แนะส่งปลากซัคเกอร์เป็นอาหารจระเข้แทน

ผู้เชี่ยวชาญระบุโลกนี้ไม่มีใครกิน "ซัคเกอร์" แนะใช้เป็นเหยื่อ "จระเข้" แทน ด้านโหรชี้ ซัคเกอร์ไม่ใช่ปลาราหู ปล่อยเสริมดวงไม่ได้ผล ส่วนปริมาณปลามหาภัยที่คลองท้ายวังเมืองคอน ทำสัตว์น้ำวิกฤติ เหตุถูกกินเรียบ ผู้เพาะเลี้ยง จ.ตาก ตะลึง เห็นคนดักปลาได้ซัคเกอร์เต็มตาข่าย สงสารธรรมชาติ หยุดขยายพันธุ์ทันที

จากปัญหาที่ปลาซัคเกอร์ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าปลาเทศบาล ซึ่งมีผู้นิยมนำไปเลี้ยงไว้ในตู้ปลา เพื่อให้ทำความสะอาดเศษอาหารที่ตกค้างในตู้

แต่เมื่อตัวใหญ่ขึ้นจึงนำไปปล่อยในแหล่งน้ำธรรมชาติจนมีการแพร่พันธุ์มากขึ้น กินสัตว์น้ำเป็นอาหารจนทำให้ปริมาณสัตว์น้ำธรรมชาติลดลงอย่างรวดเร็วนั้น
 

 นายชวิทย์ เกตุสัตบรรณ ชาว จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งมีบ้านพักติดกับคลองท้ายวัง ลำคลองโบราณที่ไหลระหว่างแนวทิศใต้กับทิศเหนือเลียบกำแพงเมืองเก่า กล่าวว่า

พบเห็นปลาซัคเกอร์ใต้สะพานทางเข้า สพท.เขต 1 นครศรีธรรมราช อยู่มาก ชาวบ้านทอดแห วางข่ายดักปลา จะต้องติดปลาชนิดนี้ขึ้นมาด้วยทุกครั้ง บางคนก็ปล่อยลงคลองตามเดิม บ้างก็โยนทิ้งบนฝั่ง หรือเอาไปเลี้ยงต่อในบ่อปลาหรือตู้ปลา 
ปัจจุบันปลาชนิดนี้ได้เพิ่มปริมาณอย่างรวดเร็ว สังเกตเห็นว่า อาศัยอยู่เป็นกลุ่มๆ หากลองไปเฝ้าสังเกตดูก็จะเห็นว่ายน้ำขึ้นมาหายใจบนผิวน้ำอย่างชัดเจน ส่วนผลกระทบตามข่าว เชื่อว่าเป็นความจริง เพราะดูเหมือนว่า ปริมาณปลาชนิดต่างๆ ในลำคลองมีจำนวนลดน้อยลงไปมาก เช่น ปลาขี้ขม ปลาปก ปลาซิว ปลาตะเพียน ปลาตรับ ปลาโทง ปลาโอน กุ้งคลองหรือกุ้งฝอย ทั้งหมดมีปริมาณลดน้อยไปมาก จากเดิมที่เคยมีอยู่เป็นจำนวนมาก

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า

ย่านจำหน่ายปลาสวยงาม ปลาตู้บริเวณริมถนนศรีปราชญ์ ต.คลัง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ยังมีการจำหน่ายปลาชนิดนี้แทบทุกร้าน แต่ละร้านมีราคาตกตัวละ 10 บาท หรือถ้าขนาดเล็กจะมีราคาคู่ละ 10-15 บาท เป็นที่น่าสังเกตว่าปลาที่นำมาจำหน่ายมีขนาดเท่าๆ กัน คาดว่าส่งมาจากแหล่งเพาะเลี้ยง
 

 ส่วนที่ จ.เชียงใหม่ นายสมาน ทัดเที่ยง ประธานผู้ใช้น้ำภาคเกษตรกรรมลุ่มน้ำกวง กล่าวว่า

สถานการณ์การเพิ่มจำนวนของปลาซัคเกอร์ ได้สร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวเชียงใหม่มานานแล้ว โดยอยู่ตามแหล่งน้ำธรรมชาติทั่วทุกแห่ง มีมากที่ ต.สันนาเม็ง อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ เริ่มแพร่หลายมาที่กระชังของชาวบ้าน เชื่อว่าไข่ของปลาดังกล่าวจะติดมากับน้ำที่ชาวบ้านนำมาใช้เลี้ยงปลา
 ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการระบาดหนักขยายวงกว้าง จึงคิดว่าน่าจะหาทางแก้ไขอย่างเร่งด่วน ด้วยการจับปลาซัคเกอร์มาทำปุ๋ยชีวภาพ หรือนำไปประกอบอาหาร เพราะปลาชนิดนี้ไม่มีอันตราย แถมรสชาติอร่อยคล้ายกับปลาช่อน แต่ที่ไม่ได้รับความนิยม เพราะหน้าตาน่าเกลียด ทั้งที่หากนำดินเหนียวโปะแล้วเผา ทุบแกะเอาเนื้อสีขาวข้างในออกมากินได้ ใช้ยำก็อร่อย แต่เนื้อจะน้อยกว่าปลาทั่วๆ ไป
 

