แกะรอยจันทรภาณุ ต้นแบบจตุคามฯ

"ที่มา แห่ง องค์จตุคาม รามเทพ"


ชื่อของ "จตุคามรามเทพ" ที่โด่งดังขึ้นมา ต้องยกเครดิตให้กับ พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดช ผู้ล่วงลับ และพล.ต.ท.สรรเพชญ ธรรมาธิกุล โดยเริ่มต้นจากการเข้าทรงของนายอะผ่อง หรือโกผ่อง สกุลอมร ระหว่างเตรียมสร้างหลักเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อปีพ.ศ.2528

ทำให้ชื่อของ "จตุคามรามเทพ" ที่เดิมรู้จักกันในวงแคบๆ กลายเป็นชื่อของเทพผู้ยิ่งใหญ่ และโยงใยกลับไปถึงกษัตริย์นักรบผู้ยิ่งใหญ่แห่งอาณาจักรนครศรีธรรมราช นั่นคือพระเจ้าจันทรภาณุ

นักวิชาการประวัติศาสตร์ ให้ข้อสังเกตว่า ต้นแบบของจตุคามรามเทพก็คือ "พระเจ้าจันทรภาณุ" แห่งราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช อาณาจักรนครศรีธรรมราช หรือตามพรลิงค์

ตามตำนานพื้นเมืองระบุว่า ในราวพุทธศตวรรษที่ 17-18 นครศรีธรรมราชปกครองโดยกษัตริย์ราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราชสามพี่น้อง ครองราชย์ต่อเนื่องกัน

พระเชษฐาทรงพระนามว่า "พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช" องค์รองชื่อ "จันทรภาณุ" องค์สุดท้ายทรงพระนามว่า "พงษาสุระ"

"ตำนานกษัตริย์ 3 พี่น้อง"


บางตำนานระบุว่า กษัตริย์ 3 พี่น้องต่างใช้พระนามพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช เมื่อขึ้นครองราชย์ ขณะนั้นนครศรีธรรมราชรุ่งเรืองถึงขีดสุด โดยเฉพาะในสมัยพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชองค์ที่ 2 หรือพระเจ้าจันทรภาณุ ซึ่งรวบรวมหัวเมือง 12 เมือง เรียกว่า "เมืองสิบสองนักษัตร" ขึ้นต่อนครศรีธรรมราช

ด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนา พระเจ้าจันทรภาณุ ทรงจส่งพระภิกษุไทยไปศึกษาพระธรรมวินัยที่เมืองลังกาและชักชวนพระภิกษุชาวลังกามาตั้งคณะสงฆ์ที่เมืองนครศรีธรรมราช เรียกว่าพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์

ภิกษุชาวลังกาได้ช่วยบูรณะวัดวาอาราม โดยเฉพาะพระบรมธาตุเจดีย์ โดยก่อสถูปแบบลังกาครอบเจดีย์องค์เดิม

ยังมีศิลาจารึกพุทธศตววรษที่ 18 กล่าวถึงวีรกรรมของพระเจ้าจันทรภาณุ ที่ปลดปล่อยนครศรีธรรมราช ให้ได้รับอิสรภาพจากการถูกกดขี่ข่มเหงของโจฬะทมิฬ

โจฬะเป็นชื่อราชวงศ์ที่ปกครองอาณาจักรทมิฬ ทางตอนใต้ของอินเดีย รุ่งเรืองสุดขีดในยุคของกษัตริย์ราเชนทร์ โจฬะ ที่ 1 ได้ยกทัพข้ามทะเลมาตีและยึดครองอาณาจักรศรีวิชัย

"อิทธิพลแห่งพุทธศาสนา"


สำหรับราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช เป็นคำสนธิระหว่างคำว่า "ธรรม + อโศก" (เท่ากับ ธรรมาโศก) แต่ในเอกสารบางฉบับ เรียกว่า "ศรีธรรมโศก"

ซึ่งสะท้อนถึงการรับอิทธิพลจากพุทธศาสนาจากอินเดีย โดยการเผยแผ่ของพระเจ้าอโศกแห่งอินเดีย ซึ่งทรงเป็นพุทธมามกะที่มีบทบาทสำคัญมาก

