เตือนคนไทยกินฉลองปีใหม่มาก ระวังโรคอ้วน-เบาหวาน ถามหา

"เตือนคนไทย กินมาก ระวังอ้วน"


เตือนคนไทยอย่า กิน ฉลองปีใหม่มากเกินไป อาจทำให้เสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน -อ้วน -โรคหัวใจสูงขึ้น เผยผลวิจัย วัฒนธรรมการกินของคนไทย ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมามีพฤติกรรมบริโภคน้ำตาลเกินพอดี เหตุเพราะการเติบโตของเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ทำให้คนไทยเสียนิสัยนิยมบริโภคอาหารฟาสต์ฟู้ด น้ำอัดลม อาหารสำเร็จรูปสูงขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุให้อัตราการป่วยด้วยโรคที่เกิดจากการกิน โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อ เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูงขึ้นตามไปด้วย แนะคนไทยเปลี่ยนทัศนคติการกินใหม่ เน้นปรุงอาหารกินเอง ใช้น้ำตาลพื้นบ้านที่มีสารอาหารอื่นๆแทนน้ำตาลทราย

ในช่วงเทศกาลปีใหม่ถือเป็นช่วง บริโภคนิยม ของคนไทยทั้งประเทศทั้งอาหารคาว หวานที่ทุกครัวเรือนต่างซื้อหามาเฉลิมฉลองกัน จนทำให้หลงลืมไปว่าการบริโภคที่เกินพอดีนั้นอาจทำให้เกิดโรคร้ายต่างๆ ตามมามากมาย โดยเฉพาะการบริโภค น้ำตาล

นายชาติชาย มุกสง นักวิจัยอาวุโสสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ ผู้ทำวิจัยเรื่องการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริโภคที่มีผลต่อสุขภาพ ศึกษากรณีน้ำตาลระหว่าง พ.ศ.2504-2539 ภายใต้การสนับสนุนของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เปิดเผยว่า การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการกินน้ำตาลของคนไทยเริ่มตั้งแต่ประมาณปี 2504 ที่มีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการเมืองครั้งสำคัญคือการเริ่มแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับแรก ทำให้มีการสนับสนุนการปลูกพืชเศรษฐกิจหลายชนิด โดยเฉพาะ อ้อย ซึ่งเป็นพืชเงินสด (cash crop) ที่ให้ผลผลิตเร็วและมีราคาในตลาดโลกสูงเมื่อผ่านการผลิตเป็นน้ำตาลทราย

ต่อมาเมื่อมีผลผลิตอ้อยจำนวนมากจนทำให้น้ำตาลทรายล้นตลาดโลก ทำให้น้ำตาลราคาถูกจนอุตสาหกรรมการปลูกอ้อยจะประสบภาวะขาดทุน จึงต้องออกนโยบายส่งเสริมการบริโภคน้ำตาลทรายภายในประเทศเพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมน้ำตาล จนกระทั่งในต้นทศวรรษ 2510 เมื่อโรงงานน้ำตาลทรายของไทยสามารถผลิตน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ซึ่งสามารถนำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มสำเร็จรูปได้อย่างต่อเนื่อง นับเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริโภคน้ำตาลที่มีนัยสำคัญยิ่งของคนไทย

"การเจริญเติบโตทางเศรษฐกินมีส่วน"


การเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มสำเร็จรูป ประกอบกับการนำเข้าอาหารฟาสต์ฟู้ด และน้ำอัดลมหลายชนิด ทำให้คนไทยเปลี่ยนรูปแบบการบริโภคน้ำตาลในทางตรง คือ การปรุงอาหาร ทำขนม ชงกาแฟ ที่สามารถควบคุมปริมาณน้ำตาลได้ มาเป็นการบริโภคทางอ้อมมากขึ้น (น้ำอัดลม กาแฟสำเร็จรูป ขนมและเครื่องดื่มจากโรงงานอุตสาหกรรม) ซึ่งการบริโภคทางอ้อมจะไม่สามารถควบคุมปริมาณน้ำตาลได้ ยกตัวอย่างเช่น หากเราดื่มกาแฟชงเอง แต่ละวันดื่มกาแฟไม่เกิน 3 แก้ว มีปริมาณน้ำตาลไม่เกิน 6 ช้อน แต่เมื่อเปลี่ยนมาดื่มน้ำอัดลมวันละ 3 ขวด ปริมาณน้ำตาลที่ได้รับจะมากกว่า 6 ช้อน ซึ่งหากนับรวมเครื่องดื่ม และอาหารชนิดอื่น ในแต่ละวันเราจะบริโภคน้ำตาลในปริมาณที่คาดไม่ถึง"

