เผาเมือง-ก่อการร้าย บัญญัติศัพท์ใหม่ ในพจนานุกรม

ราชบัณฑิตเตรียมบัญญัติศัพท์เหตุเผาเมือง สุ่มเสี่ยง –ก่อการร้าย ในพจนานุกรมศัพท์ใหม่ เพื่อให้คนยุคต่อไปได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของชาติ ไว้ใช้ศึกษาหากเกิดเหตุการณ์รูปแบบดังกล่าวขึ้นมาอีก....

เมื่อวันที่ 25 พ.ค. ศ.กิตติคุณ ดร.กาญจนา นาคสกุล ราชบัณฑิตยสถาน และนายกสมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทย

เปิดเผยว่า คณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมคำศัพท์ใหม่ ได้ติดตามเหตุการณ์ การความไม่สงบทางการเมืองในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และจังหวัดต่างๆ เพื่อจัดเก็บข้อมูลคำศัพท์ใหม่ และคำศัพท์ที่มีการใช้ในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งมีทั้ง คำใหม่ และเป็นการนำคำมาผสมกัน อาทิ สุ่มเสี่ยง เป็นคำใหม่ที่ยังไม่ได้บัญญัติในพจนานุกรม โดยรัฐบาลได้นำมาใช้ช่วงเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งความหมาย คือ การระบุถึงพื้นที่ที่เห็นว่ามีอันตรายแต่ไม่สามารถระบุได้ชัดเจน

ศ.กิตติคุณ ดร.กาญจนา กล่าวต่อไปว่า สำหรับคำว่า ก่อการร้าย ก็ยังไม่ได้บัญญัติไว้ในพจนานุกรมเช่นกัน และมีความหมายที่กว้าง

ที่ผ่านมามักใช้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างประเทศและเหตุการณ์ใหญ่ แต่ครั้งนี้รัฐบาลนำมาใช้กับกลุ่มผู้ชุมนุม ดังนั้น เมื่อรัฐบาลนำคำเหล่านี้มาใช้ต่อสาธารณชน ทางราชบัณฑิต เห็นว่า ควรมีการให้ความหมายที่จัดเจน การใช้ที่ถูกต้อง เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน ส่วนคำว่า ขอคืนพื้นที่ และกระชับพื้นที่ เป็นการนำคำมาผสมกัน ซึ่งบางคำบัญญัติไว้อยู่แล้ว เช่น คำว่ากระชับ เป็นต้น ทั้งนี้ ราชบัณฑิตจะพิจารณาอีกครั้งว่าจะบัญญัติคำว่า ขอคืนพื้นที่ และกระชับพื้นที่ ไว้ในพจนานุกรมคำศัพท์ใหม่หรือไม่

ด้าน นางสุรีย์รัตน์ วงศ์เสงี่ยม ผอ.สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร

กล่าวถึงการเตรียมการจัดทำจดหมายเหตุแห่งชาติบันทึกเหตุการณ์การความไม่สงบ ทางการเมืองในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และจังหวัดต่างๆว่า ในเบื้องต้น ตนจะหารือกับนายเกรียงไกร สัมปัชชลิต อธิบดีกรมศิลปากร ว่า จะบันทึกเหตุการณ์ดังกล่าวไว้ในจดหมายเหตุประเทศไทย หรือจะแยกเป็นเล่มเฉพาะ เพราะเหตุการณ์ครั้งนี้ ได้ใช้คำศัพท์ใหม่ๆหลายคำ เช่น แผนปรองดองแห่งชาติ เยียวยา กระชับพื้นที่ การขอคืนพื้นที่ เป็นต้น ซึ่งจะต้องบันทึกให้คนรุ่นได้เห็นว่า การกระชับพื้นที่รัฐบาลดำเนินการอย่างไร มีการแก้ไขสถานการณ์บ้านเมืองแบบไหน ด้วยวิธีการใด เพื่อให้คนยุคต่อไปได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของชาติ ไว้ใช้ศึกษาหากเกิดเหตุการณ์รูปแบบดังกล่าวขึ้นมาอีก

“ขณะนี้ สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ได้จัดทำหนังสือขอข้อมูลจากสื่อมวลชนทุกแขนง หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน เพื่อจัดทำจดหมายเหตุดังกล่าวแล้ว และขอความร่วมมือทุกภาคส่วนส่งให้สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ บันทึกเป็นประวัติศาสตร์ทางการเมืองให้เด็กและเยาวชนได้ศึกษาต่อไป”ผอ.สำนัก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ กล่าว


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์