เกมวงกตแบบเสมือนจริง ช่วยบ่งชี้ความเสี่ยงในการเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้

เกมวงกตแบบเสมือนจริง ช่วยบ่งชี้ความเสี่ยงในการเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้


นักวิจัยเยอรมันตีพิมพ์ผลการศึกษาในวารสาร Science ระบุว่า เกมวงกตแบบเสมือนจริงที่จำลองขึ้นโดยเทคนิคทางคอมพิวเตอร์ สามารถช่วยทำนายความเสี่ยงในการเป็นโรคอัลไซเมอร์ที่มาจากพันธุกรรมได้ ก่อนที่อาการของโรคจะแสดงออกหลายสิบปี โดยทีมนักวิจัยให้อาสาสมัครอายุระหว่าง 18-30 ปี เล่นเกมวงกตเสมือนจริง เพื่อทดสอบความสามารถในการเล่นเกมและการทำงานของเซลล์บางส่วนในสมอง 

ลูคัส คูนซ์ หัวหน้าทีมนักวิจัยชาวเยอรมนีกล่าวถึงผลการศึกษาว่า กลุ่มอาสาสมัครที่มีความเสี่ยงเป็นอัลไซเมอร์สูง มีวิธีหาทางเดินตามเส้นทางที่วกวน แตกต่างไปจากกลุ่มที่ไม่มีความเสี่ยงทางพันธุกรรม รวมทั้งเซลล์สมองส่วนที่ควบคุมทักษะการนำทางในพื้นที่ต่างๆ ก็ทำงานลดลงด้วย ซึ่งผลการศึกษานี้จะเอื้อให้วงการแพทย์และผู้ที่ต้องทำงานกับผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม เข้าใจว่า เหตุใดผู้ป่วยจึงหลงทางเป็นประจำ

ด้าน ดร. ลอรา ฟิปส์ จากสถาบันวิจัยโรคอัลไซเมอร์ของอังกฤษกล่าวว่า งานวิจัยนี้ศึกษาคนในวัยหนุ่มสาวที่ยังคงมีสุขภาพดี เพียงแต่ว่าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงทางพันธุกรรมต่อโรคอัลไซเมอร์เท่านั้น ซึ่งอาจบ่งบอกได้ว่า การเปลี่ยนแปลงของเซลล์สมองที่ควบคุมทักษะการนำทางนั้น อาจเกิดขึ้นหลายสิบปีก่อนอาการของโรคอัลไซเมอร์จะแสดงออก และถึงแม้ว่าตอนนี้เรายังไม่รู้ว่า อาสาสมัครกลุ่มนี้จะป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ตอนสูงอายุหรือไม่ แต่การเปลี่ยนแปลงในสมองที่เกิดขึ้นในวัยหนุ่มสาว ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีความสัมพันธ์กับปัจจัยเสี่ยงทางพันธุกรรม นับว่ามีนัยสำคัญ เพราะจะช่วยให้นักวิจัยเข้าใจมากขึ้นว่า เหตุใดบางคนถึงมีความเสี่ยงสูงกว่าคนอื่นที่จะเป็นโรคอัลไซเมอร์ในวัยสูงอายุ 

อย่างไรก็ตาม ดร. ฟิปส์ ชี้ว่า ปัจจัยที่ทำให้เสี่ยงเป็นโรคอัลไซเมอร์มีหลายอย่าง เช่น อายุ พันธุกรรม และวิถีการดำรงชีวิต ซึ่งงานวิจัยจะเอื้อให้เข้าใจมากขึ้นว่า ปัจจัยเสี่ยงแต่ละข้อมีความสัมพันธ์กันอย่างไร และจะส่งผลให้เป็นโรคอัลไซเมอร์ได้อย่างไร 
#Alzheimer's
ภาพประกอบ (แฟ้มภาพ) นักวิจัยศึกษาสมองของผู้ป่วยอัลไซเมอร์

ขอขอบคุณ 

บีบีซีไทย - BBC Thai

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์