เตือนแก๊งคอลเซ็นเตอร์ปลอมเป็นเลขาฯปปง.หลอกโอนเงิน

เตือนแก๊งคอลเซ็นเตอร์ปลอมเป็นเลขาฯปปง.หลอกโอนเงิน

เมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (เลขาธิการ ปปง.)

เปิดเผยว่า มีประชาชนจำนวนมากได้ร้องเรียนผ่านศูนย์รับเรื่องราว ร้องทุกข์ แจ้งเบาะแส สายด่วน ปปง. 1710 มีมิจฉาชีพแอบอ้างเป็นเลขาธิการ ปปง. แจ้งผู้เสียหายว่ามีผู้แอบอ้างนำบัญชีเงินฝากของผู้เสียหายไปใช้ในการกระทำ ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งผู้เสียหายจะต้องถูกดำเนินการยึดอายัดทรัพย์สิน โดยสำนักงาน ปปง.จะต้องตรวจสอบเงินในบัญชี หากต้องการ “พิสูจน์ตนเอง” และต้องการ “ช่วยราชการ” ในการจัดการทางกฎหมายกับผู้แอบอ้างที่นำบัญชีของผู้เสียหายไปใช้กระทำความ ผิด ผู้เสียหายต้องโอนเงินผ่านเครื่องรับจ่ายเงินอัตโนมัติ (เอทีเอ็ม) หรือโอนผ่านเครื่องรับฝากเงินสดอัตโนมัติ (ซีดีเอ็ม) เพื่อตรวจพิสูจน์ สารเสพติด และเมื่อตรวจสอบเรียบร้อยจะโอนเงินคืนกลับไปยังบัญชีผู้เสียหายในภายหลัง เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อและโอนเงินไปเรียบร้อยแล้ว ผู้เสียหายจะไม่สามารถติดต่อมิจฉาชีพทางโทรศัพท์ได้อีก


พ.ต.อ.สีหนาทกล่าวต่อว่า ล่าสุด ปลายปี 2556 มีผู้เสียหาย 2 ราย อายุประมาณ 40-45 ปี ขอปกปิดนาม ถูกหลอกลวงด้วยวิธีการดังกล่าว

หลงเชื่อจึงโอนเงินไปให้มิจฉาชีพ ครั้งละ 300,000-700,000 บาท รวมถึงการถูกหลอกลวงให้ไปกู้เงินมาเพิ่มอีกด้วย รวมมูลค่าที่โอนเงินไปกว่า 5,000,000 บาท โดยมิจฉาชีพจะสร้างสถานการณ์อย่างเป็นระบบ เป็นขั้นตอน และน่าเชื่อถือ ดังต่อไปนี้ เริ่มจากโทรศัพท์มาพูดคุยกับผู้เสียหายเป็นระยะเวลานานอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้เสียหายว่าเป็นเลขาธิการ ปปง.จริง แสดงความจริงใจและต้องการจะช่วยเหลือผู้เสียหายเพื่อ “พิสูจน์ตนเอง” และเพื่อให้ผู้เสียหายได้ “ช่วยราชการ” ของสำนักงาน ปปง. ในการปราบปรามผู้กระทำความผิด โดยมิจฉาชีพจะใช้วิธีการเดียวกันนี้หลอกลวงผู้เสียหายอีกหลายราย ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด


เมื่อผู้เสียหายรายใดที่หลงเชื่อ มิจฉาชีพจะสร้างสถานการณ์ต่างให้ดูน่าเชื่อถือ ด้วยการกล่าวอ้างกับผู้เสียหายว่า

ผู้เสียหายมิได้ถูกแอบอ้างนำบัญชีไปใช้กระทำความผิดเพียงคนเดียว ยังมีผู้เสียหายรายอื่นที่ต้องการ “พิสูจน์ตนเอง” และ “ช่วยราชการ” เช่นกัน พร้อมเชื่อมสัญญาณโทรศัพท์ให้เป็นแบบคุย 3 สาย เพื่อให้ผู้เสียหายที่หลงเชื่อมาพูดคุยและปรึกษาหารือกัน โดยมีมิจฉาชีพที่แอบอ้างเป็นเลขาธิการ ปปง. ร่วมพูดคุยด้วย จนสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้เสียหายว่าไม่ได้ถูกหลอกลวง เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อ และต้องการ “พิสูจน์ตนเอง” และ “ช่วยราชการ” ของสำนักงาน ปปง. มิจฉาชีพจะหลอกลวงให้ผู้เสียหายโอนเงินผ่านตู้เอทีเอ็มหรือเครื่องรับฝาก เงินสด และกำชับให้ทำลายสลิปการโอนเงินทุกครั้ง


