เผยเด็กไทยตายจากการจมน้ำ-อุบัติเหตุบนท้องถนนวันละ 16 คน

ที่คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 23 ส.ค.

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ และวิทยาลัยการสาธารณสุข จุฬาฯ  ร่วมกับ The Alliance for safe Children (TASC) ยูนิเซฟ และกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) แถลงข่าว “ผลการสำรวจการบาดเจ็บในเด็กระดับชาติ”  โดย ศ.นพ.สุรศักดิ์ ฐานีพานิชสกุล  คณบดีวิทยาลัยการสาธารณสุข ผอ.สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ จุฬาฯ กล่าวว่า จากการสำรวจการเสียชีวิตและการบาดเจ็บของเด็กอายุตั้งแต่แรกเกิดถึง 17 ปี  จำนวน 389,531 คนจาก100,179 ครัวเรือนทั่วประเทศ  พบว่า ในแต่ละปีมีเด็กไทยเกือบ 6,000 คนเสียชีวิตจากการบาดเจ็บ หรือมีเด็กเสียชีวิตกว่า 16 คนต่อวัน สาเหตุหลักมาจากการจมน้ำและอุบัติเหตุบนท้องถนน

นอกจากนี้ยังพบว่า  เด็กอายุ  1 ขวบขึ้นไปเสียชีวิตจากการจมน้ำและอุบัติเหตุบนท้องถนนมากที่สุด

ซึ่งมากกว่าการเสียชีวิตจากการติดเชื้อหรือการเจ็บป่วยอื่นๆ อย่างไรก็ตาม  สิ่งที่น่าวิตกและก่อปัญหาต่อคุณภาพชีวิตของเด็กมากที่สุด คือ การบาดเจ็บที่ไม่ถึงแก่ชีวิต แต่ก่อให้เกิดความพิการ โดยสำรวจพบว่าปัจจุบันเด็กไทยกว่า 7.2 หมื่นคนต้องบาดเจ็บทุกปี หรือคิดเป็น 200 คนต่อวัน สาเหตุหลักมาจากอุบัติเหตุบนท้องถนน รองลงมาคือ การบาดเจ็บจากการตกจากที่สูง การโดนไฟไหม้น้ำร้อนลวก ถูกสัตว์ทำร้าย ไฟดูด ตามลำดับ ที่สำคัญการบาดเจ็บดังกล่าวยังส่งผลให้เด็กพิการถึงปีละ 1,600 คน หรือคิดเป็นทุก 6 ชั่วโมงจะมีเด็ก 1 คนที่พิการตลอดชีวิต 

อุบัติเหตุบนท้องถนนถือเป็นปัญหาสำคัญ

เนื่องจากในแต่ละปีมีเด็กมากกว่า  2,600 คนเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุดังกล่าว โดยสาเหตุสำคัญมาจากการขับขี่ การซ้อนรถจักรยานยนต์ โดย 63 % ของกลุ่มดังกล่าวพบว่า เกิดการบาดเจ็บที่รุนแรง แม้ไม่ถึงแก่ชีวิตแต่ก่อให้เกิดความพิการได้ และยังพบว่า การดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยหลักของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนไม่ว่าจะเป็นตัวเด็กที่เป็นวัยรุ่น หรือเด็กเล็กที่ซ้อนท้ายผู้เมาแล้วขับ หรือถูกผู้เมาแล้วขับขับขี่ชน  ศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว

ด้าน พญ.พิมพ์ภา เตชะกมลสุข  สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า

รายงานดังกล่าวสอดคล้องกับข้อมูลการเฝ้าระวังการบาดเจ็บของสำนักระบาดวิทยา ที่มีการเก็บรวบรวมข้อมูลจากโรงพยาบาลรัฐ 29 แห่ง โดยพบว่า สาเหตุการเสียชีวิตของเด็กไทยอันดับหนึ่ง คือ การจมน้ำ ส่วนการบาดเจ็บในเด็กไทยพบว่า มาจากอุบัติเหตุการจราจรเป็นอันดับหนึ่งเช่นกัน ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงของการบาดเจ็บและเสียชีวิต ขึ้นอยู่ที่พฤติกรรมเสี่ยงและสภาพแวดล้อมนั้นๆ ยกตัวอย่าง บางชุมชนเด็กมักเล่นบริเวณริมถนน ขณะที่ริมทางดังกล่าวไม่มีแนวกั้นไม่ให้เด็กหลุดออกไปเล่นบริเวณถนนที่รถวิ่งผ่าน นอกจากนี้ ที่ผ่านมาการออกแบบสถานที่ที่ปลอดภัยสำหรับเด็กเล่นยังมีน้อย อีกทั้ง เด็กอายุต่ำกว่า 3 ปียังไม่มีเครื่องมือใดป้องกันความปลอดภัยจากอุบัติเหตุทางถนน อาทิ หมวกกันน็อคที่เหมาะสม ซึ่งผู้ปกครองต้องดูแลเอาใจใส่ความปลอดภัยของเด็กมากขึ้น

ขณะนี้ สธ.มีแผนเตรียมป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้น

โดยการสานต่อการรณรงค์ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ เช่น รณรงค์ให้ผู้ขับขี่สวมหมวกกันน็อค รณรงค์เรื่องเมาไม่ขับ เนื่องจากพบว่า เด็กอายุตั้งแต่ 15  ขึ้นไปได้รับการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการขับขี่รถจักรยานยนต์เป็นหลัก” พญ.พิมพ์ภา กล่าว

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์