แจ้งข้อกล่าวหา 11 ราย จัดซื้อสลิงไม่ได้มาตรฐาน เป็นเหตุ 2 นรต.โดดร่มดับ

แจ้งข้อกล่าวหา 11 ราย จัดซื้อสลิงไม่ได้มาตรฐาน เป็นเหตุ 2 นรต.โดดร่มดับ


แจ้งข้อกล่าวหา 11 ราย
จัดซื้อสลิงไม่ได้มาตรฐาน เป็นเหตุ 2 นรต.โดดร่มดับ 


เมื่อวันที่ 24 ก.ย. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.จรัมพร สุระมณี ที่ปรึกษาสบ 10  ประชุมคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนคดี นรต.ชยากร พุทธชัยยงค์ และนรต.ณัฐวุฒิ ติรสุวรรณสุข โดดร่มเสียชีวิตเมื่อวันที่ 31 มี.ค.2557 ที่ผ่านมาว่า โดยมี พล.ต.ท.ก่อเกียรติ วงศ์วรชาติ ผู้ช่วยผบ.ตร.ผู้ควบคุมกำกับดูแลคดี พล.ต.ต.วิทยา ประยงค์พันธุ์ รองผบช.ภ.7 หัวหน้าพนักงานสืบสวนสอบสวน พนักงานสอบสวนสภ.ชะอำ เข้าร่วมประชุม 

 พล.ต.อ.จรัมพร กล่าวว่า ล่าสุดได้แจ้งข้อหาผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว 11 รายโดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของบริษัทอุตสาหกรรมการบินจำกัด จำนวน 7 คน ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดซื้อสลิง มีการอนุมัติจ่ายเงินในการจัดซื้อสลิงที่นำมาเปลี่ยน 2.เจ้าหน้าที่ของบริษัทการบินไทย(มหาชน) จำกัด 1 คน เป็นผู้จัดซ่อมอากาศยานตำรวจ รู้เห็นการนำสลิงดัดแปลงที่เกิดเหตุมาติดตั้งบนเครื่องบิน 3.เจ้าหน้าที่กองบังคับการกองการบินตำรวจ 3 นาย เป็นผู้ติดตามการซ่อม รู้เห็นในการเปลี่ยนสลิงที่ใช้ในวันเกิดเหตุ โดยแจ้งข้อหาการทำการโดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ทั้งหมดได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหา พร้อมปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด และไม่ได้มีการควบคุมตัวผู้ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด โดยผู้ต้องหาสาบานตนว่าจะมาพบพนักงานสอบสวนตามกำหนดนัดหมายของพนักงานสอบสวน 

พล.ต.อ.จรัมพร กล่าวว่า การแจ้งข้อกล่าวหาครั้งนี้สืบเนื่องจากหลังเหตุตนพร้อมเจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานไปตรวจสอบพบว่าสายสลิงที่นำมาใช้ในการกระโดดร่ม ไม่ได้มาตรฐาน ไม่ใช่อุปกรณ์ของแท้ที่ผลิตมาจากโรงงานในต่างประเทศ การสอบสวนพบว่าช่างซ่อมอากาศยานของบริษัทอุตสาหกรรมการบินที่มีหน้าที่ซ่อมแซมเครื่องบินของสำนักงานตำรวจแห่งชาติลำที่เกิดเหตุ จัดซื้อสลิงจากบริษัทในประเทศไทยแล้วนำมาดัดแปลงโดยราคาที่จัดซื้อมา 9,373 บาท ในขณะที่ของแท้จากต่างประเทศที่มีการจัดซื้อราคา 99,000 บาท สายสลิงที่จัดซื้อในประเทศมีขนาดใหญ่กว่าของเดิม ของเดิม 7.5 มล.ของที่จัดซื้อมาใหม่ ขนาด 8.4 มล. ทำให้ต้องไปจ้างช่างอีกบริษัทหนึ่งทำการดัดแปลงโดยการปลอกเหล็กยึดสลิง กระตุกร่มขึ้นมาใหม่ทั้ง 2 เส้น จากนั้นนำอุปกรณ์ดัดแปลงดังกล่าวมาประกอบเข้ากับชุดอุปกรณ์ ปรับแรงตึงสายกระตุกร่ม แล้วนำไปติดตั้งบนเครื่องบิน ระหว่างที่ดำเนินการดัดแปลงและติดตั้งมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจากองบังคับการกองบินตำรวจ รู้เห็นสนับสนุนช่วยประกอบอุปกรณ์

