เมืองนนท์อ่วมแน่กรมชลผันน้ำเข้า

"สธ.ของบกลาง 157.6ล้านบาท"


เมืองนนท์อ่วม กรมชลฯเปิดประตูน้ำ 8 แห่ง รับน้ำจากทุ่งเจ้าเจ็ด-ผักไห่ อยุธยา ลดความเดือดร้อนของชาวบ้านตอนบน ก่อนส่งลงแม่น้ำท่าจีน นายกฯเตรียมแถลงมาตรการแก้ปัญหาน้ำท่วมแบบบูรณาการวันนี้ สธ.ของบกลาง 157.6 ล้าน บรรเทา-ฟื้นฟูสุขภาพอนามัยประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ขณะนี้ยอดสูงกว่า 5 แสนคน พร้อมระดมแพทย์จากจังหวัดใหญ่ลงไปช่วยรับมือด้วย เบื้องต้นกรมป้องกันฯคาดความเสียหาย 16 จว.สูญแล้วกว่า 300 ล้านบาท บิ๊กศธ.ระบุหากน้ำยังไม่ลดเลื่อนเปิดโรงเรียนได้ ขณะที่ผู้ว่าฯอภิรักษ์ลงพื้นที่ฝั่งธนฯ บางกอกน้อย เฝ้าจับตาน้ำเหนือที่คาดว่าไหลลงมาสทบกับน้ำทะเลที่จะหนุนสูงถึง 2.22 เมตร ระบุเหตุน้ำท่วมฝั่งธนฯ เพราะพวกบุกรุกไม่ยอมให้ทำเขื่อนกั้นน้ำ ส่วนที่สิงห์บุรีตายอีก 2 จมน้ำ-ไฟช็อต

-สธ.ขอ157ล.ฟื้นเหยื่อน้ำท่วม

เมื่อเวลา 11.15 น. วันที่ 24 ต.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังประชุมครม. ถึงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและการช่วยเหลือฟื้นฟูประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนว่า ยืนยันว่าการทำงานและการให้ความช่วยเหลือทุกหน่วยงาน มีการประสานงานกัน เพียงแต่พื้นที่ค่อนข้างกว้างอาจจะมีอุปสรรคบ้าง แต่การประสานงานก็มีทุกกระทรวงเพราะเราเน้นการทำงานในระบบบูรณาการ เพียงแต่อาจจะมีปัญหาบ้าง ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีอะไรสมบูรณ์ 100% โดยในวันที่ 25 ต.ค. รัฐบาลจะชี้แจงถึงการทำงานแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขเฉพาะหน้า หรือการเตรียมการเพื่อแก้ไขปัญหาหลังจากน้ำลดลงไปแล้วในทุกๆ ด้าน โดยตนได้รับทราบข้อมูลจากหลายๆ หน่วยงาน ในหลายๆ กระทรวง การแก้ปัญหาเรื่องน้ำต้องพูดกันถึงการแก้ไขปัญหาระยะสั้นและระยะยาว ข้อมูลต่างๆ ตนคิดว่าค่อนข้างจะครบถ้วน การแก้ไขปัญหาในระยะสั้นคิดว่าไม่มีปัญหา แต่ในระยะยาวก็ต้องมาพูดคุยกัน เพราะเป็นเรื่องที่ต้องดูแลให้รอบคอบทุกๆ ด้าน "ข้อมูลทั้งหมดนั้นมีอยู่แล้ว เราได้บูรณาการข้อมูลทั้งหมดและจะชี้แจงให้ประชาชนรับทราบต่อไป"

น.พ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมครม.ว่า ครม.ให้ความเห็นชอบงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัย 157.6 ล้านบาท ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ เพื่อใช้ในการบรรเทาความเสียหายและฟื้นฟูด้านสุขภาพอนามัยของประชาชน ตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้สำรวจความเสียหายและความต้องการฟื้นฟูสุขภาพอนามัยของประชาชน ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจจากปัญหาอุทกภัย

