เงินต่างชาติบินหนีตลาดเกิดใหม่ จับตาอินโดฯ-เกาหลีใต้เจ็บหนัก


ตลอด 4 ปีที่ผ่านมาตลาดหุ้นของประเทศเศรษฐกิจใหม่หรือตลาดเกิดใหม่ (Emerging markets) คึกคักเฟื่องฟูอย่างมากเพราะถูกอัดฉีดหล่อเลี้ยงด้วยเงินลงทุนจากต่างชาติที่แสวงหากำไรสูงสุด แต่นับจากเกิดวิกฤตการเงินในสหรัฐอเมริกา และท้ายที่สุดแพร่กระจายไปทั่วโลก
 
ปรากฏว่าต่างชาติโดยเฉพาะกองทุนป้องกันความเสี่ยง (เฮดจ์ฟันด์) ได้เทขายหุ้นในตลาดเกิดใหม่เหล่านี้ทิ้ง เพื่อนำเงินสดกลับไปยังประเทศของตนเพื่อรองรับการไถ่ถอนการลงทุนหรือชำระหนี้

ประเทศเศรษฐกิจใหม่ทั้งในเอเชีย ละตินอเมริกา รัสเซีย ล้วนได้รับผลกระทบจากเงินไหลออกทั้งสิ้น อาทิ กรณีอินเดียประเมินว่ามีเงินไหลออกจากตลาดหุ้นในปีนี้ กว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ เกาหลีใต้ไหลออก 2.48 หมื่นล้านดอลลาร์ มูลค่าตลาดหุ้นลดลงกว่า 25% รัสเซียไหลออก 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์ พร้อมกับดัชนีตลาดหุ้นลดลง 65% เมื่อเทียบกับช่วงที่เคยขึ้นไปสูงสุด

เพราะตลาดหุ้นรัสเซียนั้นประกอบด้วยนักลงทุนจากต่างชาติอย่างน้อยก็ครึ่งหนึ่ง ทำให้ 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นรัสเซียดิ่งลงอย่างหนัก กระทั่งต้องสั่งพักการซื้อขายหุ้นเป็นระยะในแต่ละวัน


ส่วนเม็กซิโกก็ประสบปัญหาเดียวกันจนทำให้ค่าเงินเปโซอ่อน กระทั่งรัฐบาลต้องขายทุนสำรองที่เป็นดอลลาร์ออกมาเพื่อพยุงค่าเงินเปโซ

กรณีของอินโดนีเซีย มูลค่าตลาดหุ้นลดลงไปแล้วกว่า 40% นับจากต้นปีนี้ และในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ประสบกับการที่ต่างชาติเทขายหุ้นอย่างหนักจนต้องปิดตลาดหุ้นไป 3 วันในสัปดาห์ที่แล้ว ระหว่างวันที่ 8-10 ตุลาคม หลังจากดัชนีร่วงลงกว่า 10% และหาจุดต่ำสุดไม่เจอ เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะ 70% ของผู้ลงทุนในตลาดหุ้นอินโดฯเป็นต่างชาติ
ซึ่งมีการระบุว่าต่างชาติขาใหญ่ที่เทขายหุ้น ได้แก่ เจพีมอร์แกน, เมอร์ริล ลินช์และเครดิตสวิส ซึ่งล้วนเป็นสถาบันการเงินจากสหรัฐและยุโรปที่ถูกกระทบอย่างหนักจากวิกฤต

สถาบันการเงินนานาชาติในวอชิงตัน (ไอไอเอฟ) ประเมินว่า

 เงินทุนเอกชนที่เคยไหลเข้าไปยังตลาดเกิดใหม่ 30 ประเทศทั่วโลกปีนี้จะลดลงประมาณ 1 ใน 3 หรือเหลือเพียง 6.19 แสนล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และคาดหมายว่าปีหน้าเงินทุนดังกล่าวจะลดลงอีก 6 หมื่นล้านดอลลาร์ และเมื่อผนวกเข้ากับปัญหาสภาพคล่องตึงตัวแล้วจะทำให้ประเทศเศรษฐกิจใหม่เหล่านี้ลำบากมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ท่ามกลางความเลวร้ายเช่นนี้ยังมีข้อดีสำหรับประเทศเศรษฐกิจใหม่อยู่บ้าง นั่นคือเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (เอฟดีไอ)

ซึ่งเป็นเงินที่ลงทุนในภาคเศรษฐกิจแท้จริงยังไหลเข้าไปยังตลาดเกิดใหม่อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการไหลออกของเงินต่างชาติออกจากตลาดหุ้นจึงจะไม่สร้างความเสียหายให้กับเอเชียอย่างที่เคยเกิดวิกฤตการเงินในเอเชียเมื่อปี 2540 จนกระทั่งทำให้ไม่มีเงินชำระหนี้ต่างประเทศ ดังนั้นถือว่าโดยภาพรวมแล้วสถานะทางการเงินของตลาดเกิดใหม่เหล่านี้อยู่ในเกณฑ์ดี

กระนั้นก็ตามผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า มีสองประเทศในเอเชียที่เสี่ยงจะได้รับผลกระทบหนักจากการไหลออกของเงินทุนต่างชาติ ได้แก่ อินโดนีเซียและเกาหลีใต้

เนื่องจากสองประเทศนี้มีหนี้ต่างประเทศระยะสั้นในสัดส่วนที่สูง กล่าวคือมีหนี้สูงกว่าทุนสำรองระหว่างประเทศกว่า 2 เท่า

ส่วนในรายของประเทศอื่น อาทิ บราซิล เม็กซิโก ชิลีและเปรู แม้จะมีความอ่อนไหวต่อการไหลออกของเงินต่างชาติ แต่เชื่อว่าจะฟื้นตัวได้เร็วเนื่องจากประเทศเหล่านี้มีวินัยทางการเงินและมีการปฏิรูปภาคการเงินแล้ว
อีกทั้งมีทุนสำรองระหว่างประเทศค่อนข้างมาก

เกรซ วาร์กีส นักค้าหุ้นหญิงวัย 50 ปี ในบังกาลอร์ของอินเดีย ศูนย์กลางไฮเทคของโลกยอมรับว่า

หลังจากตลาดหุ้นถล่มลงในไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้เธอต้องสูญเงินไปแล้วกว่า 5 หมื่นดอลลาร์
กระทั่งต้องร้องไห้ด้วยความเจ็บปวด ขณะนี้ต้องกินยาแก้ความดันโลหิตสูง เธอโทษว่าการดิ่งลงของตลาดหุ้นไม่ได้เกิดจากปัญหาภายในของอินเดียแต่เกิดจากนักลงทุนต่างชาติ แต่เธอมั่นใจว่าพื้นฐานของตลาดหุ้นอินเดียยังแข็งแกร่ง

ตรงกันข้ามกับความเห็นของราเจช เจน ประธานบริหารของพรานาพ ซีเคียวริตี้ ในมุมไบ กลับเห็นว่า

แม้ช่วงนี้จะเป็นโอกาสดีในการเข้าซื้อหุ้นราคาถูก แต่ก็เตือนว่าต้องระมัดระวังเพราะยังไม่แน่ใจว่ายุคบูมจะกลับมาสู่ตลาดหุ้นอินเดียในเวลาอันสั้นนี้หรือไม่เพราะปัจจัยพื้นฐานได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว (กรอบหวย)

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์