เหยื่อเงินกู้โหดบ้านแตก-ใช้หนี้ด้วยชีวิต

แม้กลุ่มปล่อยเงินกู้และแก๊งทวงหนี้จะถูกจัดเป็นหนึ่งใน 15 กลุ่มมาเฟียมาตั้งแต่รัฐบาล ในยุคสมัยของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ปัจจุบันมาเฟียประเภทนี้ก็ยังมีให้เห็นดาษดื่น ทั้งในรูปลักษณ์ใบปลิวปล่อยเงินกู้ เงินด่วนทันใจ

หรือแม้แต่ "กลุ่มทวงหนี้" ที่ทั้งหมดเป็นชายฉกรรจ์ขี่ จยย.ซ้อนสอง สวมแจ็กเก็ต กางเกงสแล็ค รองเท้าหนัง หมวกกันน็อกปิดหน้าตา จนแทบจะกลายเป็นเครื่องแบบอันเป็นบุคลิกพิเศษของคนกลุ่มนี้ หลายคนเรียกว่า "พวกหมวกกันน็อก"


 ชาวบ้านร้านตลาดต่างตกเป็นหนี้นอกระบบเหล่านี้กันอย่างมากมาย ว่ากันว่า หากหลงเข้าไปในวังวน "หนี้รายวัน" แล้ว ยากที่จะเดินออกมาได้อย่างปลอดภัย ที่น้อยสุดก็แทบหมดตัว แต่ส่วนใหญ่ชีวิตที่เหลืออยู่พลิกผันเหมือนตกนรก

 จึงมีไม่น้อยเลยที่ตัดสินใจ "จบชีวิต" เพื่อหนีหนี้


 เฉกเช่นกรณี นางสุนทรา โสกุล แม่ค้าขายผักใน อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ ที่ตัดสินใจผูกคอตายจบชีวิตตัวเองด้วยวัยเพียง 46 ปี เพียงเพราะเป็นหนี้นอกระบบ 3,000 บาท ตัดช่องน้อยทิ้งสามีและลูกอีก 4 คนไป


 ที่น่าอนาถคือ ความตายของเธอยังไม่หนำใจกลุ่มทวงหนี้ ที่ยังเฝ้าอุตส่าห์ตามมาดูงานศพให้เห็นกับตา แถมยังขอใบมรณบัตร เพื่อนำกลับไปเป็นหลักฐานยืนยันกลุ่มนายทุนว่า...ตายจริงๆ


 ก่อนหน้าที่คนหนึ่งคนจะตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง ย่อมต้องประสบปัญหาที่ไร้ทางออก เดือดร้อนถึงขีดสุด "สุนทรา" ก็เช่นกัน เมื่อเงินจากการขายผักไม่พอใช้ ตัดสินใจกู้เงิน "ทันใจ" 3,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 20 บาทต่อวัน ต้องจ่ายทั้งต้นทั้งดอกให้ครบภายใน 10 วัน ดังนั้นแต่ละวัน "สุนทรา" ต้องจ่ายค่าดอกเบี้ย 600 บาท เงินต้น 300 บาท รวมเป็น 900 บาท ทั้งหมด 10 วัน เงิน 3,000 บาทก็จะงอกเงยเป็น 9,000 บาททันที


 เมื่อขาดส่งก็ถูกพวกหมวกกันน็อกขู่ เดือดร้อนต้องไปยืมเงินเพื่อนบ้าน แต่ทุกคนก็จนเหมือนกัน เมื่อหมดทาง "สุนทรา" จึงตัดสินใจใช้หนี้ 3,000 บาทด้วยชีวิต !!!