-คาดเสียหายแล้วกว่า300ล้าน


นายอนุชา โมกขเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า ความเสียหายขณะนี้ประมาณ 300 ล้านบาท ในพื้นที่ประสบอุทกภัย 16 จังหวัด แต่ปัญหาเบาบางลงบ้างแล้ว เชื่อว่าจังหวัดที่เดือดร้อนคงน้อยลง เพราะน้ำจากนครสวรรค์ลดลงแล้ว ระดับน้ำที่ผ่านอยุธยาก็มีระดับต่ำกว่าปี 2538 และปี 2545 เชื่อว่าสถานการณ์คงจะดีขึ้น และจากสถานการณ์น้ำเมื่อวันที่ 23 ต.ค.ที่ผ่านมา ทำให้คาดการณ์ได้ว่า น้ำที่จะเข้ากทม.ไม่เป็นอย่างที่วิตกกังวล ส่วนการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนเป็นอย่างมากนั้น ขอให้สบายใจได้ว่าไม่ขาดแคลนแน่นอน เพราะทั้งนายกฯและรมว.มหาดไทยได้ย้ำตลอดเวลาว่า ต้องทำให้ประชาชนได้รับความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องและทั่วถึง ในพื้นที่ก็ได้เข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิด

นายอนุชากล่าวว่า ส่วนความช่วยเหลือหลังน้ำลดจะเป็นการสำรวจความเสียหายของแต่ละอำเภอ จังหวัด ที่ต้องเร่งสำรวจโดยเร็วและเสนอเรื่องเข้ามายังส่วนกลาง เพื่อให้เร่งขอสนับสนุนงบฯกลางให้ แต่ตอนนี้เรามองข้ามไปถึงภาคใต้ 16 จังหวัดที่ต้องวางแผนเตรียมการรับมือ โดยเมื่อวันที่ 21 ต.ค. รมช.มหาดไทยได้ประชุมผู้ว่าฯ 16 จังหวัดภาคใต้ ตั้งแต่เพชรบุรีลงไป เพื่อวางแผนเตรียมการรับมือ เนื่องจากร่องฝนตอนนี้ลงไปทางภาคใต้แล้ว แต่จะหนักแค่ไหนก็อยู่ที่ระดับฝนที่จะตกลงมา เพราะถ้าตกต่อเนื่องจำนวนมากเหมือนภาคเหนือ ภาคกลางที่ผ่านมาก็น่าเป็นห่วง บางพื้นที่ที่น้ำท่วมซ้ำซาก คือช่วงแรกเป็นรอยต่อ 3 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ดังนั้น กระทรวงมหาดไทยจึงต้องเตรียมการล่วงหน้าในการเตือนภัยและการอพยพประชาชน

-"อภิรักษ์"เฝ้าน้ำสูงสุดในกรุงอีก

ด้านนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯกทม. ลงเรือตรวจสภาพแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจากเป็นวันที่น้ำทะเลหนุนสูง โดยเยี่ยมชุมชนริมคลองบางกอกน้อย คลองชักพระ และคลองมหาสวัสดิ์ เขตบางกอกน้อย คลองสาขาของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีปัญหาชุมชนบุกรุกริมคลอง ไม่สามารถก่อสร้างแนวเขื่อนกั้นน้ำได้ ทำให้น้ำไหลทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนเป็นจำนวนมาก

นายอภิรักษ์กล่าวว่า ปริมาณน้ำท้ายเขื่อนที่ปล่อยลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ที่ประมาณ 4,200 ลบ.ม.ต่อวินาที โดยมีน้ำทะเลหนุนสูงสุดเวลา 08.00 น. ระดับ 2.17 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งถือว่าสูงมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา อีกทั้งระดับน้ำทะเลในกทม.ไม่เคยหนุนสูงถึง 3 เมตรอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สถานการณ์ไม่น่าเป็นห่วงเพราะปริมาณน้ำเหนือที่ปล่อยเข้ากทม.ลดระดับลงแล้ว และไม่มีน้ำฝนตกลงมาอีก แต่กทม.จะเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงในวันที่ 25 ต.ค.นี้อีกครั้ง เนื่องจากคาดว่าระดับน้ำจะสูงที่สุดในรอบปีคือ 2.22 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

