เหนือ-อีสานผวาพายุจ่อถล่มอีกระลอก

ภัยธรรมชาติเล่นงานไทยอ่วม ปภ.เผยพายุจ่อถล่มอีกหลายลูก อุตุฯย้ำร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือ อีสานตอนบน ส่งผลให้มีฝนตกหนักถึงหนักมาก ขณะที่ฝนถล่มเชียงรายจมน้ำแล้ว  จนต้องสั่งปิดโรงเรียนยาว ส่งผลกระทบจนต้องประกาศภัยพิบัติใน 22 จังหวัด พบมีผู้เสียชีวิตแล้ว 22 ราย “ปู”ลุยน้ำช่วยเหลือผู้ประสบภัย ตั้งศูนย์ฮอตไลน์ช่วยน้ำท่วมแบบบูรณาการ

“ปู”สั่งเร่งช่วยเหลือน้ำท่วม 

   
เมื่อวันที่ 11 ส.ค.เวลา 10.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการครม. แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำให้ครม.เร่งแก้ปัญหาอุทกภัยที่เกิดจากพายุนกเตนอย่างเร่งด่วน จากนั้นน.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมประชาชน ในพื้นที่ จ.อุตรดิตถ์ สุโขทัย แพร่ น่าน รวมทั้งมอบหมายให้รัฐมนตรีและส.ส.ในพื้นที่ลงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอุทกภัย พร้อมมอบให้กระทรวงมหาดไทย โดยคณะกรรมการคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร(คชก.) เป็นหน่วยงานหลักในการประสาน เยียวยา ช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อน

ตั้งศูนย์ฮอตไลน์ช่วยน้ำท่วม 


นายอำพน กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ได้มอบหมายให้สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งศูนย์ศูนย์ฮอตไลน์ 1111 คอยรับเรื่องร้องเรียน รวมทั้งการรับบริจาคด้วย และให้กรมประชาสัมพันธ์คอยทำหน้าที่แจ้งเตือนการรายงานข่าวสาร ข้อมูล ข้อเท็จจริง รวมถึงกระทรวงการคลังให้ไปพิจารณาปรับกฎเกณฑ์ เพื่อนำเงินสำรองจ่ายในจังหวัดที่ประสบภัยให้เกิดความคล่องตัว เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว
    
ขณะที่ที่ประชุมครม.ยังมอบหมายให้กระทรวงเกษตรฯและกระทรวงมหาดไทยดำเนินการจัดทำรายงานสถานการณ์ต่าง ๆ และเร่งสำรวจความเสียหายพื้นที่เป็นพื้นที่ทางการเกษตร และหลังจากรัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้วจะมีโครงการช่วยเหลือฟื้นฟูต่อไป รวมทั้งให้จัดตั้งคณะทำงานประชุมเชิงปฏิบัติการแก้ไขปัญหาระยะยาว เพื่อให้การบริหารจัดการลุ่มน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพแบบบูรณาการ

น้ำเหนือจ่อท่วมปากน้ำโพ
   
ด้าน นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ จ.นครสวรรค์ ยังไม่ส่งผลให้เกิดปัญหาน้ำล้นตลิ่งท่วมทุ่ง 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาแต่อย่างใด แต่อย่างไรก็ตาม ประชาชนต้องเฝ้าระวังเตรียมรับสถานการณ์อุทกภัยที่อาจจะเกิดซ้ำในพื้นที่เดิมต่อไป เนื่องจากน้ำเหนือไหลลงมามีปริมาณมาก รวมทั้งมีฝนตกในพื้นที่
   
ทั้งนี้ จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่า มีพื้นที่เกษตรเสียหาย 1.4 ล้านไร่ ใน 28 จังหวัด และคาดว่าจะขออนุมัติใช้หลักการช่วยเหลือเกณฑ์กับอุทกภัยปี 2553 โดยช่วยเหลือ 50 เปอร์เซ็นต์ของราคาทุน ในกรณีเสียหายโดยสิ้นเชิง นาข้าว ช่วยเหลือไร่ละ 2,065 บาท พืชสวนไร่ละ 3,250 พืชไร่ ไร่ละ 1,800 บาท ขณะที่เกณฑ์ช่วยเหลือปัจจุบันยังอยู่ไร่ละ 606 บาทเท่านั้น


