชุมกันภายในวันที่ 15 เมษายนนี้ เพื่ออธิบายปัญหาที่พบ หากปัญหาข้อใดแก้ไขได้ จะชี้แจงเหตุผลให้สาธารณชนได้รับทราบ แต่กรณีที่ไม่สามารถอธิบายได้ ก็อาจจะพิจารณายกเลิกเป็นรายข้อหรือทั้งหมดขึ้นอยู่กับการพิจารณาอีกครั้ง" ศ.(พิเศษ) ดร.ภาวิช กล่าว

เลขาธิการ กกอ. กล่าวอีกว่า คาดว่าการตรวจข้อสอบจะเสร็จภายในวันที่ 23 เมษายน แต่ขอเวลาทบทวนและประกาศผลสอบโอเน็ตและเอเน็ตใหม่ในวันที่ 30 เมษายน โดยประกาศผลสอบโอเน็ตและเอเน็ตบรรจุใส่ในซีดีรอมแจกให้ทุกโรงเรียนและทุกมหาวิทยาลัย และผ่านเวบไซต์ www.cuas.or.th ,www.ntthailand.com และ www.mua.go.th อีกทั้งประกาศผลผ่านเวบไซต์ของทุกมหาวิทยาลัย รวมถึงนำไปเผยแพร่ตามห้างสรรพสินค้า ซึ่งนักเรียนนำไปตรวจสอบได้ทันที ส่วนเด็กต่างจังหวัดตรวจสอบได้ที่คอล เซ็นเตอ ร์ของ สกอ.โทร.0-2576-5555

ส่วนการรับสมัครแอดมิชชั่นส์ตรงและแอดมิชชั่นส์กลางนั้น จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27 มีนาคม-7 พฤษภาคม ผ่านทางเวบไซต์ www.cuas.or.th และชำระค่าสมัครผ่านทางธนาคาร หรือที่ทำการไปรษณีย์ภายในวันที่ 9 พฤษภาคมนี้ ซึ่งจะจำหน่ายหนังสือระเบียบและให้บริการเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ศูนย์รับสมัครใน กทม.ที่ ม.เกษตรศาสตร์ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และส่วนภูมิภาค ได้แก่ ม.ขอนแก่น ม.เชียงใหม่ ม.เทคโนโลยีสุรนารี ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ม.นเรศวร ม.บูรพา ม.มหาสารคาม ม.วลัยลักษณ์ ม.ศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ ม.สงขลานครินทร์วิทยาเขตหาดใหญ่และ ม.อุบลราชธานี

ศ.(พิเศษ) ดร.ภาวิช กล่าวต่อไป หลังจากนั้นจะประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสอบสัมภาษณ์ระบบแอดมิชชั่นส์ตรงผ่านทางเวบไซต์ www.cuas.or.th จากนั้นสอบสัมภาษณ์และตรวจร่างกายระบบแอดมิชชั่นส์ตรงในวันที่ 17-19 พฤษภาคม ที่สถาบันอุดมศึกษาที่สอบได้ และประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้าศึกษาต่อในระบบแอดมิชชั่นส์ตรงในวันที่ 20 พฤษภาคม ทางเวบไซต์ www.cuas.or.th

สำหรับระบบแอดมิชชั่นส์กลางจะประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสอบสัมภาษณ์และตรวจร่างกายในวันที่ 24 พฤษภาคมนี้ ผ่านเวบไซต์ www.cuas.or.th สอบสัมภาษณ์และตรวจร่างกายระบบแอดมิชชั่นส์กลางในวันที่ 26-29 พฤษภาคม ที่สถาบันอุดมศึกษาที่สอบได้และประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้าศึกษาต่อระบบแอดมิชชั่นส์กลางในวันที่ 1 มิถุนายน ผ่านเวบไซต์ www.cuas.or.th

"ทั้งหมดนี้ผมมั่นใจจะไม่กระทบกับการเปิดภาคเรียน ส่วนผู้สมัครแอดมิชชั่นส์และชำระเงินแล้ว หลังทราบผลคะแนนจะต้องมาสมัครใหม่ แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ส่วนผู้ที่สอบติดโควตาของสถาบันอุดมศึกษา และได้สละสิทธิไปแล้ว สถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งยินดีคืนสิทธิให้เช่นเดิม แต่ต้องมารายงานตัวภายในวันที่ 7 พฤษภาคมนี้ หลังประกาศผลสอบโอเน็ตและเอเน็ต 7 วัน" เลขาธิการ กกอ. กล่าว

ศ.(พิเศษ) ดร.ภาวิช กล่าวด้วยว่า ส่วนกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย 9 สถาบัน ที่ได้ประกาศผลรายชื่อผู้ที่สอบติดอันดับหนึ่งและมีรายชื่อซ้ำกับคณะแพทย์ จุฬาฯ 244 คน ไปเมื่อวันที่ 14 เมษายน หากเด็กมายืนยันสิทธิไม่ว่ากับคณะแพทยศาสตร์ไม่ว่ามหาวิทยาลัยใดก็ตาม จะรับเข้าเรียนทันที ส่วนที่เหลือ 576 คน จากทั้งหมด 820 คน จะรอผลประกาศสอบโอเน็ตและเอเน็ตอีกครั้งในวันที่ 30 เมษายน

ผศ.นันทนา ศิริทรัพย์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า คณะแพทย์ จุฬาฯ ได้ประกาศผู้มีสิทธิสอบสัมภาษณ์ 405 ที่นั่งไปแล้วตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน ที่เวบไซต์ www.md.chula.ac.th แต่หากภายหลังประกาศผลสอบโอเน็ตและเอเน็ตรอบที่สามพบว่า มีคะแนนสูงกว่าคะแนนต่ำสุดของผู้ผ่านการคัดเลือกของคณะแพทย์ จุฬาฯ ทางคณะแพทย์ จุฬาฯ จะรับเด็กเหล่านี้ไว้ทั้งหมดโดยไม่จำกัดจำนวน

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์