จากนั้นปริมาณน้ำจะทรงตัวไปจนถึงวันที่ 6-10 พ.ย.นี้ ซึ่งระดับน้ำทะเลจะหนุนสูงสุดอีกครั้ง ซึ่งในระหว่างนี้กทม.จะเร่งระบายน้ำในคลองหลวงแพ่ง คลองประเวศบุรีรมย์ และคลองแสนแสบ ที่ไหลผ่านพื้นที่ฝั่งตะวันออกให้ลดระดับต่ำที่สุด ซึ่ง 2 วันที่ผ่านมาสามารถระบายน้ำลดลงได้ 8-10 เซนติเมตรแล้ว ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้ในระดับหนึ่ง

-ชี้บ้านรุกล้ำไม่ยอมให้ทำเขื่อนกั้น


นายอภิรักษ์กล่าวว่า สำหรับพื้นที่ฝั่งตะวันตกที่มีปัญหา คือที่เขตบางกอกน้อยนั้น ฝั่งด้านเหนือยังมีพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำล้นตลิ่ง ไหลเข้าท่วมบ้านเรือน 3 ชุมชน คือ ชุมชนวัดดุสิตาราม ชุมชนสันติชนสงเคราะห์ และชุมชนท้ายซอยจรัญสนิทวงศ์ 41 ระยะทางประมาณ 1.5 ก.ม. เนื่องจากเป็นชุมชนรุกล้ำที่ไม่ยอมให้สำนักการระบายน้ำ (สนน.) ก่อสร้างแนวเขื่อนกั้นน้ำ ซึ่งตนได้เร่งให้สนน.ทำความเข้าใจกับชุมชนนอกแนวเขื่อนริมแม่น้ำเจ้าพระยา 33 ชุมชนด้วย คาดว่าภายในวันที่ 27 ต.ค.นี้ จะได้ข้อมูลเบื้องต้นทั้งหมดว่าชาวชุมชนยินยอมหรือไม่ ซึ่งหากชุมชนยินยอมก็จะสามารถสร้างแนวเขื่อนเสร็จภายในปี 2551

-ระดมหมอช่วยผู้ป่วย5แสนราย

น.พ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ได้ระดมหน่วยแพทย์จาก 3 จังหวัด มาช่วยพื้นที่น้ำท่วมหนักอีก 60 คน เพื่อสับเปลี่ยนกำลังแทนเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ โดยให้จ.นครราชสีมา ช่วยที่สิงห์บุรี จ.ชลบุรีช่วยที่พระนครศรีอยุธยา และราชบุรี นครปฐม ช่วยที่อ่างทอง โดยจะออกปฏิบัติงานจนถึงวันที่ 27 ต.ค. ส่วนยอดผู้เจ็บป่วยจนถึงวันนี้มีทั้งหมด 507,030 ราย กว่าร้อยละ 50 เป็นโรคน้ำกัดเท้า ผื่นคันตามตัว ยอดผู้ป่วยมากสุดที่อ่างทอง 44,140 ราย รองลงมาคือสิงห์บุรี 39,750 ราย นครสวรรค์ 35,452 ราย สุพรรณบุรี 26,644 ราย พิษณุโลก 26,207 ราย

น.พ.ปราชญ์กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขสั่งการให้ทุกจังหวัด ย้ำให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทุกระดับที่ออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ใส่เสื้อชูชีพทุกครั้งเพื่อความปลอดภัยและเป็นแบบอย่างแก่หน่วยงานอื่น ไม่ว่าจะว่ายน้ำเก่งแค่ไหน หากลงน้ำจำเป็นจะต้องใส่เสื้อชูชีพเสมอ

น.พ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า การทำงานของอสม.ในภาวะน้ำท่วม จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาปฏิบัติหน้าที่หมู่บ้านละ 2 คน นับตั้งแต่วันแรกที่น้ำท่วมอย่างรุนแรงในพื้นที่ จะดูแลสุขภาพประชาชนทั้งบนฝั่งและในน้ำท่ามกลางสายน้ำที่เชี่ยวกราก เช่น ตรวจวัดความดันโลหิต แจกยาและเวชภัณฑ์ สารส้ม คลอรีน รองเท้าบู๊ต รวมทั้งช่วยให้ความรู้ความเข้าใจในการเฝ้าระวังป้องกันโรคต่างๆ และเฝ้าระวังทรัพย์สินให้ประชาชนด้วย