"นอกจากนี้ ยังพบว่าความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ มีผลต่อวิถีการดำเนินชีวิตที่ใช้เครื่องอำนวยความสะดวกมากขึ้นและไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย รวมทั้งการบริโภคของคนไทยด้วย จากเดิมที่ภายในครอบครัวจะมีการปรุงอาหารและกินร่วมกันในบ้าน แต่ปัจจุบันมื้ออาหารที่กินในบ้านเริ่มลดลง จากกิน 2 มื้อ เช้า และเย็น เหลือ 1 มื้อ เช้าหรือเย็น และบางคนอาจไม่ได้กินอาหารที่บ้านเลยแม้แต่มื้อเดียว การเปลี่ยนจากการกินในบ้านเป็นการกินนอกบ้านมีโอกาสที่จะรับน้ำตาลมากขึ้น การกินแบบซื้อกิน เราจะตามด้วยน้ำอัดลม ขนมหวาน ขนมคบเคี้ยว ที่เป็นผลิตภัณฑ์จากอุตสาหกรรมที่มีน้ำตาลเป็นองค์ประกอบใหญ่ การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้เพิ่มโอกาสในการกินหวานมากขึ้น

"ผลิตภัณฑ์สมัยใหม่เน้นสุขภาพ"


จากสถิติการสำรวจภาวะอาหารและโภชนาการของคนไทย พบว่าปริมาณการบริโภคน้ำตาลเฉลี่ยต่อคนต่อปีของคนไทยเพิ่มสูงขึ้น จาก 4.3 กิโลกรัม ในปี 2501 เพิ่มเป็น 11 กิโลกรัม ในปี 2518 เป็น 28.5 กิโลกรัม ในปี 2540 และสูงที่สุด 39 กิโลกรัม ในปี 2548 ซึ่งสอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยโรคหัวใจ ที่มีอัตราเพิ่มขึ้น 56.5 ต่อประชากร 100,000 คน ในปี 2528 เป็น 109.4 คน ในปี 2537 และ 285.4 คน ในปี 2543 เช่นเดียวกัน โรคเบาหวานที่มีอัตราเพิ่มขึ้นต่อประชากร 100,000 คน จาก 33.3 คนในปี 2528 เพิ่มเป็น 91 คนในปี 2537 และ 250.3 คนในปี 2543 ซึ่งในจำนวนผู้ป่วยกว่า 2 ล้านคนในปัจจุบัน มีเพียงครึ่งเดียวเท่านั้นที่ทราบว่าตนเองเป็นโรคเบาหวาน

อย่างไรก็ดี แม้ปัจจุบันคนไทยจะหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น โดยที่ผ่านมากระแสของการดูแลสุขภาพและความงาม ดูเหมือนจะเป็นกระแสที่เกาะติดกับคนไทยในยุคนี้อย่างต่อเนื่อง ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ออกมาวางจำหน่ายจะเน้นไปที่เรื่องสุขภาพ เช่น ผลิตภัณฑ์ไขมันต่ำ sugar free แต่ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่ได้ช่วยให้การบริโภคอาหารของคนไทยถูกหลักโภชนาการมากขึ้น

"หากคนไทยไม่คุม อ้วนแน่"


เพียงแต่ช่วยลดพลังงานส่วนเกินที่ได้จากการบริโภคน้ำตาลเท่านั้น และหากคนไทยยังไม่สามารถควบคุมการพฤติกรรมบริโภคอาหารฟาสต์ฟู้ด อาหารถุง น้ำอัดลม ชา กาแฟ ขนม และอาหารสำเร็จรูปทุกชนิด ซึ่งมักจะมีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบสำคัญอยู่ เป็นอาหารหลัก และไม่ออกกำลังกาย ปัญหาด้านสุขภาพก็ไม่อาจแก้ให้หมดไปได้

นายชาติชาย กล่าวว่า การแก้ไขพฤติกรรมการกินหวานเกินพอดีของคนไทย อาจใช้กระแสการดูแลสุขภาพและความงามเข้ามาช่วยได้บ้าง เช่น ให้ความสำคัญกับการใช้สารให้ความหวานแบบพื้นบ้านที่ไม่ได้มีเพียงคาร์โบไฮเดรตอย่างเดียวเหมือนน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ แต่ในน้ำตาลพื้นบ้านจะมีสารอาหารอย่างอื่นรวมอยู่ด้วย เช่น น้ำตาลโตนด น้ำตาลแดงมีผลดีต่อสุขภาพ และสร้างวัฒนธรรมและค่านิยมใหม่ ให้คนไทยหันมาปรุงอาหารกินกันเองในครอบครัวมากขึ้นเพื่อจะสามารถควบคุมเครื่องปรุงรสอย่างน้ำตาลหรือเกลือที่กำลังเป็นปัญหาด้านสุขภาพอยู่ขณะนี้ รวมทั้งเปลี่ยนจากกินอาหารหวาน มาเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ จะเป็นทางออกที่ช่วยลดปัญหาสุขภาพคนไทยได้อีกทางหนึ่ง

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์