 ฟากหมู่บ้านโนนสว่าง ต.ปากปวน อ.วังสะพุง จ.เลย ครอบครัวคนเก็บขยะอย่างนางบัวก่อง ก็อยู่ในภาวะเครียดจัดจากหนี้นอกระบบเช่นกัน จนคิดจะฆ่าตัวตาย ถึงขั้นเขียนจดหมายลาตายไว้แล้ว แต่ก็เปลี่ยนใจสุดท้ายประกาศขายลูกสาววัย 18 ปีใช้หนี้แทน


  คนเก็บขยะที่แทบไม่มีเครดิตทางสถาบันการเงินใดๆ กลับสามารถกู้เงินและเอาทอง (รายวัน) จากนายทุนหลายรายรวมยอดเงินทั้งหมดกว่า 1 แสนบาท ต้องจ่ายดอกเบี้ยวันละหลายพันบาท เรียกได้ว่าใครมาเก็บก่อนได้ก่อน ส่วนใครมาทีหลังก็ขู่ทำร้าย พยายามรีดเงินให้ได้...จนนำไปสู่การตัดสินใจขายลูกสาวใช้หนี้


ประพาส โงกสูงเนิน ประธานสภาเครือข่ายประชาชน 4 ภาค มองว่า
 
ปัญหานายทุนปล่อยเงินกู้นอกระบบถือว่าเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทุกพื้นที่ของภาคอีสาน ถือว่าเป็นตัวทำร้ายสังคมให้เน่าเฟะ ส่วนหนึ่งเกิดจากเศรษฐกิจไม่ดี ถูกมอมเมาด้วยหนี้สิน อย่างกรณีการประกาศขายลูก เพื่อหาเงินใช้หนี้ ทำให้รู้ว่าสังคมล้มเหลวมาก รัฐบาลควรเข้ามาควบคุมดูแลหากกฎหมายมาดำเนินการอย่างเด็ดขาดกับคนทำนาบนหลังคน


 อีกมุมหนึ่งพื้นที่ภาคอีสานถือว่า มีคนอพยพไปขายแรงงานมากสุด ปล่อยบ้านให้คนแก่อยู่กับเด็ก แต่ปัจจุบันหลายบ้านปิดเงียบ เหตุเพราะหนีหนี้ !!!


ที่บ้านหนองขาม ต.บ้านเป็ด อ.เมือง จ.ขอนแก่น หมู่บ้านที่เคยคึกคักตามวิถีชีวิตคนเมือง แต่สภาพวันนี้แทบแตกต่างอย่างสิ้นเชิง อุดม สุทุม อดีตผู้ใหญ่บ้าน เล่าว่า ประชากรในหมู่บ้านมีจำนวนกว่า 1,300 คน สำรวจพบว่ากว่าครึ่งหรือประมาณ 500 ครอบครัวเป็นหนี้นอกระบบ มีคนหนีหนี้ไปแล้ว 5 รายและที่หนีไปแล้วกลับมาใหม่ 2 ราย


สภาพวิถีชีวิตของชาวบ้านที่นี่ นอกจากคนในชุมชนแล้ว แต่ละวันยังมีพวก "ทวงหนี้" ขี่จักรยานยนต์วนเวียนเข้ามาวันละหลายเจ้าหลายรอบ ลูกหนี้รายไหนไม่มีเงินจ่ายก็ถูกขู่ ถูกทำร้าย บางทีก็มายกทรัพย์สินในบ้านทั้งโทรทัศน์ ตู้เย็น มอเตอร์ไซค์ เครื่องเสียงบางรายที่ติดหนี้อยู่หลายบริษัทก็ต้องปิดบ้านหลบหนีไปอยู่ต่างจังหวัด ทำให้ครอบครัวแตกแยก


 "เอ๋" ลูกหนี้รายหนึ่ง เล่าว่า

มีอาชีพขายอาหารตามสั่ง เมื่อขาดเงินหมุนก็ไปกู้เงินจากนอกระบบ โดยได้หมายเลขโทรศัพท์ติดต่อจากใบปิดโฆษณาตามเสาไฟฟ้า
ครั้งแรกกู้เงินมา 1 หมื่นบาท ต้องจ่ายวันละ 150 บาท 90 วัน รวมเป็นเงิน 13,500 บาท


