เผยเชื้อไข้กระต่ายคนร้ายนำไปผลิตอาวุธชีวภาพ

เผยเชื้อโรคไข้กระต่ายผู้ก่อการร้ายฮิตนำไปผลิตอาวุธชีวภาพแช่แข็งอุณหภูมิ -15 องศาเชื้อไม่ตายเว้นทำให้สุก สธ.เตรียมรายงานองค์การอนามัยโลกเป็นโรคอุบัติใหม่ที่พบในไทยเตือนพวกนิยมเลี้ยงสัตว์นอกอย่าลักลอบนำเข้า เสี่ยงเป็นช่องทางแพร่เชื้อแปลกใหม่เข้าไทย แนะอย่าสัมผัสสัตว์โดยตรง ล้างมือบ่อยๆ

เมื่อวันที่17 มีนาคมเวลา 11.00 น. 

ที่กรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข นพ.ธวัชสุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดแถลงข่าวเรื่องโรคทูลารีเมีย (Tularemia) หรือโรคไข้กระต่ายที่ติดต่อจากสัตว์ฟันแทะ เช่น กระต่าย กระรอก และหนู เป็นต้น ซึ่งพบผู้ป่วยและเสียชีวิตที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์เป็นรายแรกของประเทศไทย ว่า ผู้เสียชีวิตมีประวัติสัมผัสกระต่าย ที่บ้านมีการเลี้ยงกระต่ายพันธุ์ไทยจำนวนมาก เชื่อว่าจะได้รับเชื้อทั้งจากทางเดินหายใจ การสัมผัสสารคัดหลั่งทางปาก จมูก
 

อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวอีกว่า

 ปัจจุบันบ้านของผู้ตายยังเลี้ยงกระต่ายนับสิบตัว แต่ยังไม่มีคนในบ้านป่วยเป็นโรคนี้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็ง ทำให้มีภูมิคุ้มกันน้อยกว่าคนอื่นๆ ในบ้าน คาดว่าอีก 2 สัปดาห์ผลยืนยันของห้องแล็บจากประเทศสหรัฐอเมริกา จะรู้แน่ชัดว่าเป็นเชื้อสายพันธุ์เอ หรือ บี หากเป็นชนิดเอ จะมีความรุนแรงมากกว่า 

ส่วนการควบคุมโรคในเบื้องต้นได้ประสานกรมปศุสัตว์ให้สุ่มตรวจเชื้อทั่วประเทศ

รวมถึงกำชับสำนักงานสาธารณสุข (สสจ.) ทั่วประเทศรายงานหากพบผู้ป่วยต้องสงสัยหรือเป็นโรคนี้ เนื่องจากถือเป็นหนึ่งในโรคอุบัติใหม่ของไทย จึงต้องรายงานไปยังองค์การอนามัยโลก และต้องให้ความรู้การป้องกันแก่ประชาชน และแพทย์ ในการตรวจวินิจฉัยและวิธีการรักษา เพราะในตำราแพทย์ที่เรียนในไทยยังไม่มีโรคนี้
 
นพ.ธวัชกล่าวด้วยว่า 

โรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ฟรานซิเซลล่า ทูลารีซิส (Francisella Tularensis) เดิมพบในสัตว์ป่าและติดต่อในหมู่สัตว์ป่าด้วยกัน แต่เมื่อคนนำสัตว์ป่า เช่น กระต่าย กระรอก มาเลี้ยงมากขึ้น ทำให้โรคนี้ติดต่อจากสัตว์มาสู่คน จัดเป็นโรคประจำถิ่นของทวีปอเมริกาเหนือและยุโรป ที่สำคัญเชื้อชนิดนี้เครือข่ายเฝ้าระวังการก่อการร้ายโลกขึ้นบัญชีเป็นเชื้อโรคที่ผู้ก่อการร้ายทั่วโลกนิยมนำไปผลิตเป็นอาวุธชีวภาพ เนื่องจากเชื้อสามารถติดต่อจากคนได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมทั้งเมื่อมีอาการก็จะคล้ายกับโรคอื่นๆ ทำให้ผู้ป่วยไม่ระมัดระวังในการรักษาตัว 

