เหยื่อหวัด2009ตายแล้ว30ราย นายกฯยอมรับหวัดมรณะคร่าชีวิตคนไทย เพื่อไทยท้าครม.ฉีดวัคซีนเป็นตัวอย่าง

"มาร์ค"เผยยอดเหยื่อ"หวัดใหญ่09"ไทยตายแล้ว30ราย คาดโรคนี้อยู่ถึงปีหน้า สธ.แบ่งคนไข้3กลุ่มหวังลดจำนวนดับ วงเสวนาเพื่อไทยร้องแถลงสัปดาห์ละ3วัน ให้คะแนนความเชื่อมั่นเป็น0 ท้าครม.ฉีดวัคซีนตัวอย่าง

"มาร์ค"เผยตายแล้ว30   

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในการสัมนาผู้นำชุมชนและผู้นำท้องถิ่นว่า เรื่องไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากว่าสับสน อยากเรียนว่าพยายามที่จะไม่ให้เกิดความสับสน แต่ไม่ง่ายนัก ต้องบอกตรงไปตรงมาว่า 2-3 เดือนที่โรคนี้ปรากฏ แม้แต่ผู้เชี่ยวชาญยังถกเถียงกัน เพราะเป็นเรื่องใหม่ และบางทีการสื่อสารออกไปเกิดเข้าใจไม่ตรงกันระหว่างผู้พูดกับผู้ฟัง อย่างเรื่องความรุนแรงของโรค แต่หลายประเทศขณะนี้เลิกตรวจหมดแล้ว เพราะไม่สามารถตรวจได้หมด และโรคนี้จะระบาดเร็ว

"ข่าวร้ายต่อไปคือ โรคนี้มีความรุนแรงที่เสียชีวิตได้โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง ของไทยตอนนี้เสียชีวิตประมาณ 30 คน สหรัฐ 200 กว่าคน เชื่อได้ว่าปัจจุบันคนที่ติดเชื้อมีเยอะกว่าตัวเลขที่มีการรายงาน ส่วนที่สับสนว่าควรปิดโรงเรียนผับบาร์หรือไม่ ประเด็นคือ การติดต่อเป็นแบบคนสู่คน ถ้าเราปิดหมด เราก็ไม่รู้เลยว่าใครไปไหนบ้าง ขอทำความเข้าใจว่าโรคนี้จะยังอยู่ไปถึงปี 2553 ไม่เลือกสีเหลืองสีแดงเป็นได้ทุกคน ไม่เลือกรัฐบาลด้วย"นายกฯกล่าว

สธ.แบ่ง3กลุ่มรักษาลดเสียชีวิต

นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รองผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์และสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินฯเมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 18 กรกฎาคม ที่ สธ. เพื่อหารือถึงแนวทางการดำเนินการลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ให้น้อยที่สุด มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญร่วมประชุม อาทิ นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค และ นพ.ศุภมิตร ชุณสุทธิวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิระดับ 10 กรมควบคุมโรค

จากนั้น นพ.ไพจิตร์แถลงว่า นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรี สธ. มอบหมายให้หาแนวทางลดจำนวนผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ให้เหลือน้อยที่สุด โดย สธ.จะร่วมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งส่วนกลางและภูมิภาคปรับแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยที่เข้าข่ายสงสัยโรค สำหรับแนวทางในการดูแลผู้ป่วย จัดแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มที่ 1.คือผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง มีอาการปอดอักเสบ ซึมผิดปกติ รับประทานอาหารไม่ได้ หรือได้น้อยกว่าปกติ หรือมีปัญหาร่างกายขาดน้ำอย่างรุนแรง หรืออาการไม่ดีขึ้นภายใน 48 ชั่วโมงของการป่วย ให้รับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาลและให้ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์เร็วที่สุด โดยไม่ต้องรอผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ กลุ่มที่ 2.ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง และเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อโรครุนแรง ให้ติดตามอาการอย่างใกล้ชิด อย่างน้อย 48 ชั่วโมง และพิจารณาให้ยาโอเซลทามิเวียร์ ถ้ามีอาการรุนแรงขึ้นภายใน 48 ชั่วโมงแรก หรืออาการไม่ดีขึ้นหลังจาก 48 ชั่วโมงไปแล้ว กลุ่มที่ 3.เป็นผู้ป่วยที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงต่อโรครุนแรง แนะนำวิธีการดูแลที่บ้าน ให้ยารักษาตามอาการ

