เตือนอย่าเสียบปลั๊ก!! ที่ชาร์จชาร์จแบตฯโทรศัพท์มือถือเสียบทีวีดูยูโร

เตือนอย่าเสียบปลั๊ก!! ที่ชาร์จชาร์จแบตฯโทรศัพท์มือถือเสียบทีวีดูยูโร

เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. นายถวิล พึ่งมา อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมโทรคมนาคม คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)
 
ให้สัมภาษณ์ว่า สายอากาศคือสายที่ทำมาจากโลหะ ฉะนั้นถ้าไม่มีเสาอากาศหนวดกุ้งการนำวัสดุที่เป็นสื่อรับสัญญาณอย่างเช่นสายไฟที่มีความยาวตั้งแต่ 1.50-3 เมตร มาเสียบต่อกับช่องเสียบสายอากาศโทรทัศน์ (Antenna) ก็สามารถรับสัญญาณภาพและเสียงได้ อย่างไรก็ตามโทรทัศน์ที่ใช้ต้องอยู่ในเขตเมืองที่สัญญาณส่งมีความแรง ดังนั้น สายไฟ สายที่ชาร์จแบตฯ โทรศัพท์มือถือ ลวดทองแดง ทองเหลือง หรือไม้แขวนเสื้อที่ทำจากโลหะ สามารถใช้ได้หมด 


 "ถ้าเราติดจานดาวเทียมแล้วไม่มีหนวดกุ้งก็แค่ถอดสายอากาศ (Satellite Antenna) ออกแล้วหาอะไรก็ได้ที่ทำจากโลหะ จะเป็นลวด ไม้แขวนเสื้อ หรือสายไฟ เสียบเข้าไปแทนก็สามารถรับสัญญาณช่องฟรีทีวีได้ แต่คุณภาพจะไม่ดีเท่าสายอากาศที่ขายทั่วไป แค่แก้ขัดได้เท่านั้น เพราะไม่ได้แมตชิ่งกับทีวี 100 เปอร์เซ็นต์ ที่สำคัญมีข้อจำกัดอยู่ที่ถ้าอยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากเมืองต้องรับสัญญาณทีวีด้วยการติดเสาอากาศนอกบ้านสูงจากหลังคา 10-20 เมตร วิธีการนี้ไม่สามารถทำได้ เพราะว่าสัญญาณที่ส่งมาอ่อน จำเป็นต้องใช้สายสัญญาณที่ถูกต้องตามหลักวิชา" อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมโทรคมนาคม สจล.กล่าว

 นายถวิลกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ถ้าเกิดฝนตกจะมีผลกับการรับสัญญาณเช่นกัน
 
แต่สามารถแก้ไขเบื้องต้นด้วยการส่ายปลายสายไปมาเพื่อหาสัญญาณใหม่ได้ ถามว่าถ้าใช้ลวดทองแดง ทองเหลือง เวลาฝนตกฟ้าจะผ่ามาที่โทรทัศน์หรือไม่นั้นคิดว่าไม่น่าเกิดขึ้น เพราะตามหลักการแล้วฟ้าผ่าเกิดจากความต้านทานอากาศต่ำ หรือมีตัวนำระหว่างใต้พื้นดินกับเมฆ จึงไม่เกี่ยวกับสายสัญญาณแก้ขัด เพราะอยู่ภายในอาคารไม่ใช่สายที่ติดอยู่บนหลังคาบ้านซึ่งมีโอกาสถูกฟ้าผ่าได้มากกว่า หรือถ้าใช้สายไฟก็ไม่ต้องกลัวจะโดนไฟดูดถ้าไปสัมผัสปลายสาย เพราะมันเป็นเพียงตัวนำสัญญาณไม่ได้เป็นตัวนำไฟฟ้า

 ด้านน.ส.สุภาวดี อร่ามวิทย์ อาจารย์ประจําภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
ให้สัมภาษณ์ว่า สายแบตเตอรี่ของโทรศัพท์มือถือโนเกียร์คือสายอากาศชนิดโมโนโพลเส้นลวดแบบหนึ่งที่มีความยาวของสายประมาณหนึ่งส่วนสี่ของความยาวคลื่นในย่าน VHF/UHF จึงทำให้ส่วนที่เป็นสายไฟสามารถรับคลื่นได้เมื่อวางในแนวดิ่ง แต่ถ้าวางสายขนานกับพื้นดินอาจรับสัญญาณไม่ได้ดีเท่าที่ควร

 น.ส.สุภาวดีกล่าวว่า หลักการทำงานอธิบายง่ายๆ ได้ว่า
 
การเสียบขั้วต่อของสายชาร์จทำให้ขั้วในแบบตัวเมียของสายชาร์จสวมเข้ากับแกนตัวผู้ของขั้วต่อสายอากาศที่เครื่องรับโทรทัศน์ได้พอดี ด้วยเหตุนี้สายไฟเส้นหนึ่งของสายชาร์จจึงต่อกับขั้วในของสายอากาศและทำหน้าที่เป็นสายอากาศแบบโมโนโพล อย่างไรก็ตาม ไม่ควรต่อสายชาร์จเข้ากับเต้าเสียบไฟฟ้าที่มีไฟฟ้าเด็ดขาด เพราะจะทำให้วงจรภาครับของเครื่องรับโทรทัศน์เสียหายได้

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์