อย่างไรก็ตามโรคไข้กระต่ายยังไม่มีการติดต่อจากคนสู่คน 

แต่จะติดต่อจากสัตว์สู่คนทั้งทางตรงด้วยการสัมผัสสารคัดหลั่ง การหายใจ การกินเนื้อ และถูกเห็บ หมัดในตัวสัตว์ที่เป็นโรคกัด ซึ่งเชื้อจะฟักตัวในคนประมาณ 3-5 วันจึงจะแสดงอาการ หากติดผ่านทางผิวหนังจะเกิดแผลอักเสบ ต่อมน้ำเหลืองโต ติดที่บริเวณเท้าจะคล้ายโรคฝีมะม่วง ติดต่อทางเดินหายใจ อาการเริ่มแรกเหมือนเป็นไข้หวัดใหญ่ จนสัปดาห์ที่ 2 อันตรายที่สุดจะเกิดภาวะแทรกซ้อนเป็นปอดบวม และเมื่อเชื้อเข้าสู่กระแสโลหิตจะเสียชีวิต อาการโดยรวมจะแยกแยะลำบากจากกาฬโรค และถ้าติดจากการกินอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อจะทำให้ท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียน แต่มักไม่เสียชีวิต 

นพ.ธวัชกล่าวต่อว่า 

ผู้ป่วยรายนี้เป็นรายแรกที่มีการวินิจฉัยโรคอย่างถูกต้อง ด้วยการส่งไปตรวจในห้องแล็บที่ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ส่วนตัวเชื่อว่า ก่อนหน้านี้มีผู้ป่วยรายอื่นๆ ที่เป็นโรคนี้เช่นกัน แต่ไม่มีการตรวจวินิจฉัย เนื่องจากอาการโดยทั่วไปคล้ายกับโรคต่างๆ แพทย์จึงวินิจฉัยและรักษาด้วยยาปฏิชีวนะตามอาการที่ตรวจพบจนหาย เพราะโรคนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยยาปฏิชีวนะสเตร็ปโตมายซิน และยาเจนต้ามายซิน แต่ที่เสียชีวิตส่วนใหญ่เพราะรักษาไม่ทัน ดังนั้น เมื่อมีอาการไข้แล้วกินยาลดไข้ 1 ครั้งไม่ดีขึ้น ให้ไปพบแพทย์ อย่านิ่งนอนใจ อย่ากลัวเสียเวลา หากได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจนเสียชีวิตจะน้อย
 

อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวด้วยว่า 

เชื้อชนิดนี้จะอยู่ได้ในสิ่งแวดล้อมอุณหภูมิทั่วไปและในอุณหภูมิติดลบมากๆ ซึ่งมีรายงานการวิจัยระบุว่า เมื่อนำเนื้อกระต่ายที่นิยมบริโภคกันในสหรัฐอเมริกามาแช่แข็งอุณหภูมิ -15 องศาเซลเซียสไม่สามารถฆ่าเชื้อนี้ได้ เว้นแต่จะนำไปปรุงให้สุกที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียสนาน 10 นาทีวิธีการป้องกันผู้เลี้ยงอย่าสัมผัสสัตว์ หากจะแตะต้องควรใส่ถุงมือ ล้างมือทำความสะอาดทุกครั้งหลังสัมผัสสัตว์เลี้ยง และผู้เลี้ยงควรกำจัดเห็บ หมัดในสัตว์เลี้ยงให้หมด ผู้ที่เลี้ยงเชิงอุตสาหกรรมควรใส่รองเท้าบู๊ท เสื้อกาวน์ ถุงมือ และหน้ากาก ในการป้องกัน ส่วนวัคซีนมีการนำมาใช้ป้องกันโรคเช่นกัน ในประเทศสหรัฐอเมริกาฉีดให้เฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น พรานป่า และคนเลี้ยงสัตว์จำนวนมากเท่านั้น สำหรับประเทศไทยไม่ได้นำเข้า เนื่องจากไม่ใช่โรคประจำถิ่น
 

โรคนี้ไม่ใช่โรคประจำถิ่นการควบคุมโรคจึงต้องเข้มงวดในการนำเข้าสัตว์ 

จึงอยากเตือนกลุ่มคนมีเงินที่อยากมีสัตว์เลี้ยงแปลกๆ นำเข้าจากต่างประเทศ อย่าแอบลักลอบนำเข้า หากต้องการเลี้ยงให้ขออนุญาตให้ถูกต้องจากกรมปศุสัตว์ เพราะตรงนี้อันตรายมาก อาจทำให้เกิดโรคแปลกๆ ที่ติดต่อร้ายแรงในประเทศไทยได้ นพ.ธวัชกล่าว
 


สสจ.ประจวบฯ ยันไม่มีผู้ป่วย "ทูลารีเมีย"รายใหม่


นพ.พิภพเจนสุทธิเวชกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ประจวบคีรีขันธ์กล่าวว่า 