มีผู้ค้นคว้าพบว่า อาณาจักรนครศรีธรรมราช สถาปนาเมื่อพ.ศ.1830 หลังจากอาณาจักรศรีวิชัยล่มสลายไปแล้ว โดยศรีวิชัย มีอายุอยู่ในช่วงพ.ศ.1000-1800

อาณาจักรนครศรีธรรมราช รุ่งเรืองร่วมยุคสมัยเดียวกับอาณาจักรสุโขทัย มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมโดยเฉพาะพระพุทธศาสนา มีส่งพระสงฆ์ไปยัง สุโขทัย เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนา

ในยุคของราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช เชื่อว่าน่านน้ำอันดามันและมหาสมุทรอินเดีย น่าจะคึกคักไปด้วยกองเรือของมหาอาณาจักรต่างๆ

ทั้งจากอินเดีย ผ่านไปจีน จากอินเดียมายังสุวรรณภูมิ

ศรีลังกา หรือในยุคนั้นเรียกว่าลังกาทวีปบ้าง สิงหลทวีปบ้าง เป็นเกาะใหญ่ทางตอนใต้ของอินเดีย มีพื้นที่ 6 หมื่น 5 พันตารางก.ม.

เป็นชุมชนเก่าแก่ก่อนยุคคริสตกาล เริ่มต้นมีชาวสิงหลและทมิฬ จากอินเดีย เข้ามาตั้งรกรากประมาณ 500 และ 300 ปีก่อนคริสตกาลตามลำดับ

"ความรุ่งเรืองและล่มสลาย"


ชาวสิงหลก่อตั้งอาณาจักรสิงหล ขึ้นบนราบภาคเหนือของศรีลังกา มีเมืองอนุราธปุระเป็นเมืองหลวงแห่งแรก ยาวนานถึงประมาณ 1,200 ปี

ก่อนจะเสื่อมลงในคริสตศตวรรษที่ 13 หรือประมาณพุทธศตวรรษที่ 18 พร้อมกับการเกิดขึ้นของอาณาจักรทมิฬ มีเมืองโปลอนนารุวะเป็นเมืองหลวงยาวนานประมาณ 200 ปี

จากนั้น ชาวทมิฬได้อพยพไปตั้งอาณาจักร "จาฟนา" ทางคาบสมุทรจาฟนา ตอนเหนือของเกาะ

ส่วนชาวสิงหลได้ถอยร่นลงไปตั้งรกรากอยู่ทางใต้ ก่อตั้งเป็นอาณาจักรแคนดี ซึ่งมีเมืองแคนดีเป็นเมืองหลวง นอกจากนี้ ก็มีอาณาจักรโกฏเฏและอาณาจักรรุหุนะ

ชาวทมิฬนับถือศาสนาฮินดูและมุสลิม ส่วนชาวสิงหลนับถือศาสนาพุทธ

อาณาจักรแคนดี เป็นอาณาจักรที่มีอำนาจมากที่สุด จนกระทั่งศตวรรษที่ 15 จักรวรรดินิยมตะวันตก เริ่มเข้ามาในศรีลังกา เริ่มจากโปตุเกส ดัตช์ และอังกฤษ ตามลำดับ

"ร่องรอยแห่งกษัตริย์นักรบ"


โดยทำการค้าตามเมืองท่าด้านตะวันตกของประเทศ และในปีพ.ศ.2048 (ค.ศ.1505) โปรตุเกสเข้ายึดครองพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลและ

ปกครองประเทศ ก่อนที่ชาวดัตช์จะเข้าครอบครองดินแดนศรีลังกาในปีพ.ศ.2201 (ค.ศ.1658)

อังกฤษครอบครองศรีลังกาเป็นเมืองขึ้นในปีพ.ศ.2358 (ค.ศ.1815) รวมเวลาที่ศรีลังกาตกเป็นเมืองขึ้นของต่างชาติเกือบ 500 ปี ก่อนจะได้รับเอกราชเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2491 (ค.ศ.1948)