-โวยเรือวิ่งคลื่นแรงซัดบ้านพัง


นายสมชาย ชุ่มรัตน์ ผู้ว่าฯพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ได้ประกาศพื้นที่ทั้งจังหวัด 16 อำเภอได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม โดยมีอำเภอที่ถูกน้ำท่วมทุกตำบล 8 อำเภอ ประชาชนเดือดร้อนกว่า 87,440 ครัวเรือน หรือ 280,097 คน เสียชีวิตรวม 18 คน วัดจมน้ำ 200 วัด โรงเรียน 150 แห่ง

ด้านนางอำไพ อู่โภคิน อายุ 75 ปี ชาวบ้านที่มีบ้านอยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา ต.บ้านใหม่ อ.พระนครศรีอยุธยา ร้องเรียนสำนักงานขนส่งทางน้ำที่ 2 ที่ออกประกาศว่า ห้ามวิ่งเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ในแม่น้ำเจ้าพระยาเพราะน้ำท่วมอย่างหนัก และคลื่นพัดตีเข้าบ้านเรือนประชาชนสองฝั่งแม่น้ำ แต่พบว่า ปัจจุบันเรือบรรทุกทรายขนาดใหญ่จากจ.อ่างทอง ยังคงเดินเรือผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ากรุงเทพฯ ผ่านเขตอยุธยาตลอดทั้งวันทั้งคืนชาวบ้านเดือดร้อนอย่างมาก บ้านจะพังเพราะน้ำท่วมพื้นบ้านชั้น 2 ที่ส่วนใหญ่เป็นไม้ และคลื่นจากเรือตีเข้าใต้ไม้แผ่นกระดานจนเสียหายอย่างมาก จึงอยากให้ผู้ว่าฯออกมาตรวจสอบและห้ามเดินเรือโดยเด็ดขาด

-ท่วมวัดหลวงพ่อเชิญผักไห่

พระครูวรกิจวิธาน เจ้าอาวาสวัดโคกทอง อ.ผักไห่ เปิดเผยว่า ปริมาณน้ำท่วมสูงภายในวัด 2 เมตร กุฏิพระ ศาลา ถูกน้ำท่วมหมด พระเณร ต้องไปรวมกันอยู่ภายในโบสถ์ ที่สำคัญกุฏิหลวงพ่อเชิญ อดีตเจ้าอาวาสพระเกจิชื่อดังของอยุธยา ซึ่งภายในกุฏิมีรูปปั้นหลวงพ่อเชิญและสิ่งของถูกน้ำท่วมหมด นอกจากนี้ชาวบ้านในอ.ผักไห่ ถูกน้ำท่วมทุกตำบลไม่สามารถเดินทางไปไหนได้

นอกจากนี้ที่อ.บางซ้าย น้ำเข้าท่วมบ้านเรือนกว่า 5,000 ครัวเรือน ที่อยู่ติดคลองเจ้าเจ็ด ชาวบ้านเก็บข้าวของหนีน้ำไม่ทัน ไร่นาและสวนผลไม้เสียหายเกือบ 10,000 ไร่ วัดหลายแห่งจมน้ำกะทันหันเช่น วัดบางซ้ายนอก วัดบางซ้ายใน ที่สำคัญน้ำทุ่งนาได้ไหลลงคลองเจ้าเจ็ด ทำให้น้ำในคลองสูงขึ้นกะทันหัน และไหลเข้าท่วมตลาดบางซ้ายหรือตลาดข้างอำเภอเก่า จมน้ำสูงกว่า 50 เซนติเมตร

