แฉโอปอเรเตอร์ยึดเงินมือถือเป็นแสน

สบท.แฉโอปอเรเตอร์ 4 ราย ยึดเงินผู้ใช้มือถือ 112 ราย กว่า 1.1 แสนบาท ยุลูกค้าอย่ายอมต้องทวงสิทธิ์คืน

วันนี้ (1 ธ.ค.) ที่อาคารหอประชุม ชั้น 2 สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ สถาบันวันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) จัดเสวนา เรื่อง “เงินเหลือในมือถือ สิทธิของใคร?”

น.พ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) กล่าวว่า ช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ต.ค.53) สบท.ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคกรณีดังกล่าว กว่า 200 ราย ซึ่งถือเป็นปัญหาอันดับต้น ๆ ของกิจการโทรคมนาคม ที่ผ่านมา สบท.ได้เคยหารือร่วมกับผู้ให้บริการ (โอเปอเรเตอร์) แล้ว โดยแต่ละโอเปอเรเตอร์ยินดีที่จะคืนค่าโทรที่เหลืออยู่ ให้กับผู้ที่ร้องเรียนผ่าน สบท.ใน 3 รูปแบบ ประกอบด้วย 1.คืนให้ทั้งค่าโทร และเลขหมาย กรณีที่เลขหมายที่ระงับการใช้งานไปแล้ว 2.กรณีที่ลูกค้าไม่ประสงค์ใช้เบอร์ที่เกิดปัญหาต่อไป โอเปอเรเตอร์ยินดีคืนเงินผ่านเลขหมายอื่นที่ลูกค้าต้องการ และ 3.ออกเช็คเงินสดให้ กรณีที่ลูกค้าต้องการเงินสดคืน

ทั้งนี้ จำนวนเงินที่เหลืออยู่ ของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนนั้น เฉลี่ยอยู่ที่รายละ 1,000 บาท สูงสุดถึง 7,000 บาท ขณะที่ ยังมีประชาชนอีกจำนวนมากที่ไม่รู้ตัวว่าเสียประโยชน์จากกรณีเดียวกันนี้ เพราะเห็นว่าอาจเป็นจำนวนเงินที่ไม่มาก


ผอ.สบท. กล่าวว่า แนวทางการแก้ไขปัญหา คือ กำหนดระยะเวลาที่ใช้เช่น 60 วัน ถึง 1 ปี  กำหนดวิธีการคืนเงินที่สะดวก และเป็นธรรม

กำหนดวิธีการลงทะเบียนซิมการ์ด และกำหนดขั้นต่ำการเติมเงิน เช่น เริ่มต้นที่ 30 บาท ซึ่งจะช่วยลดการเร่งรัดการเติมเงินได้ เนื่องจากการกำหนดโปรโมชั่นในลักษณะนี้ ถือเป็นการเร่งรัดให้ลูกค้าเติมเงินล่วงหน้า หากคำนวณจากการใช้งานจริง กับระยะเวลาการใช้งานที่มีอยู่พบว่า มีส่วนต่างสูงถึง 100 บาทต่อเลขหมายต่อเดือน จากตัวเลขผู้ใช้งานระบบพรีเพดที่ราว 60 ล้านเลขหมาย เท่ากับจ่ายเงินล่วงหน้าให้กับโอเปอเรเตอร์สูงถึง 6,000 ล้านบาทต่อเดือน หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 70,000 ล้านบาทต่อปี

จากสถิติเรื่องร้องเรียนประเด็นการกำหนดระยะเวลาการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ แบบชำระค่าบริการล่วงหน้า (พรีเพด)

พบว่า ในปี 2552 สบท.ได้รับเรื่องร้องเรียนในประเด็นดังกล่าว ทั้งสิ้น 162 เรื่อง โดยแยกลักษณะของการกำหนดระยะเวลา และลักษณะของเรื่องที่ร้องเรียน ซึ่งลักษณะที่ถูกร้องเรียนมากที่สุด คือ การถูกยึดเงินในระบบ และต้องการให้คืนเงินเข้าระบบจำนวน 77 เรื่อง การกำหนดระยะเวลาการใช้งาน และต้องการขอเพิ่มวันใช้งานจำนวน 70 เรื่อง การยกเลิกบริการ และต้องการเงินที่อยู่ในระบบคืน จำนวน 8 เรื่อง และการเติมเงินแล้วไม่ได้จำนวนเงินตามที่เติม จำนวน 7 เรื่อง ซึ่งบริษัทที่พบว่าได้รับเรื่องร้องเรียนมากที่สุด คือ บริษัท ฮัทชิสัน ซีเอที ไวร์เลส มัลติมีเดีย จำกัด 56 เรื่อง บริษัท ทรูมูฟ จำกัด 46 เรื่อง บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) 42 เรื่อง และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) 15 เรื่อง เป็นต้น

ปัจจุบันมีผู้บริโภคที่ใช้โทรศัพท์มือถือระบบเติมเงิน (พรีเพด) กว่า 61 ล้านเลขหมาย คิดเป็น 90% ของเลขหมายโทรศัพท์มือถือทั้งหมดที่เปิดใช้บริการ

ดังนั้น ผู้บริโภคที่ใช้โทรศัพท์มือถือระบบเติมเงินจึงเป็นกลุ่มใหญ่ ดังนั้น จากการเก็บข้อมูลของ สบท.พบว่า ในปี 2553 (1 ม.ค.-30 พ.ย.2553) มีผู้บริโภคถูกยึดเงินในระบบ และต้องการให้คืนเงินเข้าระบบ จำนวน 155 เรื่อง เพิ่มขึ้นจากปี 2552 ที่มีจำนวนร้องเรียน 77 เรื่อง

สำหรับเรื่องร้องเรียนที่ สบท.รวบรวมมี จำนวน 112 เรื่อง ที่ระบบจำนวนเงินที่ถูกร้องเรียนจากผู้ให้บริการ 4 ราย ได้แก่ เอไอเอส ดีแทค ทรูมูฟ และ ฮัทช์  รวม 112,392.55 บาท

ที่ผ่านมา สบท.ได้ลงประกาศข้อความโฆษณาผ่านสื่อหลายรูปแบบ เพื่อตอกย้ำให้ผู้บริโภคทวงสิทธิ์ กรณีที่มือถือถูกตัด และเงินที่เหลืออยู่ในระบบถูกยึดคืน เพื่อชี้ให้ผู้บริโภคเห็นว่า ถึงเวลาทวงคืนเงินที่จ่ายไปล่วงหน้า ทั้งที่กฎหมายไม่อนุญาต โดยให้ไปดำเนินการทวงคืนที่โอเปอเรเตอร์ และหากไม่ได้ผล ให้ติดต่อ สบท. ที่เบอร์โทร. 02 634 6000 หรือ www.tci.or.th

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์