เปิบลาบ-หลู้หมูดิบตาย2หูดับอีก1จี้สธ.ออกก.ม.คุม

ชาวดอยสะเก็ดเปิบลาบ-หลู้หมูดิบ สังเวย 2 ศพ อีกรายหูดับ


กำนันประกาศเตือนเสียงตามสาย ด้าน สสจ.เชียงใหม่ ย้ำเลิกเปิบหมูดิบ ระบุ "สเตรปโตค็อกคัส" เชื้อร้ายเกิดจากหมูเครียดก่อนถูกเชือด แม้เขียงสะอาดก็ไม่เว้น เรื่องราวของการเปิบอาหารประเภทดิบๆและติดเชื้อโรคถึงแก่ความตาย และเกิดโรคหูดับได้รับการเปิดเผยจากนายวันชัย ทนันตา กำนัน ต.แม่โป่ง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ว่า เมื่อช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาในพื้นที่บ้านแม่โป่ง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ได้มีลูกบ้านเสียชีวิตและป่วยเป็นโรคหูดับไปแล้วรวม3 คน สาเหตุมาจากการรับประทานอาหารประเภทลาบหมู ซึ่งทำจากเนื้อหมูดิบ (ลาบหลู้)
 

นายวันชัยกล่าวเปิดเผยว่า ผู้เสียชีวิตรายแรก คือ 

นายพรหมมินทร์ ณีรพล อายุ 40 ปี ชาวบ้านหมู่ 5 ส่วนรายที่ 2 นายจรัญ ไทยกรณ์ อายุ 31 ปี อยู่บ้านเลขที่ 119 หมู่ 4 ต.แม่โป่ง อ.ดอยสะเก็ด เสียชีวิตไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำงานเป็นคนงานในโรงไม้ในพื้นที่ ต.ห้วยทราย อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ กำนันต.แม่โป่ง กล่าวอีกว่า ผู้เสียชีวิตรายหลังนี้ จากการสอบถามญาติ ทราบว่า หลังเลิกงานได้แวะดื่มสุราที่ร้านขายเหล้าตอง สั่งลาบหลู้ หมูดิบมากินเป็นกับแกล้ม หลังจากนั้นก็กลับมาที่บ้านใน อ.ดอยสะเก็ด คืนเดียวกันมีอาการปวดหัว ตัวร้อนเป็นไข้ แต่ไม่ยอมไปหาหมอ โดยซื้อยามากินเองและไปทำงานตามปกติ แต่ญาติทนไม่ไหวได้นำตัวไปหาหมอเพื่อรักษาที่โรงพยาบาลแม็คคอร์มิค อ.เมือง จ.เชียงใหม่ และเสียชีวิตในเวลาต่อมา เบื้องต้นแพทย์สันนิษฐานว่า เสียชีวิตเนื่องจากป่วยเป็นโรคเลือด   


นายวันชัยกล่าวว่า นอกจากรายของนายจรัญคนงานโรงไม้แล้ว ก่อนหน้าไม่เกิน 1 เดือน


นางบัวเขียว ทำมัง อายุ 50 ปี ซึ่งก็เป็นลูกบ้านในพื้นที่อีกรายได้ซื้อเนื้อหมูมาทำลาบกินกันเองกับลูก และสามี จากนั้นนางบัวเขียวก็มีอาการเป็นไข้ตัวร้อน จนต้องหามส่งโรงพยาบาลเช่นกัน กระทั่งมีอาการหูดับ สูญเสียการได้ยินเสียงไป นายวันชัยกล่าวอีกว่า เมื่อเห็นเหตุการณ์ร้ายเกิดขึ้นกับลูกบ้าน จึงได้ลงพื้นที่ประกาศเสียงตามสายเตือนให้ชาวบ้านระมัดระวังไม่กินอาหารดิบ โดยเฉพาะลาบหมู หลู้ ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นสาเหตุของอาการป่วยและตายของคนในหมู่บ้านในช่วงนี้ และยังได้ประสานไปยังเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและปศุสัตว์อำเภอให้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าสาเหตุการเสียชีวิตและหูดับในครั้งนี้จะเกิดจากการกินลาบหมูดิบ หรือหลู้หรือไม่
 

ด้านนพ.ปรีชา ศิริจิตราภรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า 

หลังได้รับแจ้งข้อมูลขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่เข้ามารักษาดังกล่าวมีสาเหตุมาจากการบริโภคเนื้อหมูดิบหรือไม่ ซึ่งตอนนี้ยังสรุปไม่ได้ อย่างไรก็ตาม การรับประทานอาหารประเภทลาบ หลู้ นั้น ควรมีการปรุงให้สุกก่อนจึงจะปลอดภัยที่สุด 


ด้านทพ.ดร.สุรสิงห์ วิศรุตรัตน์ รองนายแพทย์สาธารณสุข จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า 

การบริโภคหมูดิบนั้น ทางการแพทย์ถือว่าเป็นเรื่องที่อันตรายมาก ที่ผ่านมาไม่ใช่เฉพาะที่ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ก่อนหน้านี้พบว่ามีผู้ที่ได้รับเชื้อสเตรปโตค็อกคัส (Streptococus suis) ซึ่งอยู่ในเนื้อหมูดิบเข้ามารักษาแทบทุกเดือน บางรายโชคดีมารักษาเร็วก็รอดไป หากมารักษาช้าถึงขั้นเสียชีวิตหรือมีอาการหูดับ รองนายแพทย์สาธารณสุข จ.เชียงใหม่ กล่าวอีกว่า เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวขณะนี้ทางสำนักงานสาธารณสุขกำลังร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เร่งรณรงค์เตือนภัยและกำลังจะทำการสำรวจเนื้อหมูในตลาดเพื่อให้ได้ผลการวิจัยที่ยืนยันควบคู่กับการรณรงค์ให้ชาวบ้านได้ตื่นกลัวเลิกกินเนื้อหมู
  

ทพ.ดร.สุรสิงห์กล่าวว่า แม้ข้อเท็จจริงการกินเนื้อหมูดิบๆ เป็นการเสี่ยงอันตรายต่อการติดเชื้อสเตรปโตค็อกคัสเป็นอย่างมาก 

เพราะเราไม่สามารถควบคุมและล่วงรู้ได้เลยว่าเขียงหมูแต่ละแห่งจะรับซื้อหมูมาจากแหล่งใด ขนาดเขียงหมูที่ว่าสะอาดถูกสุขลักษณะก็ตาม อาจมีเนื้อหมูที่มีเชื้อสเตรปโตค็อกคัสได้ เพราะเชื้อดังกล่าวนี้เกิดในหมูที่มีความเครียดก่อนถูกฆ่ามาขาย ดังนั้นถ้าจะให้ปลอดภัยต้องทำให้สุก แต่ชาวบ้านบางกลุ่มยังคงบริโภคลาบ หลู้ และเนื้อหมูดิบ ซึ่งประเด็นที่เจ้าหน้าที่ต้องทำคือการต่อสู้กับวัฒนธรรมการกินพื้นบ้านที่มีมานาน  แม้อันตรายคนไทยก็ยังนิยมกินลาบดิบอยู่


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์