 ขณะที่ นายคำรณ อึ้งทิภาพร อายุ 36 ปี อาชีพเลี้ยงปลาตู้รายใหญ่แห่งหนึ่งใน จ.ตาก กล่าวว่า

ระยะแรกไม่ค่อยให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการกำจัดปลาซัคเกอร์เท่าใดนัก เพราะเป็นสินค้าทำมาหากิน หลังเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์มานานหลายปี มีพันธุ์ปลาซัคเกอร์วางขายแทบล้นตลาด ส่งออกตลาดปลาตู้ในต่างจังหวัดก็มีเยอะ หลังได้เห็นเจ้าหน้าที่กำจัดปลาซัคเกอร์ตามหนองน้ำในเขตเทศบาลเมืองตาก ได้เห็นกับตาตนเองแทบไม่เชื่อว่า ทำไมถึงได้แพร่พันธุ์มากมายขนาดนั้น ชาวบ้านวางข่ายดักจับปลา หรือแม้กระทั่งตกเบ็ดได้แต่ปลาซัคเกอร์ เป็นเพราะปลาชนิดอื่นๆ ถูกกินจนแทบสูญพันธุ์ ล่าสุดต้องหยุดเพาะพันธุ์ปลาชนิดนี้อีก เพราะนึกสงสารธรรมชาติ และชาวบ้าน

 “แม้ว่าจะต้องลงทุนลงแรงเพาะเลี้ยงซัคเกอร์มาหลายปี รายได้จากการค้าขายก็ยังพอมีกำไรอยู่บ้างคราวนี้ต้องคิดใหม่ทำใหม่ คงต้องกำจัดทิ้งให้หมด หรืออาจจะนำไปแลกกับพันธุ์ปลาของกรมประมงที่เตรียมไว้ ส่วนปลาตู้สวยงามก็ยังคงประกอบธุรกิจต่อไปได้อีก ที่สำคัญก็อาจจะหาปลาที่ให้คุณสมบัติและมีประโยชน์ดีกว่าปลาซัคเกอร์ สามารถดูดตะไคร่น้ำ ทำหน้าที่เทศบาลในตู้ปลา เป็นปลาชนิดอื่นแทน ซึ่งมีอยู่หลายสายพันธุ์ และราคาไม่แพงเท่าใดนัก” นายคำรณ กล่าว
 

 ส่วนที่ จ.ราชบุรี นายฉลวย พิทักษ์ชลทรัพย์ ประมงจังหวัด กล่าวว่า

 ทางกรมมีนโยบายให้ประมงทุกจังหวัดประชาสัมพันธ์ต่อประชาชนที่มีปลาชนิดนี้ ให้นำมาแลกกับปลาเศรษฐกิจตัวอื่นที่ประมงจังหวัด แต่ตนมองว่าถ้ามีแค่ตัวเดียวแล้วต้องนำมาแลก ขับรถมาก็ไม่คุ้มค่าน้ำมัน ทั้งนี้ อยากจะบอกว่า ปลาซัคเกอร์กินได้ ไม่มีพิษภัยอะไร แต่คนไม่นิยมเพราะรูปร่างหน้าตาของปลาชนิดนี้น่าเกลียด แต่ปลาเก๋าก็รูปร่างน่าเกลียด คนยังนิยมกิน ซึ่งตั้งแต่ประชาสัมพันธ์ออกไป มีผู้นำปลามาแลกแค่รายเดียว
 

 ส่วนที่ภาคอีสาน นายกำจัด ราชคำ ประมง จ.นครพนม กล่าวว่า

ที่ผ่านมากรมประมงตระหนักถึงความสำคัญในการหาแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาโดยตลอด และศึกษาวิจัยข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพันธุ์ปลาชนิดนี้ เพื่อให้การควบคุมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้แจ้งประชาชนให้งดนำปลาซัคเกอร์มาเลี้ยงเพื่อทำความสะอาดตู้ปลา และหันมาใช้ปลาพื้นเมืองชนิดอื่นๆ ของไทยที่สามารถทำความสะอาดได้แทน เช่น ปลาลูกผึ้ง ส่วนที่มีปลาซัคเกอร์ที่เลี้ยงอยู่ หรือจับได้จากแหล่งน้ำธรรมชาติ และซากของปลา สามารถนำแลกเปลี่ยนเป็นปลาสวยงามอื่นๆ เช่น ปลาลูกผึ้ง ปลาคาร์พ ปลากาแดง ปลาทรงเครื่อง ปลาหางนกยูง หรือปลาเศรษฐกิจอื่นๆ ได้ที่หน่วยงานในสังกัดกรมประมงทั่วประเทศ
 