ก่อนจะมาเกิดสงครามกลางเมืองระหว่างกลุ่มคนเชื้อสายทมิฬและชาวสิงหล

ค้นคว้าหาเรื่องราวของพระเจ้าจันทรภาณุ จากด้านของประเทศศรีลังกา ก็จะพบร่องรอยของกษัตริย์นักรบจากนครศรีธรรมราช ปรากฏอยู่ทั่วไป

ในฐานะกษัตริย์นักรบที่ข้ามน้ำข้ามทะเล บุกเข้าโจมตีอาณาจักรสิงหล เมื่อประมาณพ.ศ.1778-1818 หรือประมาณค.ศ.1235-1275

ข้อมูลระบุว่า กองทัพของพระเจ้าจันทรภาณุ บุกเข้าโจมตีเมืองท่าทริงโคมาลี ชายฝั่งทะเลตะวันออกของศรีลังกา ด้วยทหารจาก "2 ฝั่งของช่องแคบมะลักกา" เพื่อชิงการครอบครองพระเขี้ยวแก้วของพระพุทธเจ้า เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับฐานะกษัตริย์ในประเทศตัวเอง

และยังมีข้อมูลระบุว่า พระเจ้าจันทรภาณุตีอาณาจักรสิงหลไม่สำเร็จ จึงไปนำเอากองกำลังทหารจากอินเดียใต้ จนสามารถยึดภาคเหนือของศรีลังกาจากกษัตริย์สิงหลได้

"ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์"


ร่องรอยของพระเจ้าจันทรภาณุในศรีลังกา ถือว่ามีสีสันมาก

ข้อมูลหนึ่งระบุว่า พระเจ้าจันทรภาณุ คือผู้ที่นำชนชาติมาเลย์และชวา เดินทางเข้าไปในลังกาเมื่อปีพ.ศ.1790 (ค.ศ.1247) ในฐานะทหารในกองทัพ

และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของกลุ่มที่เรียกว่า "ชวากะ" ในศรีลังกา

ประวัติศาสตร์ลังกา เรียกพระเจ้าจันทรภาณุว่าเป็นกษัตริย์เชื้อสายมาเลย์แห่งนครศรีธรรมราช (Chandra Bhanu, the Malay King of Nakhon Sri Dhammarat) ยกทัพบุกศรีลังกาด้วยวัตถุประสงค์เพื่อครอบครองพระบรมสารีริกธาตุของอาณาจักรสิงหล และในการบุกครั้งที่สองได้นำทหารจากอินเดียใต้ คาดว่าน่าจะเป็นชาวทมิฬ มาช่วยรบ

พระเจ้าจันทรภาณุได้ยึดครองตอนเหนือของลังกา ในบริเวณที่เรียกว่า จาฟนา (Jaffna) อยู่ถึง 50 ปี โดยทิ้งร่องรอยไว้ด้วยชื่อของเมืองและสถานที่ต่างๆ ได้แก่ ชวา ปัตนัม (Java Patnam) ที่จาฟนา, ชวาคัชเชรี ฯลฯ

อีกร่องรอยของจันทรภาณุ ที่ทิ้งไว้ในศรีลังกา มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ที่ยึดอาชีพทหารในศรีลังกา ก่อนจะเกิดสงครามกลางเมืองระหว่างสิงหลกับทมิฬ มักจะเป็นชาวทมิฬมุสลิมเชื้อสายมาเลย์และชวา

สาเหตุมาจากข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่ว่า ชาวมาเลย์/ชวา สืบเชื้อสายทหาร เนื่องจากเข้ามาในศรีลังกาในฐานะทหารในกองทัพของพระเจ้าจันทรภาณุ

โดยเฉพาะชาวทมิฬมุสลิมจาก เมือง Chavakacheri ที่มักจะยึดอาชีพตำรวจและทหาร และเมืองนี้ในยุคของพระเจ้าจันทรภาณุ คือฐานทัพของทหารมาเลย์และชวา หรือ "ชวากะ" (Javaka) ที่กลายเป็นชื่อเมืองดังกล่าว

และนี่คือส่วนหนึ่งของเรื่องราวบุคคลในประวัติศาสตร์ ที่กลายมาเป็นต้นแบบของ "จตุคามรามเทพ"

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์