-ร.ร.น้ำท่วมเลื่อนเปิดได้


นายวิจิตร ศรีสอ้าน รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงกรณีโรงเรียนที่ประสบปัญหาน้ำท่วม ว่า ขณะนี้กระทรวงได้สำรวจโรงเรียนที่ประสบปัญหาน้ำท่วมแล้ว ส่วนโรงเรียนที่ถูกน้ำท่วมมากยังสำรวจไม่ได้ทั้งหมด เพราะโรงเรียนจะเปิดในวันที่ 3 พ.ย. ดังนั้นเราต้องเตรียมให้พร้อม เพราะถ้าไม่จำเป็นก็ไม่เลื่อนการเปิดเรียนออกไป แม้แต่โรงเรียนที่ประสบน้ำท่วมก็ตาม ยกเว้นโรงเรียนที่น้ำท่วมแล้วแก้ปัญหาไม่ทันจริงๆ ก็สามารถเลื่อนวันเปิดเรียนได้ อย่างไรก็ตามโรงเรียนที่ประสบภาวะน้ำท่วมการเปิดเรียนไม่ควรขึ้นอยู่ว่าน้ำลดเร็วหรือไม่ เช่น จ.อ่างทอง ที่น้ำยังไม่ลด แต่ถ้าน้ำลดเร็วเราก็มีการเตรียมการไว้แล้ว

-ระดับน้ำสิงห์บุรียังทรงตัว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่อ.เมืองสิงห์บุรี พบผู้ตกน้ำเสียชีวิต 2 ราย คือนายประทีป สโมสรสุข อายุ 44 ปี บ้านเลขที่ 77 หมู่ 8 ต.ต้นโพธิ์ อ.เมือง จ.สิงห์บุรี สาเหตุเนื่องมาจากกลิ้งโอ่งเพื่อจะไปรองข้าวของให้พ้นน้ำท่วม แต่พลัดลื่นถูกโอ่งกลิ้งทับจมน้ำเสียชีวิต ส่วนอีกรายนายอุบล ธานี อายุ 50 ปี บ้านเลขที่ 47/10 หมู่ 6 ต.ต้นโพธิ์ อ.เมือง จ.สิงห์บุรี ถูกไฟฟ้าชอร์ตเสียชีวิต เนื่องจากไปช่วยเพื่อนบ้านดูปลั๊กไฟว่าใช้ได้หรือไม่

ส่วนที่อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี มีผู้เสียชีวิตตกน้ำตายอีก 1 รายคือ นายสะอาด แจ้งอรุณ อายุ 49 ปี บ้านเลขที่ 86 หมู่ 6 หน้าวัดมงกุฏแก้ว ต.บางน้ำเชี่ยว อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี ลงอาบน้ำที่หน้าวัดเป็นตะคริวแล้วจมน้ำตาย นอกจากนี้ที่ทางหลวงหมายเลข 311 สายสิงห์บุรี-ชัยนาท หลักก.ม.ที่ 7 หมู่ 8 ต.บางกระบือ อ.เมือง จ.สิงห์บุรี น้ำกัดเซาะเส้นทางกว่า 20 เมตร กระแสน้ำแรงมาก รถทุกชนิดผ่านไม่ได้ทางจังหวัดต้องติดป้ายอันตรายห้ามผ่านเด็ดขาด

ส่วนที่จ.นครสวรรค์ อบต.เกรียงไกร อ.เมือง จ.นครสวรรค์ รับแจ้งเหตุมีคนป่วยหนักขอให้นำเรือไปรับส่งโรงพยาบาลด่วน ที่บ้านเลขที่ 11 หมู่ 7 ต.เกรียงไกร พบนางน้อย เผือกชื่น อายุ 73 ปี ซึ่งบ้านถูกน้ำท่วมมานาน จนไปไหนไม่ได้ ล่าสุดนางน้อยมีอาการเครียดจนวูบไป ญาติจึงต้องรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลด่วน สำหรับปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านลดลงเหลือ 4,795 ลบ.ม.ต่อวินาที ล่าสุดระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาลดลงประมาณ 30 เซนติเมตร

-ชดเชยนาข้าว-ลดค่าไฟ


พล.ต.ท.มนตรี จำรูญ ผบช.ก. ร่วมกับ พล.ต.ต.วรศักดิ์ นพสิทธิพร ผบก.ป. ปล่อยแถวตำรวจกองปราบฯ นำเครื่องอุปโภคและบริโภคที่ตำรวจกองปราบปรามกับประชาชนร่วมกันบริจาค ไปแจกจ่ายให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนในจ.สิงห์บุรี อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา พร้อมกับส่งรถสายตรวจไปออกตรวจตราป้องกันเหล่ามิจฉาชีพที่ออกอาละวาดขโมยทรัพย์สินของประชาชนด้วย