ปลอบอย่ากังวลข้อสงสัยวัคซีน

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้มีข้อโต้แย้งเรื่องการผลิตวัคซีนชนิดเชื้อเป็นแบบพ่น อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ นพ.ไพจิตร์กล่าวว่า ประเทศรัสเซียมีการผลิตวัคซีนชนิดนี้มากว่า 30 ปี ซึ่งนำไปใช้กับประชาชนจำนวนมาก โดยไม่มีอันตราย อย่างไรก็ตาม ได้มอบหมายให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ออกมาชี้แจงเพื่อความมั่นใจ ที่สำคัญการจะผลิตวัคซีนได้มีระบบตรวจสอบความปลอดภัยอยู่แล้ว ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก แต่หากการผลิตวัคซีนชนิดนี้ไม่ผ่านกระบวนการตามมาตรฐาน เชื้อไวรัสชนิดเชื้อเป็นก็จะกลายเป็นเชื้อโรคทันที แต่ตามหลักการแล้วทุกอย่างต้องผ่านกระบวนการที่ถูกต้อง จึงไม่ต้องกังวล 

วงเสวนาพท.จี้แถลง3วัน/สัปดาห์

ขณะที่พรรคเพื่อไทย (พท.) จัดเวทีระดมความคิดหัวข้อ "ร่วมฝ่าวิกฤตไข้หวัด 2009Ž" ขึ้นที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ โดยมี นพ.สุชัย เจริญรัตนกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ผู้เชี่ยวชาญระบบทางเดินหายใจ เป็นผู้อภิปรายชูโรงร่วมกับ ส.ส.พท. การอภิปรายเวทีนี้ผู้อภิปรายโจมตีการทำงานของรัฐบาลว่า นโยบายฝ่ายการเมืองสับสน ทำให้ฝ่ายปฏิบัติไม่มีแนวทางการทำงานชัดเจน และประมาทจนเกินไปทำให้เชื้อไข้หวัดแพร่กระจายกันอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังแก้ไขปัญหาแบบอ่านตำรามาบริหารทำให้ปัญหานี้ไม่คลี่คลาย อีกทั้งยังได้เรียกร้องให้แสดงความโปร่งใสโดยแจ้งสถิติผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วย หรือผู้เสียชีวิตเช่นเดิม หรือไม่ก็ 3 วันต่อสัปดาห์ แทนที่จะเป็นสัปดาห์ละครั้ง เพื่อจะได้เป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์ และประชาชนได้รับรู้ข้อมูลที่แท้จริง

นายวิชาญ มีนชัยนันท์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ให้คะแนนสำหรับแก้ไขปัญหาและการสร้างความเชื่อมั่นของรัฐบาลแค่ 0 คะแนน เพราะปล่อยให้เชื้อแพร่ระบาดจนป้องกันไม่ได้ ดังนั้นหากจะมีการใช้วัคซีน ผมจึงเสนอให้นายกฯและ ครม.ฉีดวัคซีนเป็นตัวอย่างให้ประชาชนเห็นว่าวัคซีนไม่อันตราย ทั้งนี้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน 

อวดกึ๋นเสนอ4มาตรการสู้หวัด

จากนั้น นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พท. ประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า จากการระดมความคิดเห็น พท.ขอเสนอแนะและเสนอมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด 4 มาตรการ คือ 1.มาตรการสำหรับการป้องกันโรค รัฐบาลต้องตระหนักว่าโรคนี้รุนแรงกว่าเชื้อไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล แพร่ระบาดได้ง่าย ดังนั้นต้องยอมรับและไม่ปกปิดข้อมูลเพื่อกำหนดนโยบายที่เหมาะสม อีกทั้งควรพิจารณาการแพทย์ทางเลือกในการรณรงค์ให้ประชาชนมีความรู้เรื่องการสร้างความภูมิคุ้มกันจากภายใน เช่น การออกกำลังกาย การรับประทานอาหาร การให้วัคซีนป้องกันโรค และรัฐบาลควรระมัดระวังและศึกษาถึงข้อดีข้อเสียของวัคซีนอย่างรอบคอบ 2.มาตรการเชิงรุก รัฐบาลควรตัดวงจรการแพร่ระบาดด้วยการปิดโรงเรียน โรงภาพยนตร์ โรงมหรสพ 14 วันทั่วประเทศเพื่อพ่นยาทำความสะอาดและกำหนดมาตรการรองรับอย่างเป็นระบบ 

