แฉ!สถิติความรุนแรงในครอบครัวพุ่ง

เผยสถิติความรุนแรงในครอบครัวพุ่งสูงขึ้นมากกว่า 2 หมื่นรายต่อปี ด้านมูลนิธิเพื่อนหญิง ร้อง "วธ." เข้มละคร หนัง กดขี่ทางเพศ

วันนี้ (12 พ.ย.) ที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) นายชินพัฒน์ ต่อรัตน์ ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ชายเลิกเหล้ายุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อนหญิง นำเครือข่าย เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึก พร้อมทำการแสดงละครล้อเลียน เรียกร้องให้ วธ.ส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชายในละครและภาพยนตร์ เนื่องในเดือน พ.ย.นี้ เป็นเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี  โดยมีนายปรารพ เหล่าวานิช รองปลัด วธ.เป็นผู้แทนรับมอบหนังสือ 

นายชินพัฒน์ กล่าวว่า ทางเครือข่ายฯ เสนอข้อเรียกร้อง เพื่อนำไปพิจารณา 3 เรื่อง ได้แก่ 

1.ให้เข้มงวด กับผลงานละคร ภาพยนตร์ ที่จงใจสื่อมิติความรุนแรง  การกดขี่ทางเพศ ดื่มเหล้าทุบตี จนกลายเป็นการบ่มเพาะ ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องต่อเด็กและเยาวชนและผู้คนในสังคม 

2.ขอให้ส่งเสริมภาพยนตร์ ละคร และรายการโทรทัศน์ รวมถึงมิติทางวัฒนธรรมอื่น ๆ ที่สนับสนุนความเสมอภาคหญิงชาย บทบาทของผู้ชายที่ดี ผู้ชายที่รับผิดชอบครอบครัว ไม่ปลูกฝังค่านิยมแบบชายเป็นใหญ่ และ 

3.สร้างพื้นที่ ช่องทางสำหรับสาธารณชนเพื่อใช้ร้องเรียนหรือเสนอแนะสื่อต่าง ๆ ทั้งที่เหมาะสมและไม่เหมาะสม เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน 

นายชินพัฒน์ กล่าวต่อว่า ตนเห็นว่าความรุนแรง ก้าวร้าว วัฒนธรรมผู้ชายเป็นใหญ่ มีการเผยแพร่ผ่านละคร ภาพยนตร์เกือบทุกช่อง จากสถิติมูลนิธิเพื่อนหญิงปี 2552 พบว่ามีความรุนแรง 1,500 ราย 70 % เป็นความรุนแรงในครอบครัว  10 % ความรุนแรงทางเพศ ที่เหลือเป็นการตั้งครรภ์โดยไม่พึงประสงค์ นอกจากนี้ยังมีสถิติของศูนย์พึ่งได้ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในปี 2552 พบว่า มีความรุนแรงเกิดขึ้นกว่า 20,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นความรุนแรงในครอบครัว  และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี อย่างไรก็ตามวัฒนธรรมความรุนแรงไม่ได้เลียนแบบจากสื่อเท่านั้น แต่เป็นการปลูกฝังผ่านครอบครัว สิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ด้วย 

ด้านนายปรารพ กล่าวว่า ตนยินดีรับข้อเสนอของทางเครือข่ายฯ ทุกข้อเพื่อเสนอต่อนายสมชาย เสียงหลาย ปลัด วธ. และนำเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ ที่มีนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อผลักดันการดำเนินการตามข้อเสนอดังกล่าวให้เป็นวาระแห่งชาติ นอกจากนี้ยังจะประสานความร่วมมือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อร่วมกันหามาตรการควบคุมการใช้พฤติกรรมความรุนแรงและภาพความไม่เหมาะสม ในละคร และภาพยนตร์ ไทยด้วย  

"ผมมีแนวคิดให้ผู้ประกอบการ ผู้ผลิตภาพยนตร์ทำการประเมินตนเอง เพื่อจะได้ทราบว่าละครที่ได้ผลิตสู่สาธารณชนมีความเหมาะสมมากเพียงใด รวมถึง ควรน่าจะมีการจัดลำดับภาพยนตร์ ละคร ไทย น้ำดี โดยให้ภาคประชาชน ร่วมกันโหวตแสดงความคิดเห็น เพื่อที่จะสะท้อนความคิดเห็นดังกล่าวไปสู่ผู้ผลิตให้มีการผลิตละคร ภาพยนตร์ที่สร้างสรรค์ออกสู่สาธารณชนต่อไป" รอง ปลัด วธ. กล่าว



เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์