 ยิ่งกู้หนี้ยิ่งจนลง "เอ๋" ตัดสินใจใช้บริการเงินกู้บริษัทที่สองมาหมุนจ่ายบริษัทแรก ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นงูกินหาง สุดท้าย "เอ๋" เป็นหนี้ทั้งหมด 9 บริษัท รายละ 3,000-10,000 บาท เมื่อหมดปัญญาใช้เงิน ถูกยึดทรัพย์สิน ถูกขู่ทำร้าย เขาต้องตัดสินใจทิ้งบ้านที่อยู่มาทั้งชีวิต ทิ้งครอบครัวไปตั้งหลักที่ภาคตะวันออก ถิ่นที่ไม่คุ้นเคย เพียงเพื่อเอาชีวิตรอดจากเงื้อมมือ "พวกหมวกกันน็อก"
 
 "ธวัชชัย โง่นชาลี" อายุ 51 ปี เดิมมีครอบครัวที่แสนอบอุ่นอยู่ ต.บัวเงิน อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ปัจจุบันกลับกลายเป็นคนสิ้นไร้ไม้ตอก ต้องมาอยู่ที่ศูนย์อพยพคนไทยไร้แผ่นดิน จ.นครราชสีมา เล่าว่า เคยปลูกอ้อย 300 ไร่ป้อนผลผลิตให้โรงงานน้ำตาล แต่ต้องหมดตัวเมื่อตัดสินใจผิดพลาด ด้วยการนำโฉนดที่ดินพร้อมบ้านจำนวน 3 แปลง ไปจำนองกู้เงิน 3 แสนบาทมาซื้ออ้อยและปุ๋ย ต้องชำระดอกเบี้ยร้อยละ 3 บาททุกเดือน เฉลี่ยเดือนละ 9,000 บาท


 ทว่าความระทมทุกข์ครั้งนั้นของ "ธวัชชัย" จะอยู่ในความทรงจำไม่นาน เพราะเมื่อเงินขาดมือ ก็หันกลับไปใช้บริการกู้เงินนอกระบบ นำบ้านและที่ดินจำนำอีกครั้ง จำนวน 3 แสนบาท แต่อ้อยก็มาถูกไฟไหม้เสียหายอีก


  คราวนี้นอกจากไม่มีเงินใช้หนี้นายทุนแล้ว หนี้ญาติที่ยังคงค้างชำระอยู่ก็ถูกตามทวงเช่นกัน ที่สุดบ้านที่ดินถูกยึด หนี้สินพอกพูนมหาศาลทั้งหมดรวม 5 ล้านบาท ต้องหนีมาอาศัยอยู่ที่ศูนย์อพยพคนไทยไร้แผ่นดิน


 จากข้อมูลของตำรวจพบว่า

ปัจจุบันกลุ่มนายทุนเงินกู้ที่มาหากิน สูบเลือดเนื้อคนอีสาน นอกจากจะมีคนในพื้นที่แล้วยังมีกลุ่มที่มาจากพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออก โดยเฉพาะนายทุนจาก อ.แม่กลอง จ.สมุทรสงคราม เป็นรายใหญ่ นอกจากนี้ยังมีนายทุนจาก จ.สิงห์บุรี สมุทรสงคราม และนครสวรรค์


 ทั้งหมดทั้งมวลเป็นกลุ่มอิทธิพลที่มี "คนมีสี" หรือ "นักการเมือง" หนุนหลัง


 นี่คือ "เงินกู้ดอกโหด คนโหด" เติบโตแผ่ขยายเครือข่าย ทำงานแบบเปิดเผย ทวงจริง กระทืบจริง


 ทำราวกับบ้านเมืองไม่มีขื่อมีแป !!


ศูนย์ข่าวภาคอีสาน


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์