เปิบแหนมหมูป่า ป่วยทั้งครอบครัว

เปิบแหนมหมูป่า ป่วยทั้งครอบครัว


เปิบแหนมหมูป่า ปวดท้อง คลื่นไส้ ปวดหัว นอนซึม หายใจช้า ปลุกไม่ค่อยตื่น แพทย์ระบุมาจากเชื้อ"โบทูลินั่ม ท็อกซิน" เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ชนิดเดียวกันกับที่ปนเปื้อนใน"หน่อไม้ปิ๊บ" ประกาศเตือนพื้นดินใน อ.ปาย - จ.น่าน พบสารพิษมากกว่าพื้นที่อื่น

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 19 มิ.ย.50

น.พ.ชัชวาลย์ ศิรินิรันดร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครพิงค์ จ.เชียงใหม่ พร้อมด้วยทีมแพทย์เวชกรรมสังคมและอายุรกรรม ได้แถลงข่าวกรณีให้การรักษาผู้ป่วยอาการหนักจำนวน 3 ราย จากการกินหมูดิบ โดยผู้ป่วยทั้งหมดถูกนำตัวส่งมาจาก อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน

น.พ.ชัชวาลย์ กล่าวว่า

เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมา โรงพยาบาลปาย จ.แม่ฮ่องสอน ได้ส่งตัวเด็กชายวัย 7 ขวบ มาที่โรงพยาบาลนครพิงค์ด้วยอาการปวดท้องมาก คลื่นไส้ ปวดหัว นอนซึม หายใจช้า ปลุกไม่ค่อยตื่น จึงต้องใช้ท่อช่วยหายใจและส่งตัวเข้าห้องไอซียูเด็กเป็นการเร่งด่วน เวลาเดียวกันเจ้าหน้าที่พยาบาลได้สังเกตเห็นพ่อของเด็กอายุประมาณ 40 ปี มีอาการหน้าซีดจึงนำเข้าห้องรักษาและพบว่าพ่อของเด็กได้หมดสติจนต้องใช้ท่อช่วยหายใจ ส่วนแม่ของเด็กอายุ 37 ปี ซึ่งเดินทางมาพร้อมกันมีอาการเวียนหัวและอาเจียนจึงนำตัวเข้ารักษาด้วยเช่นกัน

จากการสอบสวนโรคทราบว่า


ก่อนหน้าที่จะถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล ครอบครัวผู้ป่วยพร้อมกับเพื่อนบ้านได้เข้าป่าล่าสัตว์และได้ยิงหมูป่ามาชำแหละแบ่งกัน โดยครอบครัวผู้ป่วยได้นำเนื้อหมูป่าใส่ไว้ในกระติกและปิดฝาทิ้งไว้เป็นเวลา 3 วัน จากนั้นในวันที่ 11 มิ.ย.จึงนำมาทำเป็นแหนมและรับประทานกันในครอบครัว

กระทั่งรุ่งเช้าลูกชายมีอาการดังกล่าว

จึงนำตัวส่งโรงพยาบาลปายและถูกส่งตัวมารักษาต่อที่โรงพยาบาลนครพิงค์ อย่างไรก็ตามจนถึงขณะนี้ทั้งสามยังอาการหนักและต้องใช้เครื่องช่วยหายใจอยู่ตลอดเวลา สำหรับอาการที่เกิดขึ้นกับครอบครัวของผู้ป่วย

พบว่ามีสาเหตุมาจากสารพิษโบทูลินั่ม ท็อกซินที่มีอยู่ในเนื้อหมูป่า

โดยแพทย์ได้ให้สารแอนตี้ท็อกซินของเชื้อโบทูลิสซึ่ม เพื่อทำลายสารแอนตี้ท็อกซินที่ยังอยู่ในกระแสเลือดและยังไม่ระบุได้ว่าจะต้องใช้เวลารักษานานเท่าไหร่

สารพิษชนิดนี้เป็นชนิดเดียวกันกับที่พบในหน่อไม้ปิ๊บ

ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตใน จังหวัดน่าน ก่อนหน้านี้ ทั้งนี้สารพิษดังกล่าวเกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดที่เจริญเติบโตโดยไม่อาศัย ออกซิเจนที่เรียกว่า "คลอสติเดียม โบทูลิสซึ่ม" โดยเชื้อนี้เมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมจะสร้างสปอร์เป็น เกราะหุ้มป้องกันตัวเอง ทำให้คงทนอยู่ตามพื้นดิน

เมื่อสารพิษดังกล่าวเข้าสู่ร่างกาย

จะทำให้เกิดอาการภายใน 12 - 36 ชั่วโมง โดยท็อกซินจะเข้าไปทำลายประสาทควบคุมกล้ามเนื้อในการเคลื่อนไหว ทำให้กล้ามเนื้อกลายเป็นอัมพาต โดยที่ประสาทรับความรู้สึกและรับรู้ยังดีอยู่ ทำให้ผู้ป่วยจะรู้สึกตัวดีอยู่แม้ว่าจะไม่สามารถขัยบเขยื้อนร่างกายได้หรือหายใจไม่ได้ สำหรับผู้ป่วยทั้งสามรายถือว่าแสดงการการเร็วมากคือภายใน 8 ชั่วโมง ซึ่งหาก ส่งช้าหรือให้สารแอนตี้ท็อกซินช้ากว่านี้อาจทำให้กล้ามเนื้อกระบังลมเป็นอัมพาตถึงขั้นเสียชีวิตได้

พ.ญ.สุภารัตน์ กาญจนวณิชย์ เปิดเผยว่า

สารพิษโบทูลินั่ม ท็อกซิน พบว่ามีอยู่ทั่วไปในดินสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและสามารถเข้าสู่ร่างกายสัตว์ต่างๆ ได้ โดยเฉพาะหมู อย่างไรก็ตามพบว่าพื้นดินในบริเวณ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน และ จ.น่าน มีปริมาณสารพิษชนิดนี้มากกว่าพื้นที่อื่นจึงขอแจ้งเตือนให้ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวและพื้นที่ใกล้เคียงให้ประกอบอาหารจากเนื้อสัตว์ด้วยการทำให้สุก โดยสารชนิดนี้จะตายไปหากอยู่ในความร้อนที่ 100 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 10 นาที หรือ 80 องศาเซลเซียส ในเวลา 30 นาที .

ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์