เฉลิม ประชุมคจร.ตีกลับมาตรการสลับเวลาทำงาน

เฉลิม ประชุมคจร.ตีกลับมาตรการสลับเวลาทำงาน


“เฉลิม”ตีกลับมาตรการสลับเวลาทำงาน จี้ดึงเอกชน-โรงเรียนร่วมโครงการด้วยช่วยแก้รถติด อนุมัติตั้งอนุกรรมการแก้จราจรเมืองกรุงมี รมว.คมนาคมเป็นประธาน

วันนี้  (17 ต.ค.) ที่ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) มีนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.คมนาคม นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมช.คมนาคม นายธีระชน มโนมัยพิฐูลย์ รองผู้ว่าฯ กทม. นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม ซึ่งนายชัชชาติ เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมมีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการจราจรเร่งด่วน ในเขตกรุงเทพมหานคร มี รมว.คมนาคมเป็นประธานอนุกรรมการ รมช.คมนาคม ปลัดคมนาคม ผบ.ตร.เป็นรองประธานอนุกรรมการ โดยอนุกรรมการประกอบด้วย รองปลัดคมนาคม ผบช.น. ผบก.จร. หัวหน้าหน่วยงานในสังกัดคมนาคมทั้งหมด เพื่อทำหน้าที่บูรณาการประสานงาน อำนวยการ และสั่งการแก้ปัญหาการจราจรเร่งด่วนและในภาวะวิกฤติ รวมถึงทำแผนยุทธศาสตร์แก้ปัญหาจราจร โดยสามารถเสนอเรื่องขออนุมัติการทำงานต่อ ครม.ได้โดยไม่ต้องผ่าน คจร.ก่อน
ทั้งนี้ให้มีหน่วยปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการจราจรเร่งด่วนในเขตกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่ที่ศูนย์ควบคุมและสั่งการจราจร (บก.02) มีรอง ผบช.น.เป็นหัวหน้าหน่วย มีอำนาจสั่งการแก้ไขการจราจรได้ หลังจากนี้ให้ สนข.ไปร่างหนังสือแต่งตั้งอนุกรรมการฯ เมื่อ ร.ต.อ.เฉลิม ลงนามจะเรียกประชุมการทำงานทันที

นายชัชชาติ กล่าวว่า สำหรับมาตรการแก้ปัญหาการจราจรด้วยมาตรการสลับเวลาการทำงานนั้น ร.ต.อ.เฉลิม สั่งการให้ สนข.ไปพิจารณารายละเอียดใหม่ โดยให้ดึงภาคเอกชน และโรงเรียนเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการนี้ จึงจะแก้ปัญหาได้อย่างจริงจัง ซึ่งหากจะให้นักเรียนมีการสลับเวลาเข้าเรียน ก็ต้องคำนึงถึงผู้ปกครองต้องมีเวลาเข้างานที่สอดคล้องกันด้วย จึงให้ไปทำรายละเอียดมาใหม่ ทั้งนี้ให้นำเรื่องเข้าเสนอในที่ประชุม คจร.ครั้งต่อไป ส่วนหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ สามารถใช้มาตรการสลับเวลานี้ได้ก่อน เพราะเคยมีมติ ครม.ออกมาแล้ว

นายจุฬา เปิดเผยว่า ในส่วนของระบบรางกำหนดแผนเดินหน้าก่อสร้างรถไฟฟ้าเน้น 10 สายตามแผนแม่บท ประกอบด้วย 1.รถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม (ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต-มหาชัย) 8.08 กม. 2.รถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน (ศาลายา-หัวหมาก) 54 กม. 3.แอร์พอร์ตเรลลิ้งค์ (สนามบินดอนเมือง-สุวรรณภูมิ) 50.3 กม. 4.รถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม (ลำลูกกา-บางปู) 66.5 กม. 5.สีเขียวอ่อน ยศเส-บางหว้า 15.5 กม. 6.สีน้ำเงิน (บางซื่อ-หัวลำโพง-ท่าพระ-พุทธมณฑลสาย 4) 55 กม. 7.สายสีม่วง (บางใหญ่-ราษฎร์บูรณะ) 42.8 กม. 8.สีส้ม (จรัญสนิทวงศ์-มีนบุรี) 32.5 กม. 9.สีชมพู (แคราย-มีนบุรี) 36 กม. และ 10.สายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) 30.4 กม. จะทยอยประกวดราคาจนครบ 10 สาย ภายในปี 2557 โดยจะเปิดให้บริการครบทั้ง 10 สายได้ภายในปี 2562 รวมระยะทางทั้งสิ้น 464 กม. ซึ่งจะสร้างโครงการในเมืองถึงช่วงแถวคูคต สมุทรปราการ ศาลายาก่อน โดยหลังปี 2562 จะขยายออกนอกเมืองมากขึ้นไปถึงบางปู มหาชัย ส่วน 2 สาย ที่เคยมีการอนุมัติในการประชุม คจร.ครั้งที่ผ่านมาเมื่อปี 2553 ได้แก่ สายสีเทา (วัชรพล-สะพานพระราม 9) 26 กม. และสายสีฟ้า (ดินแดง-สาทร) 9.5 กม. ยังไม่เน้นในขณะนี้ เพราะเป็นเส้นทางเชื่อมต่อของ กทม. ซึ่ง กทม.จะหยิบไปทำก่อนก็ได้

ขณะนี้มีรถไฟฟ้าอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 5 โครงการ ระยะทาง 83 กม. ได้แก่ 1.สายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน 15 กม. เปิดบริการปี 2555 2.สายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ 23 กม. เปิดบริการปี 2558 3.สายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ 13 กม. หัวลำโพง-บางแค 14 กม. เปิดบริการปี 2559 4.สีเขียวเข้ม ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ 12.8 กม. เปิดริการ 2560 และ 5.สายสีเขียวอ่อน ช่วงตากสิน-บางหว้า 5.3 กม. เปิดบริการปี 2555 มีโครงการที่อยู่ระหว่างประกวดราคา 1 โครงการ คือ สายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-รังสิต 26 กม.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์