 พล.ต.อ.จรัมพร กล่าวต่อว่า สำหรับสายสลิงของแท้จากต่างประเทศเจ้าหน้าที่บริษัทการบินไทย สั่งซื้อไปแล้วและส่งมอบให้ทางกองบินตำรวจ เส้นที่ 1 เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 57 เส้นที่ 2 เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 57 ซึ่งของได้ส่งมอบหลังจากที่มีการรับมอบการซ่อมบำรุงเครื่องเสร็จเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 6 มี.ค.57 ก่อนวันที่จะมีการประโดดร่มในวันที่ 31 มี.ค. 57 ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุ คดีนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ได้ไม่ได้นิ่งนอนใจลงพื้นที่ตรวจสอบ และชี้แจงให้ทั้งสองครอบครัวที่เสียชีวิตรับทราบ หลังเกิดเหตุเราก็ได้คำนึงถึงการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุลักษณะนี้อีก หลังจากนี้ทางครอบครัวผู้เสียหายก็สามารถเรียกร้องค่าเสียหายทางเพ่งได้ 

สำหรับรายชื่อผู้ถูกกล่าวหากลุ่มที่ 1.บริษัทอุตสาหกรรมการบิน จำกัด จำนวน 7 คน  1พล.อ.อ.วีรนันท์ หาญสวธา กรรมการผู้จัดการ ในฐานะส่วนตัวและนิติบุคคล 2.ร.อ.กณพ อยู่สุข ผู้จัดการศูนย์ซ่อมอากาศยานลพบุรี 3.นายสมชาย อำพา ช่างซ่อมอากาศยานผู้ทำการติดตั้งสายสลิง 4.นายกัรติ สุริโย  ช่างซ่อมอากาศยานผู้ทำการติดตั้งสายสลิง 5.นายรัชเดช เถาว์เพ็ง ช่างเทคนิคผู้ทำการติดตั้งสายสลิง 6.นายสมเจต สวัสดิรักษา ผู้จัดการแผนกตรวจรอยร้าวโดยไม่ทำลาย ผู้จัดหาและประสานงาน จัดหาสายสลิงดัดแปลง 7.นายวัชรพงษ์ วงศ์สุบรรณ นายตรวจอากาศยายศูนย์ซ่อม ผู้ประสานงานและสั่งให้มีการจัดหาสายสลิง นำมาดัดแปลง กลุ่มที่ 2 เจ้าหน้าที่บริษัทการบินไทย 1 คน นายสุพร ธนบดี ผู้จัดการกองซ่อมบำรุงอากาศยานตำรวจผู้สั่งซื้อสลิงของแท้จากต่างประเทศและส่งมอบให้กองบินตำรวจแล้ว แต่รู้เห็นการนำสลิงดัด แปลงที่เกิดเหตุมาติดตั้งกับเครื่องบิน กลุ่มที่ 3 เจ้าหน้าที่กองบินตำรวจ จำนวน 3 คน 1.พ.ต.อ.อโนทัย ศาสตร์สง่า นักบิน(สบ5) ประธานกรรมการติดตามการซ่อมบำรุงอากาศยาย 2.พ.ต.อ.ประพงษ์ ภู่ฮง ช่างอากาศยาน(สบ4) คณะกรรมการติดตามการซ่อมบำรุงอากาศยาน 3.ร.ต.ต.พิพัฒน์ เยาวเรศ ช่างอากาศยานสบ.1

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์