เหยียดชาติเพื่อนบ้าน ปมซ้ำเติมแรงงานเด็ก


มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน สสย. และองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ จัดแถลงข่าวคอนเสิร์ต "เปิดพรมแดน" พร้อมจัดเสวนาเรื่อง "สื่อ ความรุนแรง การแบ่งแยกชาติ พันธุ์ และแรงงานเด็ก" เพื่อรณรงค์วันต่อต้านการใช้แรงงานเด็ก ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน

ดร.โคทม อารียา ประธานคณะกรรมการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) กล่าวว่า เราเปิดใจรับคนต่างชาติให้เข้ามาลงทุน แต่กลับไม่เห็นคุณค่ายิ่งใหญ่ของความเป็นมนุษย์ ทั้งที่เป็นคนสัญชาติไทย เชื้อชาติไทย หรืออาจมีเชื้อชาติต่างกัน รวมถึงคนต่างชาติ เขาเหล่านั้นคือคนสำคัญสามารถเปลี่ยนเป็นทรัพยากร เป็นทุนทางสังคม หรือเป็นปัญหาทางสังคมได้เหมือนกัน และการศึกษาทำให้เรามองเพื่อนบ้านอย่างไม่เข้าใจ มองอย่างดูแคลน ซึ่งเป็นปัญหามากสำหรับสังคมไทยทำให้เกิดปัญหาหลายอย่าง

ประธานคณะกรรมการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก กล่าวว่า เดิมเรามีปัญหาการใช้แรงงานเด็กอีสานถูกบังคับใช้แรงงานเยี่ยงทาส ซึ่งปัญหาก็เบาบางลง แต่ที่ยังมีอยู่บ้างคือแรงงานเด็กต่างชาติ เรื่องนี้มีข้อตกลง ปฏิญญา อนุสัญญาขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศซึ่งเราปฏิบัติบ้างไม่ปฏิบัติบ้าง แต่ว่าไม่ว่าจะมีเชื้อชาติใด ก็น่าจะได้รับค่าแรงงานขั้นต่ำ มีโอกาสได้รับประกันสังคม น่าจะมีการเข้าถึงค่าทดแทนเมื่อบาดเจ็บ พิการ หรือเสียชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีการใช้แรงงานเด็กอย่างกับทาส ซึ่งมีภาษาเฉพาะเรียกว่า แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย เราไม่อยากจะให้มีการใช้แรงงานเด็ก ถ้าจำเป็นต้องใช้อย่างทะนุถนอม เหมือนต้นไม้ที่เป็นหน่ออ่อน ถ้าให้ต้นไม้ทำงานหนักในวิธีใดก็ตาม ต้นไม้ก็ไม่โต เด็กก็เหมือนกัน ฉันใดก็ฉันนั้น เขาต้องการการเจริญเติบโต ต้องการอาหาร ความอบอุ่น ความมั่นคง อย่าไปกีดกัน แบ่งแยกว่า คนนี้คือคนไทย คนนี้เป็นต่างชาติ

เข็มพร วิรุณราพันธ์ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) กล่าวว่า นักวิจัยประเมินว่ามีเด็กจากประเทศเพื่อนบ้านไม่ต่ำกว่า 250,000 ราย เป็นเด็กที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน และลูกหลานของเราก็อยู่ในสังคมกับเขาเหล่านั้น

ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการเด็กที่มาจากลูกหลานแรงงานอพยพที่สิทธิเรียนร่วมกับเราได้ แต่การอยู่ร่วมกันนั้นกลับมีมิติความรุนแรง จากอคติที่เรามองเพื่อนบ้านเป็นคนที่ด้อยกว่าหรือไม่เห็นคุณค่า

จากตัวอย่างเด็กที่รับใช้ในบ้านซึ่งมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็กเข้าไปช่วยเหลือหลายครั้งพบว่า ถูกนายจ้างทำร้ายจนเลือดตกยางออก หรือถูกหยิกเป็นแผล เอาพริกโรย น้ำร้อนลวก และเด็กเหล่านี้ยังถูกกระทำซ้ำจากหลายๆ กระบวนการ นอกจากนี้เขาถูกทารุณมากขึ้นเพียงเพราะเขาเป็นเด็กต่างชาติรวมถึงแรงงานเด็กที่อยู่ในโรงงาน ซึ่งแม้จะมีแรงงานเด็กไทยแต่ก็จะไม่โดนทารุณมาก แต่ถ้าเป็นเด็กลาว พม่าจะถูกทารุณมากกว่า ซึ่งสะท้อนความเชื่อและอคติที่ว่า เรามองเขาแตกต่างและด้อยกว่าเรา