นายประเจิด สุขแก้ว ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เปิดเผยว่า จะหารือกับกระทรวงพลังงานและมหาดไทยเพื่อพิจารณามาตรการลดค่าไฟฟ้าให้กับผู้ที่ประสบภาวะน้ำท่วม เพื่อบรรเทาผลกระทบของประชาชนผู้ประสบอุกภัยที่มีค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในส่วนของลูกค้ากฟภ.ที่เป็นผู้ใช้ไฟฟ้าในเขตชนบท ส่วนจะลดได้มากน้อยเพียงใดคงจะต้องอยู่ที่นโยบายรัฐบาล โดยขณะนี้กฟภ.ไม่สามารถเข้าไปเก็บค่าไฟฟ้าจากชาวบ้านได้ โดยขณะนี้กฟภ.เร่งระดมเจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านที่ไฟฟ้าดับและให้คำแนะนำในการใช้ไฟอย่างถูกวิธี เพื่อป้องกันอันตราย หากบริเวณใดที่น้ำท่วมบ้านสูงเกิน 3 เมตรหรือท่วมหม้อแปลง กฟภ.ก็จำเป็นจะต้องตัดไฟออกทันที

นายธีระ สูตะบุตร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้แยกรายละเอียดออกเป็น 2 ประเด็น คือ การช่วยเหลือเกษตรกรที่นาข้าวได้รับความเสียหายจะได้รับเงินชดเชย 243 บาทต่อไร่ ส่วนรายใดที่ยินยอมให้ผันน้ำเข้าพื้นที่การเกษตรขณะนี้กำลังเร่งหาข้อสรุป ในการจ่ายเงินชดเชยเพิ่มเติมที่จะมากกว่า 243 บาทต่อไร่แน่นอน เพื่อนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีภายใน 2-3 สัปดาห์ โดยขณะนี้ได้มอบให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องใช้ภาพถ่ายดาวเทียมควบคู่กับแผนที่อัตราส่วน 1 ต่อ 4,000 มาพิจารณาพื้นที่เสียหายก่อนและหลังที่จะเกิดปัญหา เพื่อให้ได้ความเสียหายที่ชัดเจนต่อไป

-กรมชลฯผันน้ำเข้าเมืองนนท์

นายสามารถ โชคคณาพิทักษ์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า วันนี้กรมชลประทานเปิดประตูระบายน้ำริมคลองพระยาบรรลือ 8 แห่ง ได้แก่ ประตูระบายน้ำคลองขุนศรี ประตูระบายน้ำคลองลากฆ้อน ประตูระบายน้ำรางหวาย ประตูระบายน้ำคลองญี่ปุ่นใต้ ประตูระบายน้ำกระทุ่มหลักชัย ประตูระบายน้ำคลองหนึ่ง ประตูระบายน้ำบอนใหญ่ และประตูระบายน้ำบัวหวั่น สูง 20-30 เซนติเมตร จากนั้นตั้งแต่วันที่ 27 ต.ค.เป็นต้นไป กรมชลประทานจะยกบานประตูระบายน้ำคลองขุนศรีและคลองลากฆ้อน ในระยะบานพ้นน้ำ โดยการเปิดประตูระบายน้ำต่างๆ ดังกล่าว จะส่งผลให้ระดับน้ำเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 5-10 เซนติเมตร ให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ต.ไทรใหญ่ ขุนศรี อ.ไทรน้อย ต.บางบัวทอง อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี และต.คลองพระยาบรรลือ อ.ลาดบังหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อเตรียมรับสถานการณ์น้ำท่วม