พ.ต.อ.สีหนาทกล่าวอีกว่า เมื่อผู้เสียหายโอนเงินไปให้มิจฉาชีพระยะหนึ่งแล้ว

มิจฉาชีพเหล่านั้นจะสร้างสถานการณ์ให้เกิดความน่าเชื่อถือให้กับผู้เสียหาย ด้วยการโอนเงินจำนวนหนึ่งคืนกลับมาให้ผู้เสียหาย เพื่อเป็นการแสดงความจริงใจและแสดงความเป็นห่วง ถ้าผู้เสียหายต้องการนำเงินไปใช้ทำธุรกรรมประเภทต่างๆ เช่น จ่ายค่าบ้าน จ่ายค่าบัตรเครดิต จ่ายค่าผ่อนงวดรถยนต์ เป็นต้น ขณะที่พูดคุยมิจฉาชีพจะข่มขู่ผู้เสียหายให้เกิดความกลัว และไม่ให้ผู้เสียหายติดต่อหรือสอบถามเรื่องใดๆ มายังสำนักงาน ปปง. เพราะอาจเป็นอันตราย ประกอบกับอ้างว่าสำนักงาน ปปง.ทำงานเชิงลับมาก ผู้เสียหายจึงไม่กล้าติดต่อหรือสอบถามรายละเอียดใดๆ จากสำนักงาน ปปง.

พ.ต.อ.สีหนาทกล่าวว่า เมื่อผู้เสียหายโอนเงินให้กับมิจฉาชีพจนหมดบัญชีเงินฝากแล้ว มิจฉาชีพจะโน้มน้าวให้ผู้เสียหายแสวงหาเงินจากแหล่งอื่นๆ

เช่น การจำนองบ้าน รถ ที่ดิน หรือจำนำทรัพย์สิน เพื่อนำเงินทั้งหมดมา “พิสูจน์ตนเอง” และ “ช่วยราชการ” ของสำนักงาน ปปง. และหากผู้เสียหายเป็นข้าราชการ มิจฉาชีพก็จะโน้มน้าวให้กู้เงินสหกรณ์ ออมทรัพย์ สินเชื่อธนวัฏ กองทุนต่างๆ ของข้าราชการ เป็นต้น โดยให้เหตุผลว่ามีมิจฉาชีพซึ่งทำงานที่ธนาคารพยายามใช้เอกสารปลอมของผู้เสีย หายทำเรื่องกู้เงินที่ธนาคารหรือสหกรณ์นั้นๆ จึงแนะนำให้ผู้เสียหายทำการกู้เงินตัดหน้า ก่อนที่จะถูกมิจฉาชีพที่ปลอมเอกสารนำเงินของผู้เสียหายไป

เลขาธิการ ปปง.กล่าวเพิ่มเติมว่า จากรูปแบบและวิธีการหลอกลวงของมิจฉาชีพดังกล่าวจะมีความซับซ้อนมากขึ้น

ดังนั้น หากมีผู้แอบอ้างว่าเป็นเลขาธิการ ปปง. แล้วอ้างว่ามีการใช้บัญชีของผู้เสียหายในการฟอกเงิน ต้องถูกออกหมายจับกุม ถูกอายัดเงินในบัญชี ขอให้ประชาชนให้ระมัดระวังอย่าหลงเชื่อ เนื่องจากไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เพราะหลักการปฏิบัติตามข้อเท็จจริงหน่วยราชการจะดำเนินการใดๆ ก็ตามจะต้องมีหนังสือแจ้งให้ไปพบ ณ สถานที่ราชการ ในวัน เวลา ราชการเท่านั้น และหากผู้เสียหายได้มีการโอนเงินไปยังบัญชีของมิจฉาชีพแล้ว ห้ามทำลายสลิปการโอนเงินหรือห้ามฉีกโดยเด็ดขาดให้เก็บไว้เป็นหลักฐานและส่ง สำนักงาน ปปง. โดยด่วน เพื่อจะได้ติดตามร่องรอยบัญชีการโอนเงินซึ่งสำนักงาน ปปง.สามารถทำการระงับการโอนเงินในบัญชีดังกล่าวคืนให้กับผู้เสียหายได้

ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันและรู้เท่าทันมิจฉาชีพเหล่านี้ ขอให้ประชาชนทุกคนตั้งสติ เตือนตนอย่าหลงเชื่อมิจฉาชีพโดยเด็ดขาด ควรวางโทรศัพท์ทันที

ไม่ควรพูดหรือเจรจาเพราะมิจฉาชีพจะมีวิธีพูดให้เหยื่อกลัว และไม่กล้าวางสาย ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อหากมีข้อสงสัยให้เปิดเว็บไซต์ของสำนักงาน ปปง. ที่ www.amlo.go.th หรือโทรสายด่วน ปปง. 1710 เพื่อสอบถามข้อมูลโดยตรง ซึ่งบนเว็บไซต์ของสำนักงาน ปปง. จะมีการแจ้งเตือนประชาชนกรณีดังกล่าวด้วย ส่วนการติดตามคนร้าย ปปง.จะนำสลิปโอนเงินของผู้เสียหายไปตรวจสอบเส้นทางการเงินต่อไปโดยเชื่อว่า คนร้ายน่าจะถอนเงินออกไปทันที


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์