เศรษฐกิจปลายปีฟื้น!กระตุ้นใช้บัตรเครดิต

เศรษฐกิจยังไม่โงหัว บรรดาธนาคารพาณิชย์ยักษ์ใหญ่ เริ่มโหมโรง รุกขยายตลาดบัตรเครดิต เติมสีสันด้วยการเปิดตัวบัตรใหม่ ๆ

เพิ่มสิทธิประโยชน์ด้วยแคมเปญเร้าใจ เพื่อปลุกกระแสบัตรพลาสติกให้กลับมาคืนชีพ หลังจากที่ธุรกิจดังกล่าว มึน ซึม ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เพราะได้รับผลกระทบอย่างจัง จากเศรษฐกิจ ที่ซบเซา ประชาชนชะลอการจับจ่ายใช้สอย ถูกลดเงินเดือน บางส่วนถูกเลิกจ้างกลับไปนอนก่ายหน้า ผากอยู่บ้านเฉย ๆ จากธุรกิจบัตรรูดปรื๊ด รูดปรื้ด แปลงร่างเป็นบัตรรูดฝืด...ในบัดดล

สถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ หรือนอนแบงก์ ที่เป็นหนึ่งในเจ้ายุทธจักรบัตรเครดิตได้ไขข้อข้องใจว่าทำไม ถึงได้เปิดตัวบัตรเครดิต

และกระหน่ำแคมเปญในช่วงเวลาเช่นนี้ “ธวัชชัย ธิติ  ศักดิ์สกุล” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส สายธุรกิจบัตรเครดิต บริษัท บัตรกรุงไทย หรือ เคทีซี กล่าวว่า การเปิดตัวบัตรเครดิตใหม่ ๆ ของบรรดาแบงก์พาณิชย์ ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะการออกบัตรเครดิตใหม่ ในแต่ละครั้งนั้น ต้องวางแผน และใช้เวลาไม่น้อย ซึ่งก็สอดคล้องกับช่วงปลายปีที่มีการจับจ่ายใช้สอยพอดี เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวการใช้จ่ายผ่านบัตรจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 20-30% ทีเดียว และธุรกิจบัตรเครดิตต่างมีรายการส่งเสริมการขายเพื่อกระตุ้นตลาดอีกทางหนึ่งด้วย

ขณะเดียวกันมองว่าทุกคนต่างเห็นสัญญาณเศรษฐกิจไทยที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น คือ ถึงจุดต่ำสุดแล้ว และคงไม่ลงต่ำไปกว่านี้ แต่ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มปรับตัวไต่ระดับขึ้นได้เมื่อใด

ในส่วนของเคทีซีนั้น ที่ผ่านมาก็มีบัตรเครดิตรูปแบบต่าง ๆ ไม่น้อยกว่า 200 ประเภท และเปิดตัวอย่างต่อเนื่อง เพราะบริษัทมีนโยบายแบ่งกลุ่มลูกค้า ออกบัตรที่มีสิทธิประโยชน์การใช้ ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของลูกค้าเป็นสำคัญ ซึ่งที่ผ่านก็ประสบความสำเร็จพอสมควร แม้ว่าปีนี้จำนวนบัตรเครดิตมีอัตราการเติบโต 6-7% หรือมีจำนวนบัตรอยู่ที่ 1.65 ล้านบัตร หรือเป็นบัตรใหม่ประมาณ 100,000-150,000 ใบในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวเช่นนี้อัตราการใช้จ่ายผ่านบัตรปรับตัวลดลง 3-4% ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เฉลี่ยไม่ถึง 2%


ทางด้านแบงก์ใบโพธิ์ เจ้าของบัตร “ไทย พาณิชย์ บียอนด์ แพลทินัม” ที่เพิ่งเปิดตัวน้องใหม่ล่าสุด “รุ่งเรือง สุขเกิดกิจพิบูลย์” ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า

บัตรใหม่ที่เราเปิดตัวไปนั้นได้วางแผนมาระยะหนึ่งแล้ว และกลุ่มลูกค้าที่ถือบัตรเครดิต ที่มีอยู่ประมาณ 1.8-1.9 ล้านใบ นั้นล้วนแล้วแต่เป็นลูกค้าที่มีธุรกรรมการเงินกับธนาคารมากกว่า 1 รายการขึ้นไป ดังนั้นความเสี่ยงของธุรกิจบัตรเครดิตจึงมีไม่มากนัก เฉลี่ยปัจจุบันแบงก์มีเอ็นพีแอลเพียง 2% เท่านั้น

“ปีนี้แบงก์ไม่ได้คาดหวังว่าจะเพิ่มจำนวนผู้ถือบัตรมากขึ้น แต่จะกระตุ้นให้ลูกค้าใช้จ่ายผ่านบัตรเพิ่มมากขึ้นมากกว่า โดยได้ปรับเปลี่ยนแผนธุรกิจของบัตรเครดิตตั้งแต่ปลายปี 51 แบ่งกลุ่มลูกค้า เช่น บัตรแฟมิลี่ บัตรบียอนด์ แพลทินัม เป็นต้น จากที่ได้เริ่มทำนโยบายดังกล่าวไปแล้ว ก็เห็นผลกลับมาได้ทันที โดย 7 เดือนแรกของปี 52 ยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเพิ่มขึ้นถึง 3% จาก 16 เป็น 19% ทั้งปีนี้คงได้เห็นที่ 20%”
การรุกตลาดธุรกิจบัตรเครดิตในช่วงนี้ มองว่าเป็นเวลาที่เหมาะสม เพราะปลายไตรมาสที่ 3 เข้าสู่ไตรมาสที่ 4 เป็นฤดูกาลจับจ่ายใช้สอย แม้ภาวะเศรษฐกิจจะทรง ๆ ตัวอย่างนี้ การซื้อของผ่านบัตรเครดิตก็ยังเพิ่มขึ้นจากเวลาปกติ 15-20% ส่วนทางด้านความเสี่ยงของธุรกิจนั้น มองว่าสามารถบริหารจัดการได้เพราะลูกค้าที่ถือบัตรเราได้คัดสรรแล้ว และพฤติกรรมการชำระคืนตรงตามระยะเวลา