โรคดังกล่าวไม่ร้ายแรงตามที่หลายฝ่ายแสดงความหวั่นวิตก เพราะขณะนี้ยังไม่มีผู้ป่วยรายใหม่ สำหรับผู้ป่วยรายดังกล่าว เป็นผู้ป่วยเก่าที่พบตั้งแต่เดือนตุลาคม 2550 ส่วนตัวยังแปลกใจว่าเหตุใดผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องนี้ไม่แจ้งผลการวิเคราะห์ให้จังหวัดทราบก่อนที่จะเสนอข่าวทางสื่อมวลชนในส่วนกลาง ซึ่งได้แจ้งให้ผู้ที่สอบถามติดต่อไปยังกรมควบคุมโรค เพื่อสอบถามรายละเอียด

หลังจากมีสื่อนำเสนอข้อมูลยอมรับว่ามีชาวบ้านในพื้นที่หวั่นวิตกพอสมควรอีกทั้งในปี 2551 มีการประกาศให้เป็นปีท่องเที่ยวของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เกรงว่าข่าวดังกล่าวจะส่งผลกระทบกับนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งปลัดกกระทรวงสาธารณสุขยังได้โทรศัพท์มาเพื่อสอบถามเรื่องนี้ โดยชี้แจงว่าไม่น่าหวั่นวิตกเพราะยังไม่มีการระบาดของโรคนี้แต่อย่างใด
 

นพ.พิภพกล่าวอีกว่า 

การดำเนินการงานที่รับผิดชอบที่ผ่านมาได้รายงานให้นายประสงค์ พิทูรกิจจา ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทราบตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน2550 โดยรายงานการพบเชื้อFrancisella tularensis ในเลือดผู้ป่วยมะเร็งรังไข่เสียชีวิตสำหรับผู้ป่วยรายดังกล่าวมีอายุ 37 ปีเพศหญิง  อยู่ที่หมู่ 1 ต.กุยบุรีอ.กุยบุรี
 

สำหรับการรายงานเชื้อมีการดำเนินการสร้างระบบเฝ้าระวังให้เข้มแข็งทั้งในคนและในสัตว์

โดยเฉพาะโรคใหม่อุบัติซ้ำ ซึ่ง สสจ.ได้ให้ความรู้แก่ญาติผู้สัมผัสใกล้ชิดให้มาพบแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติ นอกจากนี้ยังมีการติดตามเฝ้าระวังญาติ และประชาชนละแวกบ้านเดียวกันอย่างต่อเนื่อง 30 วันจนไม่มีผู้ป่วยรายใหม่มีการแนะนำปรับปรุงสภาพแวดล้อม ผู้สัมผัสใกล้ชิด การเก็บตัวอย่างเลือด 2 ตัวอย่างส่งตรวจที่สถาบันวิจัยสาธารณสุข สำหรับโรคทูลารีเมีย ไม่เคยปรากฏในประเทศไทยมาก่อน และจากการที่มีรายงานผู้ป่วยในจังหวัดจึงสั่งให้เฝ้าระวังในสถานบริการสาธารณสุขทุกแห่งอย่างเข้มงวด และได้ให้ความรู้แก่ประชาชนเพื่อป้องกันโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน
 

คุณหงส์วัย 30 ปีเจ้าของร้านขายกระต่ายและหนูแพนเตอร์ ตลาดซันเดย์ จตุจักร กล่าวอย่างหงุดหงิดว่า 

ผู้ที่เสียชีวิตนั้นทราบว่าผลการชันสูตรสาเหตุที่แท้จริงไม่ได้มาจากโรคไข้กระต่าย แต่เพราะเป็นโรคมะเร็ง เคยมีประวัติการรักษาด้วยเคมี เพียงแต่เคยเลี้ยงกระต่ายมาเท่านั้น ตนขายสัตว์ประเภทนี้มา ยังไม่เคยได้ยินว่ามีลูกค้าเป็นอะไร และต่างประเทศก็ไม่เคยแจ้งอะไรเกี่ยวกับโรคนี้ 

"เราต้องสั่งกระต่าย หรือหนูนำเข้าทางเครื่องบิน เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ระงับอะไร เราก็ไปติดต่อชิปปิ้งนำออกมา ก่อนจะนำเข้า ทางเราจะรู้จักชื่อ รู้จักสายพันธุ์ และต้องตรวจโรคตั้งแต่ต้นทางแล้ว โรคแรบบิตไม่เคยมีประวัติเผยแพร่ในเมืองไทยแน่นอน" แม่ค้ากระต่าย กล่าว
 

อย่างไรก็ตามแม่ค้ากระต่ายรายนี้ กล่าวด้วยว่า

 หลังจากมีข่าว ก็ไม่มีผลกระทบต่อการค้าแต่อย่างใด ราคากระต่ายก็ยังคงที่ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ปกติ เสาร์-อาทิตย์จะขายได้วันละ 30-50 ตัวเป็นรายได้ที่ดีมาก


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์