 ด้านแนวทางแก้ไข รศ.น.สพ.ปานเทพ รัตนากร คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า

เห็นด้วยกับความพยายามที่หน่วยงานของรัฐในการแก้ไขปัญหาเรื่องการขยายระบาดของปลาซัคเกอร์ในแหล่งน้ำ โดยการนำปลาชนิดนี้ไปแลกปลาสวยงาม แต่อยากตั้งข้อสังเกตว่า วิธีการนี้คงไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชนอย่างเต็มที่ เนื่องจากต้องเสียเวลาเดินทางเพื่อนำปลาไปแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งบางครั้งอาจได้ไม่คุ้มเสีย แต่ก็ถือว่าทางราชการเล็งเห็นปัญหาในจุดนี้แล้ว ในอนาคตอาจมีแนวทางที่ดีกว่านี้ รวมทั้งเร่งรณรงค์ให้ประชาชนทราบภัยที่จะตามมาเมื่อปล่อยปลาซัคเกอร์ลงน้ำ และขอความร่วมมือกับร้านเพาะพันธุ์ปลาให้ควบคุมปริมาณ ไม่ใช่เพาะโดยไม่คำนึงถึงความต้องการของตลาด และต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม

 "ปลาซัคเกอร์เป็นอีกบทเรียนหนึ่งที่สังคมไทยต้องระวังให้มาก เมื่อมันระบาดแล้วควบคุมได้ยาก ส่วนที่บางคนตั้งข้อสังเกตว่า สามารถนำมาปรุงเป็นอาหารได้หรือไม่นั้น เรื่องนี้คงพูดลำบาก เท่าที่ทราบข้อมูลในโลกนี้ไม่มีชาติใดเขากินปลาชนิดนี้เลย เนื่องจากกระดูกแข็ง รูปร่างหน้าตา และสีสันไม่ชวนรับประทาน" รศ.น.สพ.ปานเทพ กล่าว
 

 คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ กล่าวอีกว่า

ทางออกในเรื่องนี้ ควรใช้ปลาซัคเกอร์เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์อื่น เช่น จระเข้ เพราะโดยธรรมชาติจระเข้กินได้แทบทุกอย่าง หรือการนำไปแปรรูปโดยการบดนำไปผสมกับอาหารสัตว์ สำหรับเลี้ยงปลาดุกและไก่ก็น่าจะได้  วิธีนี้ช่วยให้ลดต้นทุนราคาอาหารสัตว์ในประเทศ อีกทั้งได้โปรตีนจากปลาด้วย


 ส่วนกรณีที่มีคนบางกลุ่มเชื่อว่า ปล่อยปลาซัคเกอร์ เหมือนปล่อยปลาราหู เป็นการเสริมดวงนั้น

นายสุกิจ ภู่ทาสิน โหราศาสตร์ภาคเหนือ กล่าวว่า สาเหตุหนึ่งที่มีผู้นำปลาซัคเกอร์ไปปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติกันมากในระยะนี้ อาจมาจากความเชื่อผิดๆ ขณะนี้ทราบว่ามีร้านขายปลาบางส่วนที่โฆษณาชวนเชื่อว่าปลาซัคเกอร์เป็นปลาราหู หากนำไปปล่อยในปีชวดนี้ ผู้ปล่อยจะได้โชคลาภ ความเชื่อดังกล่าวนี้จึงส่งผลทำให้ประชาชนไปซื้อหาปลาดังกล่าวเพื่อนำไปปล่อยหวังที่จะสะเดาะเคราะห์สร้างบุญกันมากขึ้น 

 "ตรงนี้ในทางโหราศาสตร์ยืนยันว่า เป็นความเชื่อที่ผิด เพราะปลาซัคเกอร์ไม่ใช่ปลาราหู แม้จะมีสีดำแต่ก็เป็นปลาที่ชอบดูดสิ่งโสโครก ปลาราหูในทางโหราศาสตร์ คือปลาจำพวกหางกระเบน ดังนั้นการที่คนขายให้ข้อมูลแก่ลูกค้าว่า หากนำไปปล่อยแล้วจะดวงดี ทำมาค้าขึ้น เป็นแค่โฆษณาชวนเชื่อเท่านั้น ส่วนคนที่ซื้อปลาซัคเกอร์ไปปล่อยในแม่น้ำ แทนที่จะได้บุญ กลับเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสร้างปัญหามากกว่า" นายสุกิจ กล่าว


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์