เทศกาลกินเจปีนี้ราคาผักพุ่งเงินสะพัดทั่วไทย6,000ล้านบ.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินช่วงเทศกาลกินเจปีนี้

ระหว่าง 11-20 ต.ค.นี้ จะทำให้ราคาผักสด อาหารเจตามสั่งน่าจะมีแนวโน้มแพงขึ้น 5-10 บาทเมื่อเทียบปีที่ผ่านมา ทำให้ผู้บริโภคอาหารเจต้องปรับตัว โดยการหันไปซื้ออาหารเจสำเร็จรูป และน่ามีเงินสะพัดทั่วไทยช่วง 10 วันกว่า 6,000 ล้านบาท


(6ตค.) บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

ได้ประเมินสถานการณ์เทศกาลกินเจในปี 2550 นี้ ระหว่างวันที่ 11-20 ตุลาคมที่จะถึงนี้ คาดว่าคึกคักเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา ปัจจัยหนุนเทศกาลกินเจในปีนี้คือ การเชื่อมโยงการเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะมีพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา โดยตั้งวัตถุประสงค์ว่าเป็นการกินเจเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการทำบุญถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำให้คาดหมายว่าในปีนี้จำนวนคนที่จะหันมาร่วมกินเจในช่วงเทศกาลกินเจมีเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา




อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญของเทศกาลกินเจในปีนี้คือ

ราคาผักที่มีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้น แม้ว่าในช่วงเทศกาลกินเจทุกปีราคาผักจะมีแนวโน้มสูงขึ้นเป็นประจำอยู่แล้ว แต่ในปีนี้มีแนวโน้มว่าราคาผักจะสูงเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากราคาผักหลายประเภทมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์สูงมาตั้งแต่ต้นปี และยิ่งใกล้เทศกาลกินเจราคาก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาอาหารเจสำเร็จรูปประเภทตักขายและอาหารเจตามสั่งน่าจะมีแนวโน้มแพงขึ้น โดยคาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นประมาณ 5-10 บาทเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ทำให้ผู้บริโภคอาหารเจต้องปรับตัว โดยการหันไปซื้ออาหารเจสำเร็จรูป เช่น อาหารกล่องแช่แข็ง ติ่มซำเจ เบเกอรี่เจ อาหารเจกระป๋อง เป็นต้น รวมทั้งอาหารเจกึ่งสำเร็จรูป เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป เป็นต้น กันมากขึ้น จึงคาดว่าอาหารเจสำเร็จรูปรวมทั้งอาหารเจกึ่งสำเร็จรูปมีแนวโน้มจะมียอดจำหน่ายสูงขึ้น เนื่องจากราคาอาหารเจเหล่านี้ราคาไม่ได้ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมากนัก


ทั้งนี้ คาดว่าในปี 2550 นี้

คนไทยที่ตั้งใจจะกินเจมีมากขึ้น นอกจากเพื่อต้องการทำบุญทำทานงดเว้นการรับประทานเนื้อสัตว์แล้ว ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ต้องการทำบุญถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในโอกาสจะมีพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา รวมทั้งยังได้กระแสสนับสนุนการที่ผู้บริโภคหันมาสนใจบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น และผู้บริโภคยังเน้นนโยบายประหยัดเช่นเดียวกับในปีที่ผ่านมา เนื่องจากความจำเป็นทางเศรษฐกิจ ทำให้บรรดาผู้ที่จำหน่ายอาหารเจบางรายต้องปรับตัวโดยการใช้กลยุทธ์ไม่ปรับราคา


นอกจากนี้ ผู้ประกอบการขายอาหารเจก็ปรับตัว

ด้วยการเริ่มจำหน่ายอาหารเจล่วงหน้าตั้งแต่ในช่วงวันที่ 8 ตุลาคม แม้ว่าเทศกาลรับประทานอาหารเจจะเริ่มในช่วงเย็นของวันที่ 10 ตุลาคม ซึ่งถือว่าเป็นมื้อล้างท้องก่อนที่จะเข้าสู่การรับประทานอาหารเจกันจริง ๆ ในตอนเช้าตรู่ของวันที่ 11 ตุลาคม โดยทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ในปี 2550 มูลค่าตลาดอาหารเจทั่วประเทศจะมีประมาณ 6,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาแล้วเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 10 โดยเป็นมูลค่าตลาดอาหารเจในกรุงเทพฯ ประมาณ 2,000 ล้านบาท


จากการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคอาหารเจในช่วงเทศกาลกินเจของคนไทยมาอย่างต่อเนื่อง

และในปีนี้ทางบริษัทดำเนินการสำรวจทั่วประเทศ “คนไทยกับเทศกาลกินเจปี 2550” จากกลุ่มตัวอย่าง 1,797 คน สำรวจระหว่างวันที่ 20-31 กันยายน 2550 โดยกระจายกลุ่มตัวอย่างตามอายุและรายได้ เนื่องจากปัจจัยทั้งสองนี้มีผลต่อพฤติกรรมการบริโภคอาหารเจ คาดว่าคนไทยส่วนใหญ่เลือกที่จะบริโภคอาหารเจเป็นบางวันหรือบางมื้อตามสะดวก จะมีค่าใช้จ่ายในการรับประทานอาหารเจเฉลี่ยประมาณวันละ 90 บาท/คน เนื่องจากยังคงเน้นประหยัดเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ยังรัดตัวอยู่ และบางคนปรับพฤติกรรมรับเศรษฐกิจพอเพียง และคาดว่าอาหารเจประเภทตักขาย/อาหารเจตามสั่งในปีนี้น่าจะมีการปรับราคาจำหน่ายเพิ่มขึ้น 5-10 บาท/เมนู เป็นผลมาจากราคาวัตถุดิบ โดยเฉพาะผักมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างมาก.


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์