ฝนถล่มเชียงรายจมน้ำ
   
ที่ จ.เชียงราย เกิดฝนตกหนักและต่อเนื่องตลอดคืนที่ผ่านมา จนทำให้น้ำมีปริมาณมากและระบายลงสู่แม่น้ำกกไม่ทัน ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังในเขตเทศบาลนครเชียงรายเป็นบริเวณกว้างจำนวนหลายจุด  ส่วนใหญ่ในย่านการค้าสำคัญ และถนนสายหลักบริเวณถนนรพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ และสถานีขนส่งเทศบาลนครเชียงราย ตลอดจนย่านตลาดเชียงรายไนท์บาซาร์ มีท่วมถนนและร้านค้าทั้ง 2 ฝั่ง ระดับน้ำสูงกว่า 50 เซนติเมตร และรถเล็กไม่สามารถสัญจรผ่านไปมาได้
   
ขณะที่เทศบาลนครเชียงรายได้นำกระสอบทรายไปแจกจ่ายให้กับประชาชนนำไปวางเป็นแนวบริเวณหน้าบ้าน เพื่อป้องกันน้ำไหลเข้าท่วมทรัพย์สินภายในบ้านเสียหาย นอกจากนี้สถานการณ์น้ำท่วมยังไม่น่าไว้วางใจ เนื่องจากมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ทางสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงราย (ปภ.) จึงประกาศเตือนภัยให้ประชาชนที่มีบ้านเรือนในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมพร้อมและเฝ้าระวังเหตุน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากใน 1-2 วันนี้ด้วย

ทำนบพัง-ปิดโรงเรียนยาว

ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ ต.ท่าช้าง อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก พบว่ายังไม่คลี่คลายและมีทีท่าว่าชาวบ้านต้องเผชิญน้ำท่วมขังทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น เนื่องจากทำนบกั้นน้ำคลองจระเข้ ต.บ้านใหม่สุขเกษม อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย เกิดพังทลาย จนทำให้น้ำจากแม่น้ำยมไหลเข้าสู่หมู่บ้านบ้านใหม่สุขเกษตรและไหลมาสมทบที่บ้านคลองเมม ส่งผลให้มีน้ำที่ท่วมขังในบ้านคลองเมมเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มว่าระดับน้ำจะเพิ่มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะที่โรงเรียนวัดเมมสุวรรณนาราม สั่งปิดการเรียนการสอนมากว่า 1 สัปดาห์แล้ว และคาดว่าต้องสั่งปิดต่อไปโดยไม่มีกำหนด โดยในเบื้องต้นมีตำรวจตระเวนชายแดนที่ 31 ค่ายพระยาจักรี จ.พิษณุโลก นำกำลังกว่า 30 นาย นำเรือท้องแบน 2 ลำเข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนแล้ว

เตือนภัยสัตว์มีพิษหนีน้ำ
   
ขณะที่ จ.นครสวรรค์ นายชัยโรจน์ มีแดง ผวจ.นครสวรรค์ นางอมรรัตน์ มีแดง นายกเหล่ากาชาด จ.นครสวรรค์ นำเรือท้องแบนไปมอบให้กับประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ ต.ท่าไม้ อ.ชุมแสง พร้อมมอบสิ่งของและน้ำดื่ม เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อน 233 ครัวเรือน

ขณะเดียวกัน นายสมบูรณ์ ศรีสุเทพ ปศุสัตว์ จ.นครสวรรค์ ได้แจ้งเตือนประชาชนที่บ้านถูกน้ำท่วมขังหรือมีบ้านพักอยู่ริมน้ำ ว่า ขอให้ระมัดระวังภัยจากสัตว์มีพิษชนิดต่าง ๆ อาทิ แมงป่อง ตะขาบ โดยเฉพาะงู ที่หนีภัยมากับน้ำท่วมเพราะอาจได้รับอันตรายจากสัตว์มีพิษโดยไม่ตั้งใจ หรือหากพบสัตว์ชนิดดังกล่าวเข้ามาอาศัยในบ้านพักให้แจ้งเจ้าหน้าที่มาจับไปไว้ในที่ปลอดภัย

