เฟ้นคนรู้ ภาษาลิง คุมเขาวัง

อธิบดีกรมศิล ปากร เผยแผนพัฒนา 10 อุทยานประวัติศาสตร์ทั่วประเทศ ดำเนินการไปแล้ว 8


เหลืออุทยานฯ พิมาย โคราช กับอุทยานฯ เมืองสิงห์ กาญจนบุรี หลังเสร็จเรียบร้อยแล้วเตรียมเสนอครม.จัดทำแผนแม่บทระยาว เผยอุท ยานฯ พระนครคีรีหรือเขาวัง เมืองเพชรน่าห่วง เหตุจากปัญหาฝูงลิงเกเร ประกาศหาผู้รู้ภาษาลิงช่วยเหลือด่วน

เมื่อวันที่ 29 พ.ย. นายเกรียงไกร สัมปัชชลิต อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยถึงแผนการดำเนินงานอนุรักษ์และพัฒนาอุทยานประวัติศาสตร์จำนวน 10 แห่งทั่วประเทศว่า ขณะนี้สำนักศิลปากรแต่ละแห่งดำเนินการจัดทำแผนดำเนินการไปแล้ว 8 แห่ง เหลืออีก 2 แห่ง คือ อุทยานฯ ปราสาทหินพิมาย จ. นครราชสีมา อุทยานฯ เมืองสิงห์ จ.กาญจนบุรี ที่กำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งเมื่อจัดทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว 10 แห่ง ทางกรมศิลปากรจะนำเสนอคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาอุทยานประวัติศาสตร์ เพื่อจัดทำแผนแม่บทใหญ่ระยะยาวตั้งแต่ปี 2551-2556 เสนอ ครม. ประกาศเป็นวาระแห่งชาติในปี 2551 โดยคณะกรรมการอนุรักษ์ฯ เสนอให้ของบประมาณแบบผูกพันจากรัฐบาล 4,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 5 ปี ปีละ 800 ล้านบาท

นายเกรียงไกร กล่าวต่อไปว่า การจัดทำแผนแม่บทอนุรักษ์ฯ จะเน้นอุทยานฯ ที่เป็นมรดกโลกเป็นหลัก เพื่อให้ได้มาตรฐานตามกฎเกณฑ์ขององค์การยูเนสโกกำหนดไว้ ทั้งด้านกายภาพของพื้นที่หรือภูมิทัศน์ และการบริหารจัดการ โดยวางมาตรฐานแบบไทย คือ ประชาชนในท้องถิ่นจะได้ประโยชน์จากการค้าขาย ที่ตรงไหนมีพื้นที่ว่างจะต้องมีการจัดระเบียบให้อยู่ในกติกาของมรดกโลก เป็นต้น นอกจากนี้คณะกรรมการอนุรักษ์ฯ ยังเตรียมเสนอขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกอีก 2 แห่ง คือ อุทยานฯ ศรีเทพ และอุทยานฯ ปราสาทหินพนมรุ้ง ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยมีแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมอยู่อันดับ 2 ของ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากอินโดนีเซีย



"เวลานี้หลายฝ่ายเริ่มวิตกเกี่ยวกับปัญหาของอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย และพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์ ที่มีจำนวนร้านค้ามากขึ้น แต่คิดว่าน่าจะแก้ปัญหาได้ไม่ยาก เพราะอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย และพนมรุ้งไม่ได้ตั้งอยู่ในเมือง เหมือนอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา นอกจากนี้ยังมีอุทยานประวัติศาสตร์ที่น่าห่วงคือ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรีหรือเขาวัง จ.เพชรบุรี มีลิงอาศัยอยู่จำนวนมาก และเป็นลิงที่ค่อนข้างดุและเกเร สร้างปัญหาทำลายทรัพย์สินโบราณสถาน โบราณวัตถุและยังทำร้ายนักท่องเที่ยว จึงเป็นการยากที่กรมศิลปากรจะแก้ปัญหาฝูงลิงให้อยู่เป็นที่เป็นทางได้ ดังนั้น กรมศิลปากรจะต้องเร่งหาผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับภาษาลิงมาเป็นผู้ช่วยให้แก่เจ้าหน้าที่ของอุทยานฯ ในการดูแลฝูงลิงต่อไป" อธิบดีกรมศิลปากร กล่าว

ด้านนายดุสิต ทุมมากรณ์ หัวหน้าอุทยาน ประวัติศาสตร์พนมรุ้ง กล่าวว่า จะจัดระเบียบร้านค้าในอุทยานให้ดูสะอาดตา รวมทั้งปรับปรุงอ่างเก็บน้ำหรือบาราย บริเวณหนองบัวรายด้านล่างของภูเขาพนมรุ้งให้มีภูมิทัศน์ร่มรื่นด้วย อีกทั้งจะเคลื่อนย้ายผู้ที่อยู่อาศัยในเขตบารายจำนวนหนึ่งออกไป โดยได้ทำความเข้าใจกับชาวบ้านแล้ว อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายวิตกว่าจะมีเอกชนมารื้อฟื้นโครงการสถานที่ตากอากาศ สร้างโรงแรมบริเวณอ่างเก็บน้ำบารายไว้รองรับนักท่องเที่ยวนั้น ตนคิดว่าคงทำไม่ได้ เนื่องจากอุทยานฯ ได้จัดทำแผนอนุรักษ์ฯ เสนอครม.เมื่อปี 2548 และได้ผ่านความเห็นชอบไปแล้ว

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์