ทางด้านแบงก์ต่างชาติ “วิชิต พยุหนาวีชัย” ผู้อำนวยการบริหาร ฝ่ายบุคคลธนกิจ ธนาคารเอช เอสบีซี กล่าวว่า ล่าสุดธนาคารได้เปิดตัวโปรโมชั่น

เจาะกลุ่มลูกค้าจับจ่ายใช้สอยออนไลน์มากขึ้น เพื่อกระตุ้นยอดใช้จ่ายบัตรช่วงปลายปี ทั้งนี้ธนาคารเชื่อว่าตลาดออนไลน์ยังมีแนวโน้มเติบโตได้แม้เศรษฐกิจหดตัว คาดว่าจะทำให้ธุรกิจจับจ่ายออนไลน์โตขึ้น 50% ในอนาคต ขณะนี้ยอดการใช้จ่ายผ่านธุรกิจ ออนไลน์มีมากกว่า 100 ล้านบาทต่อปี จากยอดใช้จ่ายรวมที่มีอยู่มากกว่าปีละ 10,000 ล้านบาท ธนาคารคาดว่าธุรกิจดังกล่าวจะสามารถทำให้โตได้อย่างก้าวกระโดด
“ในปีนี้ธนาคารจะไม่เพิ่มจำนวนบัตรเครดิตใหม่ จะคงฐานลูกค้าไว้ที่ 500,000 บัตร เพราะธนาคารต้องการเน้นคุณภาพลูกค้าและเพิ่มการใช้จ่ายผ่านบัตรมากกว่าจำนวนบัตร ซึ่งจำนวนบัตรดังกล่าวมีบัตรแพลทินัม 40% เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 10% เนื่องจากธนาคารเจาะกลุ่มลูกค้าระดับบนมากขึ้น เพราะเห็นว่าลูกค้าในกลุ่มนี้มีการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตค่อนข้างสูง ส่วนบัตรคลาสสิกมี 40% และบัตรทอง 20%”

สถาบันการเงินทุกค่ายต่างมองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ มีความหวังเรืองรองว่าเศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้น

แต่อย่าลืมว่าในสถานการณ์ที่กำลังจะเป็นบวกนี้ ก็เคยติดลบสุดขั้วมาแล้ว ก่อนที่ความหวังอันผ่องอำไพ จะบดบังให้หลับหูหลับตาเดินหน้าขยายธุรกิจแบบนอนสต๊อป ก็อย่าลืมเหลือบดูข้อมูลที่เป็นจริงของธนาคารแห่งประเทศไทย ในครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ตัวเลขสินเชื่อคงค้างของบัตรเครดิตรวมอยู่ที่ 182,806.94 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อน 2.07%

ในจำนวนหนี้คงค้างนี้แบ่งเป็น ของแบงก์พาณิชย์ไทย 65,086.27 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5.40% สาขาของธนาคารต่างชาติ 33,067.26 ล้านบาท ลดลง 3.81% และของนอนแบงก์ 83,853.46 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 2.09% ส่วนตัวเลขเอ็นพีแอลอยู่ที่ 5,908 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อน 7.48%

เท่านั้นยังไม่พอมีข้อมูลจากบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือเครดิตบูโร ตอกย้ำอีกว่า ยอดค้างชำระบัตรเครดิตในช่วง 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค.) ได้ปรับเพิ่มขึ้น 0.3% จากระบบข้อมูลที่อยู่ในระบบของเครดิตบูโร 17.52 ล้านราย มีทั้งหมด 58.6 ล้านบัญชี

ฉะนั้นอย่าหลงระเริงกับภาพลวง เศรษฐกิจไทยวันนี้อยู่เหนือการควบคุม จะเป็นโตแบบวีเชฟ  ยูเชฟดับเบิลยูเชฟ ยังไม่มีใครให้คำตอบได้...

แม้บัตรเครดิต จะเป็นธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนดีเลิศ ทั้งด้านดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียม แต่ความเสี่ยงที่เกิดขึ้น ก็ไม่ได้น้อยหน้าไปกว่าผลตอบแทนที่ได้รับ เพราะธุรกิจนี้ไร้หลักประกัน กลายเป็นหนี้เน่าก็เยอะ สถาบันการเงินต้องมานั่งตามล้างตามเช็ดหนี้เสีย นั่งทวงหนี้ทั้งภาคบู๊และบุ๋น สถาบันการเงินที่เสนอเงื่อนไขพิเศษเย้ายวนชวนให้เป็นหนี้ และลูกค้าใจง่ายที่รูดซื้อของแบบไม่ยั้งคิด ต่างก็รู้รสชาติหวานอมขมกลืนนี้ดีอยู่แก่ใจ.

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์