3.มาตรการเชิงรับ รัฐบาลจะต้องเพิ่มจำนวนห้องปฏิบัติการ เพื่อให้สามารถวิเคราะห์และวินิจฉัยโรคเพื่อให้สามารถรายงานผลให้ได้ภายใน 24 ชั่วโมง อีกทั้งควรเตรียมยาโอเซลทามิเวียร์ และพิจารณาจ่ายยาให้ผู้ป่วยอย่างทันท่วงที และ 4.ข้อเสนอแนะเชิงการบริหารจัดการ รัฐบาลควรตั้งคณะกรรมการรับผิดชอบแบบบูรณาการ โดยมีหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนร่วมกันกำหนดนโยบายและประชุมติดตามความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ทุกสัปดาห์ รวมทั้งควรตั้งศูนย์ปฏิบัติการระดับชาติและระดับกระทรวง นอกจากนี้ควรกำหนดตัวผู้รับผิดชอบโดยตรงในแต่ละจังหวัด เพื่อให้ข้อมูลกับประชาชนและร่วมประชุมกับผู้ว่าราชการจังหวัดทุกวัน รัฐบาลควรขอความร่วมมือกับสถานีโทรทัศน์และวิทยุ เพื่อเสนอรายการที่สร้างความรู้ความเข้าใจ และการป้องกันรักษาที่ถูกวิธี ซึ่งควรเผยแพร่ข้อมูลทุกวัน ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศทุกวันจันทร์ พุธ ศุกร์ ซึ่งเป็นการรายงานตามหลักสากล ทั้งนี้ ประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานของแพทย์และต้องมอบนโยบายที่ชัดเจนต่อ อสม.ผู้ปฏิบัติงาน

กทม.พร้อมปิด"435ร.ร."รอบ 2

พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานเปิดงานบิ๊ก คลีนนิ่งเดย์ ที่บริเวณตึกอำนวยการวิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานคร และวชิรพยาบาล เมื่อเวลา 08.00 น. มีคณะผู้บริหารของโรงพยาบาลนำโดย นพ.ชัยวัน เจริญโชคทวี ผู้อำนวยการวิทยาลัยแพทยศาสตร์ พร้อมข้าราชการและเจ้าหน้าที่ประมาณ 100 คน ร่วมกิจกรรมกวาดพื้นล้างถนน ทั้งภายในอาคารและภายนอกโรงพยาบาลรวมถึงบริเวณใกล้เคียง เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 โดยทุกคนต่างสวมหน้ากากอนามัย

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมคณะผู้บริหาร ลงพื้นที่บริเวณลานวิคตอรี่พ้อยท์ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อรณรงค์แจกหน้ากากอนามัยและทำความสะอาดบริเวณทางเท้า รวมทั้งยังทำความสะอาดตู้โทรศัพท์สาธารณะ

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์กล่าวว่า พร้อมจะปิดสถานศึกษาในสังกัด กทม.จำนวน 435 แห่ง อีกเป็นครั้งที่ 2 ภายหลังสั่งปิดระหว่างวันที่ 15-19 กรกฎาคม หากยังพบว่าการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ไม่ลดลง แต่สิ่งที่กังวลในขณะนี้คือ ลักษณะทางกายภาพของโรงเรียนในสังกัด กทม. เป็นโรงเรียนที่อยู่ติดแหล่งชุมชน ทำให้การแพร่ระบาดของเชื้อเป็นไปได้โดยง่าย จึงต้องมีการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

"ฮู"ชี้อาจทำศก.โลกชะลอฟื้น2-3ปี

องค์การอนามัยโลกเปิดเผยรายงานระบุว่า การแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009 ทั่วโลก กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในระดับที่ไม่คาดคิดมาก่อน โดยได้ยกตัวอย่างว่า การแพร่ระบาดของไข้หวัดนกนั้นใช้เวลามากกว่า 6 เดือน ขณะที่ไข้หวัดใหญ่ 2009 ใช้เวลาไม่ถึง 6 สัปดาห์ในการแพร่ระบาด นอกจากนี้องค์การอนามัยโลกยังเตือนว่า การแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009 อาจทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อไปทั่วโลก และชะลอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกออกไปอีกราว 2-3 ปี แม้ว่ารายงานเบื้องต้นจะพบว่า ไข้หวัดใหญ่ 2009 ไม่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมมากนักก็ตาม

อย่างไรก็ดี ในชั้นนี้ทางองค์การอนามัยโลกจะยุติการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนผู้ติดเชื้อไว้ก่อน เพื่อเปิดโอกาสให้ประเทศต่างๆ ได้หาช่องทางในการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการพัฒนาและรูปแบบการแพร่ระบาดของโรคในลักษณะที่ผิดปกติ เนื่องจากเกรงว่าเชื้อไวรัส H 1 N 1 จะเข้าไปรวมตัวกับโรคอื่นๆ ทำให้มีความรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม

ในส่วนของรายงานจากประเทศต่างๆ นั้น องค์การอนามัยโลกจะยังขอให้แต่ละประเทศส่งรายงานเกี่ยวกับผู้ติดเชื้อรายแรก พร้อมทั้งส่งรายงานประจำสัปดาห์เกี่ยวกับจำนวนผู้ป่วยรวมถึงรายละเอียดด้านระบาดวิทยาของผู้ป่วยรายแรกๆ ให้ต่อไป เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพในการยับยั้งการแพร่ระบาด


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์