มอบของช่วยเหลือน้ำท่วม
   
ที่บริเวณหอประชุมอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดย นายประสงค์ พิทูรกิจจา เลขาธิการมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ นำถุงยังชีพพระราชทานมอบให้แก่ราษฎรประสบภัยน้ำท่วม ในพื้นที่จ.แม่ฮ่องสอน อ.แม่สะเรียง รวม 1000 ครอบครัว  โดยมี นายอนันตพล บุญชู  นายอำเภอแม่สะเรียง พร้อมส่วนราชการในพื้นที่ นำราษฎรที่ประสบภัยเข้ารับการช่วยเหลือ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนหลังจากประสบภัยน้ำป่าไหลหลากและดินโคล่มทับบ้านเรือนได้รับความเสียหาย

ประกาศภัยพิบัติ 22 จังหวัด
   
ด้าน นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า ภาวะฝนตกหนักจากอิทธิพลของพายุโซนร้อนนกเตน ส่งผลให้เกิดสถานการณ์อุทกภัยในหลายพื้นที่ โดยมีจังหวัดประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) รวม 22 จังหวัด 205 อำเภอ 1,310 ตำบล 10,482 หมู่บ้าน ได้แก่ แพร่ เชียงใหม่ สุโขทัย น่าน ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน อุตรดิตถ์ พิจิตร พิษณุโลก ตาก นครสวรรค์ นครพนม อุดรธานี หนองคาย มุกดาหาร บึงกาฬ สกลนคร เลย เพชรบูรณ์ ประจวบคีรีขันธ์ และพระนครศรีอยุธยา

มีผู้เสียชีวิตแล้ว 22 ราย
   
ขณะที่มีชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน 595,923 ครัวเรือน 1,830,108 คน บ้านเรือนเสียหายบางส่วน 217 หลัง พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะได้รับความเสียหาย 1,481,052 ไร่ ถนน 1,085 สาย ท่อระบายน้ำ 115 แห่ง ฝาย/ทำนบ 20 แห่ง สะพาน/คอสะพาน 72 แห่ง บ่อปลา/บ่อกุ้ง 558 บ่อ ปศุสัตว์ 474 ตัว มีผู้เสียชีวิต 22 ราย แยกเป็น จ.อุดรธานี 1 ราย เชียงใหม่ 2 ราย แพร่ 6 ราย แม่ฮ่องสอน 7 ราย สุโขทัย 4 ราย นครพนม 2 ราย สูญหาย 1 คน จากเหตุการณ์ดินโคลนถล่มใน จ.แม่ฮ่องสอน ปัจจุบันสถานการณ์อุทกภัยคลี่คลายแล้ว 14 จังหวัด ได้แก่ น่าน ลำพูน ลำปาง เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน แพร่ เพชรบูรณ์ เลย หนองคาย นครพนม อุดรธานี บึงกาฬ สกลนคร ประจวบคีรีขันธ์ ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใน 8 จังหวัด รวม 55 อำเภอ 371 ตำบล 2,615 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน 142,073 ครัวเรือน  391,810 คน ได้แก่ สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิจิตร พิษณุโลก ตาก นครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา และมุกดาหาร

พายุจ่อถล่มไทยอีกหลายลูก
   
นายวิบูลย์ กล่าวด้วยว่า จากการตรวจสภาพอากาศ คาดว่าในปีนี้อาจมีพายุเคลื่อนตัวผ่านประเทศไทยอีกหลายลูก ส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนค่าเฉลี่ยสูงกว่าปกติ และอาจทำให้พื้นที่เสี่ยงภัย โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาที่มีดินชุ่มน้ำอยู่แล้ว จนไม่สามารถอุ้มน้ำไว้ได้และพังถล่มลงมา รวมถึงพื้นที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำอาจเกิดภาวะน้ำล้นตลิ่ง และส่งผลกระทบขยายวงกว้างและรุนแรงมากขึ้น จึงสั่งกำชับให้ทางจังหวัดจัดกำลังเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจ ปฏิบัติหน้าที่เฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัย รวมทั้งให้ประเมินวิเคราะห์สภาวะอากาศและสถานการณ์น้ำตลอด 24 ชั่วโมง
 

ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง

มรสุมพัดผ่านเหนือ-อีสาน
   
วันเดียวกัน กรมอุตุนิยมวิทยารายงานสภาพอากาศว่า ในช่วงวันที่ 11-12 ส.ค. 2554 ร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนตกชุกหนาแน่น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน จึงขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณจ.แม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา น่าน ลำปาง ลำพูน แพร่ อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ เลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม และมุกดาหาร ให้ระมัดระวังอันตรายจากฝนตกหนัก ซึ่งอาจจะทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ในระยะนี้.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์