เตือนหญิงไทยปีหน้าเสี่ยงสูงมะเร็งเต้านม

ปีหน้าฟ้าใหม่ หญิงไทยมีสิทธเป็น “มะเร็งเต้านม” กันถ้วนหน้า

หลัง สธ.ระบุคาดสถิติจะพุ่งพรวดพราดขึ้นเป็นอันดับ 1 แซง “มะเร็งปากมดลูก” อย่างน่ากลัว ชี้กรุงเทพฯผู้ป่วยสูงสุด เขตพระโขนงนำลิ่ว 80 ต่อแสนประชากร ฟันธงสาเหตุมาจากกินอาหารที่มีไขมันสูง สูบบุหรี่จัด ขาดการออกกำลังกาย หรือเรียก “ไลฟ์สไตล์คนเมือง” เตือนสุภาพสตรีหมั่นตรวจเต้านมของรักด้วยตัวเอง หากพบสิ่งผิดปกติ-สตรีวัยหมดประจำเดือน น้ำหนักเพิ่มโดยไม่ทราบสาเหตุ ควรรีบไปหาแพทย์ทันที เปรยเป็นระยะแรกสามารถรักษาให้หายได้

ที่โรงแรมมิราเคิล วันที่ 21 พ.ย. นพ. ชาตรี บานชื่น อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวเปิดการประชุมโครงการรวม พลังรณรงค์มะเร็งเต้านม ตอนหนึ่งว่า

โรคมะเร็ง เป็นสาเหตุของการตายอันดับ 1 ของประเทศไทย โดยโรคมะเร็งเต้านมพบเป็นอันดับ 2 ของสตรีไทย และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นกำลังจะแซงมะเร็งปากมดลูกขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ทั้งนี้ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะปัญหามะเร็งเต้านม ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงว่าเกิดจากอะไร จึงยากที่จะป้อง กัน ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุข จึงมีการรณรงค์ให้สตรีไทยตรวจเต้านมด้วยตนเอง โดยให้อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) เป็นผู้แนะนำ หากพบผู้ต้องสงสัยที่มีก้อนเนื้อที่เต้านมจะถูกส่ง  เข้าสู่กระบวนการรักษา คาดว่าจะมีมากมายหลายเท่าตัว อย่างไรก็ตามหากพบระยะเริ่มแรก ก็สามารถรักษาให้หายได้ 

ด้าน นพ.ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ ผอ. สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า

จากสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติปี 42 พบผู้ป่วยมะเร็ง เต้านมรายใหม่ 5,854 ราย หรือคิดเป็น 20.5 ต่อแสนประชากร และในปี 51 คาดการณ์ว่าจะมี   ผู้ป่วยรายใหม่ 12,775 ราย ซึ่งมากกว่ามะเร็งปากมดลูก ในปีเดียวกันที่คาดการณ์ว่าจะมีเพียง 9,747 ราย และมะเร็งเต้านมจะกลายเป็นมะเร็งอันดับ 1 ในสตรีไทย มะเร็งเต้านมในประเทศไทยเริ่มพบมากในสตรีอายุ 35 ปีขึ้นไป และพบสูงสุดในอายุ 45 ปี โดยมะเร็งเต้านมที่พบเกือบ 50% อยู่ในระยะที่มีการกระจายในต่อมน้ำเหลืองแล้ว 

ผอ.สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวต่อว่า

ทั้งนี้กรุงเทพฯ เป็นจังหวัดที่พบมะเร็งเต้านมมากที่สุด โดยเขตที่พบมากคือ เขตพระโขนงพบประมาณ 80 ต่อแสนประชากร สาเหตุน่าจะมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของสังคมเมือง หรือไลฟ์ สไตล์ที่รับประทานอาหารที่มีไขมันสูง สูบบุหรี่ ขาดการออกกำลังกาย การป้องกันที่ดีที่สุด คือ สุภาพสตรีควรหมั่นตรวจเต้านมด้วยตนเอง หากพบก้อนเนื้อควรรีบไปปรึกษาแพทย์ หรือในกรณีสตรีวัยหมดประจำเดือนแล้วหากน้ำหนักเพิ่มขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ ควรรีบไปปรึกษาแพทย์เช่นกัน.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์