เตือนเที่ยวป่าระวัง2โรคอันตราย

"ตัวไรอ่อน พาหะนำโรคสครับไทฟัส และโรคมาลาเรีย"


เมื่อวันที่ 18 พ.ย. น.พ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ช่วงหน้าหนาวมักมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากนิยมเดินป่า และมักจะกางเต็นท์นอนตามป่า ควรระวังเนื่องจากในป่าจะมีตัวไรอ่อน เป็นพาหะนำโรคสครับไทฟัส และโรคไข้มาลาเรีย ทั้ง 2 โรคนี้มีอันตรายทำให้เสียชีวิต จากรายงานในปี 49 พบมีคนป่วยจาก 2 โรคนี้แล้ว 24,199 ราย เสียชีวิต 40 ราย ประกอบด้วยโรคสครับไทฟัส 2,379 ราย เสียชีวิต 3 ราย โรคมาลาเรีย 21,820 ราย เสียชีวิต 37 ราย เพราะ 2 โรคนี้ไม่มียากินและไม่มีวัคซีนป้องกัน

ด้านน.พ.ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคสครัปไทฟัสเกิดจากตัวไรอ่อนกัด ซึ่งในตัวไรอ่อนจะมีเชื้อริกเกตต์เซีย (Rickettsia orientalis) ตัวไรอ่อนมีขนาดเท่าปลายเข็มหมุด มีสีส้มอมแดง อาศัยอยู่ตามพื้นดิน บริเวณที่ชุ่มชื้น มีใบไม้ใบหญ้าปกคลุม โดยไรอ่อนชอบกัดบริเวณร่มผ้า ได้แก่ ที่อวัยวะสืบพันธุ์ ขาหนีบ เอว ลำตัว รักแร้และคอ ผู้ที่ถูกกัดจะมีแผลไหม้คล้ายโดนบุหรี่จี้ คือตรงกลางเป็นสะเก็ดสีดำ และรอบๆแผลจะแดง หลังถูกกัด 10-12 วันจะมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ตาแดง อาจมีอาการทางปอดและสมอง ควรรีบไปพบแพทย์ หากรักษาไม่ทันอาจทำให้เสียชีวิตได้ และต้องแจ้งประวัติการไปเที่ยวป่าให้แพทย์ทราบ

"ควรแต่งตัวให้รัดกุม"


ส่วนการป้องกันควรใส่รองเท้า ถุงเท้า ที่หุ้มปลายขากางเกงไว้ และเหน็บปลายเสื้อเข้าในกางเกง ใส่เสื้อแขนยาวปิดคอ ใช้ยาทากันแมลง ส่วนการเลือกที่ตั้งค่ายพักในป่าควรทำบริเวณค่ายพักให้โล่งเตียน หลีกเลี่ยงการนั่งและนอนบริเวณพุ่มไม้ ป่าละเมาะ หรือหญ้าขึ้นรก และเมื่อกลับมาถึงที่พักต้องรีบนำเสื้อผ้าไปต้มหรือแช่ผงซักฟอกทันทีเพื่อทำลายไรอ่อนที่อาจติดมากับเสื้อผ้าได้

สำหรับโรคมาลาเรียมียุงก้นปล่องเป็นพาหะ เกิดจากเชื้อพลาสโมเดียม มีระยะฟักตัวประมาณ 7-14 วัน อาการของโรคคือ มีไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ลักษณะอาการไข้หากเป็นเชื้อฟัลซิปารัม จับไข้ทุก 36-48 ชั่วโมงหรือทุกวัน

"ป้องกันให้ดี อันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้"


และอาจมีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น มาลาเรียขึ้นสมอง ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เหลืองซีด ปัสสาวะสีดำ ไตล้มเหลว ปอดบวมน้ำ ทำให้เสียชีวิตได้

น.พ.ธวัชกล่าวต่อว่า ก่อนเข้าไปในป่าไม่แนะนำให้กินยาป้องกันโรคมาลาเรีย เนื่องจากจะทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่ากินยาแล้วไม่ป่วยเป็นโรคไข้มาลาเรีย และหากป่วยเป็นไข้มาลาเรียจริงๆ ก็จะตรวจไม่พบเชื้อ ดังนั้นนักท่องเที่ยวที่จะเข้าไปนอนในป่าควรเตรียมมุ้งหรือเต็นท์ชนิดที่กันยุงได้ สวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว แต่ควรใส่สีอ่อนๆ เพราะสีดำมักดึงดูดให้ยุงกัดได้มาก รวมทั้งการจุดยากันยุง การทายากันยุงตามแขน ขา ใบหู หลังคอ และส่วนที่อยู่นอกเสื้อผ้า หากออกจากป่าแล้วมีไข้ต้องรีบพบแพทย์ และต้องแจ้งประวัติแก่แพทย์ที่ตรวจรักษาด้วยว่ามีประวัติการเข้าป่า


แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ข่าวสด

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์