นายสามารถกล่าวต่อว่า การผันน้ำดังกล่าวเพื่อแก้ปัญหาน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ท่วมขังสูงและไหลช้าในฝั่งตะวันตก บริเวณทุ่งผักไห่และทุ่งเจ้าเจ็ด-บางยี่หน เนื้อที่ 591,115 ไร่ รอยต่อ จ.พระนครศรีอยุธยาและนนทบุรี นานกว่า 15 วัน โดยพยายามเจรจากับชาวบ้านในทุ่งพระยาบรรลือและทุ่งพระพิมล ซึ่งเป็นรอยต่อจ.นนทบุรีกับปทุมธานี ให้ยอมเปิดประตูระบายน้ำริมคลองพระยาบรรลือ 8 แห่ง และริมคลองพระพิมล 6 แห่ง เพื่อให้น้ำด้านบนระบายลงมาได้เร็วขึ้น ล่าสุดชาวบ้านยินยอมให้กรมชลประทานยกบานประตูระบายน้ำริมคลองเพิ่มสูงเป็น 10-30 เซนติเมตร ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป และจากนั้นจะทยอยเพิ่มระดับยกบานประตูระบายน้ำให้สูงจนพ้นน้ำ โดยจะให้พืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหายน้อยที่สุด

การเปิดประตูน้ำครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ด้านล่างคลองพระยาบรรลือ โดยเฉพาะต.บางไทร ต.ขุนศรี อ.ไทรน้อย ต.บางบัวทอง อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี และ ต.คลองพระยาบรรลือ อ.ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา มีระดับน้ำท่วมเพิ่มสูงขึ้น 5-10 ซม. จากนั้นน้ำจะระบายต่อมายังคลองพระพิมล ซึ่งระดับน้ำจะถูกควบคุมให้ไม่ส่งผลกระทบมากนัก ก่อนที่จะเร่งสูบปริมาณน้ำส่วนนี้ลงแม่น้ำท่าจีนต่อไป

ส่วนสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา อธิบดีกรมชลประทานคาดการณ์ว่า ในวันที่ 25 พ.ย.นี้ ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านจ.นครสวรรค์ จะอยู่ในเกณฑ์ 4,500 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งลดลงจากวันนี้ ที่ 4,795 ลบ.ม.ต่อวินาที ส่วนปริมาณน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่าน เขื่อนเจ้าพระยาและอ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา วันที่ 25 ต.ค.จะอยู่ในเกณฑ์ไม่เกิน 4,000 ลบ.ม.ต่อวินาที

นายวัลลภ พลอยทับทิม ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ได้สั่งการให้พัฒนาสังคมฯ อ่างทอง นำข้าวปลาอาหาร น้ำ และเสื้อผ้าไปมอบให้ทางวัดสระแก้ว วัดโบสถ์วรดิษฐ์ อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง เพื่อช่วยเหลือเด็กและประชาชนที่เดือดร้อนแล้ว ซึ่งมีทั้งส่วนของผู้ที่บริจาคข้าวสารอาหารแห้ง น้ำเข้ามาและกระทรวงจะใช้งบฉุกเฉินดำเนินการช่วยเหลือ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น รวมทั้งให้พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดที่น้ำท่วมหนัก เช่น อยุธยา สิงห์บุรี ปทุมธานี นนทบุรี เป็นต้น เข้าไปดูแลด้วย

-เรือหมอชุมแสงชนเสาถนนล่ม


วันเดียวกัน เวลา 09.00 น. น.พ.สมทรง นิลประยูร ผอ.ร.พ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ นำคณะพยาบาลและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข 8 คน เดินทางไปให้บริการประชาชนที่ศาลาวัดคลองปลากดนอก หมู่ 1 ต.พันลาน อ.ชุมแสง โดยมีประชาชนมารับการรักษาและรับยา 306 คน กระทั่งเวลา 15.00 น. คณะแพทย์จึงเดินทางกลับ มาตามถนนสายนครสวรรค์-ชุมแสง

ที่ถูกน้ำท่วมอยู่ เมื่อเดินทางมาถึงบริเวณหมู่ 6 ต.พันลาน อ.ชุมแสง คนขับเรือมองไม่เห็นเสาข้างถนนที่ถูกน้ำท่วม จึงขับเรือชนจนกราบเรือแตกทำให้เรือล่ม โชคยังดีที่น้ำท่วมลึกประมาณ 1.20 เมตร จึงไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต แต่ยา อุปกรณ์การแพทย์ โทรศัพท์มือถือ ตกน้ำได้รับความเสียหาย ก่อนเดินทางกลับอย่างปลอดภัย


แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ข่าวสด

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์