เข็มพร กล่าวอีกว่า ในอดีตการนำเสนอเรื่องแรงงานต่างชาติหรือเด็กต่างชาติ เหมือน มีอสรพิษอยู่ในบ้าน เป็นการตอกย้ำ ความรุนแรง การแบ่งแยก สื่อหลายเรื่องทั้ง ละคร ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ที่ตอกย้ำในแง่มุมเดียวโดยไม่ได้มองอีกมิติของความแตกต่างของประเทศ การตอกย้ำทำให้มีอคติเพิ่มมากขึ้นซึ่งไม่เป็นผลดี และการเสนอแต่ภาพรวม โดยไม่ได้แยกแยะ ไม่ได้มองว่าทุกชุมชนมีทั้งคนดีและไม่ดี คนไทยเองมีทั้งดีและไม่ดี เป็นผู้กระทำเช่นกัน บางครั้งการนำเสนออยากให้มีการมองแบบแยกแยะและนำไปสู่สันติ จะทำอย่างไรจะนำไปสู่การแก้ปัญหาในระยะยาว ที่จะช่วยให้สังคมสันติสุข ให้คุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ถ้ายิ่งสร้างความรุนแรง สิ่งเหล่านี้ก็จะสะท้อนกลับมาที่ลูกหลานของเราด้วย

ขณะที่ น.ส.ลัดดา เบญจเตชะ ผู้อำนวยการสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านเกร็ดตระการ กล่าวถึงสถานการณ์ของเด็กต่างชาติที่เข้ามาอยู่ในบ้านว่า เด็กต่างชาติทั้งหญิงชายใน 300 คน ที่อยู่ในบ้านนั้น ร้อยละ 80 เป็นพม่า ถัดมาร้อยละ 50 เป็นลาว ร้อยละ 10 เป็นกัมพูชา และที่เหลือเป็นสัญ ชาติอื่นๆ เช่น เวียด นาม จีนและอื่นๆ ซึ่งภาพรวมเป็นเหยื่อหรือเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ รวมถึงได้รับความเสียหายด้านต่างๆ เช่น ทำงานบ้าน ขอทาน ขายดอกไม้ และขายบริการทางเพศ

ปัญหาที่พบมากของเด็กคือ เรื่องสุขภาพ โรคติดต่อทางผิวหนัง และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่ขณะเดียวกันการอยู่ร่วมกันนั้น เรื่องของอายุและสัญชาติ ก็ทำให้มีความต่างทั้งเรื่องของการกินอยู่ รวมถึงวิถีวัฒนธรรมทางศาสนา เนื่องจากอคติในเชิงชาติพันธุ์ และอคติทางฐานะเศรษฐกิจ ทำให้แรงงานต่างชาติไม่ได้รับสิทธิ์เท่าเทียมกัน

ดร.สุวจี กู๊ด จากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) กล่าวว่า เราพยายามกระตุ้นว่าจะทำอย่างไร คนทุกคนเห็นสิทธิ์แรงงานของคนเหล่านี้เท่าเทียมกัน และจากการทำงานพบว่า ไม่ใช่แค่คนงานต่างชาติที่ถูกดูถูก แต่แรงงานไทยเองก็ถูกดูถูกเช่นกัน

ในฐานะคนทำงานชั้นล่าง แต่คนต่างชาติจะถูกดูถูกมากกว่าและถูกทำร้าย เอารัดเอาเปรียบต่างๆ นานา ขณะที่สถานะของเด็ก ความอ่อนด้อยที่ไม่สามารถปกป้องดูแลตัวเองได้ มักถูกเอารัดเอาเปรียบมากกว่าคนอื่น เวลาเด็กถูกนายจ้างทุบตีหรือว่ากล่าว เขาไม่กล้าพูด เพราะกลัวถูกทำร้ายมากขึ้น จะเก็บไว้จนกว่าจะทนไม่ได้จึงจะมีการร้องขอจากผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และทั่วโลกได้รณรงค์ให้ดูแลเด็กผู้หญิงในบ้าน เพราะเป็นแรงงานที่ถูกทำร้ายมากที่สุด

ดร.สุวจีกล่าว่า อยากให้เกิดสหภาพหรือองค์กรสมาชิกที่ลูกจ้างซึ่งทำงานบ้านต่อรอง เรียกร้องสิทธิ์หรือผลประโยชน์ของตัวเองได้ ซึ่งยังไม่สำเร็จแต่เป็นแนวทางหนึ่งที่จะทำให้มีอำนาจในการต่อรองกับนายจ้างมากขึ้น

การนำมาซึ่งสันติที่เริ่มจากใจของแต่ละคนว่า เรามีอคติกับคนแต่ละเชื้อชาติอย่างไร มีอคติต่อคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจต่างจากเราอย่างไร และเราจะเปิดใจรับเขาเป็นคนในครอบครัวเดียวกันกับเราหรือไม่

ถึงแม้จะเป็นลูกจ้างแต่เราไม่ใช่เจ้าชีวิตของเขา ลูกจ้างควรมีอิสระ เสรีภาพในการปฏิบัติงาน และควรได้รับการดูแลอบรม เหมือนกับที่คนอื่นๆ ได้รับ โดยเฉพาะเรื่องทักษะฝีมือ อาชีพ

ในระดับสากลนั้นเริ่มกล่าวกันว่า งานในบ้านน่าจะเป็นอาชีพที่มีคุณค่าได้ มีการอบรมทักษะอาชีพได้ อย่างในประเทศอินโดนีเซีย หรือฟิลิปปินส์ ตั้งสมาคมอบรม ให้มีทักษะที่เหมาะสมและไปทำงานในบริษัทต่างๆ หรือทำงานในประเทศที่ 3 หรือประเทศที่อยากไปได้ เพื่อเพิ่มศักยภาพและดูแลตัวเอง

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์