อุทยานน้ำหนาววิกฤตินักท่องเที่ยวล้น-ขยะเกลื่อน

อุทยานแห่งชาติน้ำหนาววิกฤติ นักท่องเที่ยวล้น ทำขยะเกลื่อน

ทั้งขวด-พลาสติก-โฟม ปริมาณเพิ่มเพียบ กำจัดไม่หมด ฝังกลบยังโผล่ ช้างป่าคุ้ยกินถุงพลาสติกเข้าไปด้วย หวั่นสัตว์ป่ากินขยะตาย หัวหน้าอุทยานเผยไม่มีงบทำเตาเผา ด้านอุทยานภูกระดึงออกกฎเหล็กให้นักท่องเที่ยวมัดจำบรรจุภัณฑ์ นับถุงพลาสติก-ขวดน้ำที่นำขึ้นไปบนภู ขากลับต้องเก็บลงมา หากไม่ปฏิบัติตามจะถูกริบเงินมัดจำ


ปัญหานักท่องเที่ยวที่มีจำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงเทศกาลที่เป็นวันหยุดยาวช่วงเทศกาลปีใหม่

ประกอบกับปีนี้สภาพอากาศหนาวเย็นทำให้พื้นที่ภูเขาและอุทยานต่างๆ มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาพักแรมจำนวนมาก ส่วนใหญ่มาประกอบอาหารและซื้อขนม เครื่องดื่มมาดื่มกินกันอย่างสนุกสนาน ทำให้เกิดขยะจำนวนมากตามไปด้วย
ล่าสุด ปัญหาขยะในสถานที่ท่องเที่ยวได้ส่งผลต่ออุทยานแห่งชาติน้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นแหล่งรวมสัตว์ป่านานาชนิด ขณะนี้ได้รับผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม เมื่อพบช้างป่ากินถุงพลาสติกที่เป็นขยะล้นอุทยาน หรือถูกทิ้งด้วยความมักง่ายของผู้คนที่ขับรถสัญจรผ่านไปมา โดยพบมูลช้างอยู่ข้างโป่งเทียม และแหล่งน้ำข้างหอส่องสัตว์ ส่วนใหญ่มีถุงพลาสติกปะปนมาด้วย มูลช้างบางกองมีเศษผ้าและขวดพลาสติกปะปนอยู่

นายกำธร เสวีวัลลภ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว กล่าวว่า

การดูแลและเก็บขยะมูลฝอยในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติน้ำหนาวในช่วงเทศกาลท่องเที่ยวและในวันหยุดยาว ทำให้เกิดขยะล้นและมีจำนวนมากจริง เพราะผู้คนที่เดินทางมาท่องเที่ยวและพักแรมในอุทยานแห่งชาติน้ำหนาวมีจำนวนถึง 6-7 หมื่นคน แม้ว่าจะเป็นระยะสั้นก็ตาม แต่ปริมาณขยะมีจำนวนมากส่งผลทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมา ประกอบกับอุทยานไม่มีงบประมาณสร้างเตาเผาขยะ จึงต้องใช้วิธีฝังกลบเท่านั้น

  
นายกำธร กล่าวว่า การดูแลและเก็บขยะในอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว ได้นำถุงขยะไปวางไว้ตามจุดท่องเที่ยวเพื่อให้นักท่องเที่ยวนำขยะทิ้งลงถังเพื่อให้เจ้าหน้าที่เก็บไปจากบริเวณอุทยานที่เป็นสถานที่พักแรม

แต่เนื่องจากขยะมีจำนวนมาก เมื่อนำไปกำจัดด้วยการฝังกลบในพื้นที่ที่จัดทิ้งขยะตามป่าในอุทยานแห่งชาติ เจ้าหน้าที่อาจจะนำขยะลงหลุมไม่ได้ทั้งหมด จึงมีช้างป่ามากินในเวลากลางคืน เจ้าหน้าที่เองก็พบเห็นมูลช้างที่กินขยะเช่นกัน และได้กำชับให้ฝ่ายจัดเก็บขยะทำให้เรียบร้อย อย่าให้มีเศษขยะหลงเหลือเพราะอาจเป็นอันตรายต่อสัตว์ป่าที่กินเข้าไป ทั้งนี้ปัญหาเรื่องขยะล้นจนช้างป่าออกมากินนั้น เป็นเพียงชั่วเวลาที่สั้นๆ และเมื่อเข้าสู่ภาวะทั่วไป ปริมาณขยะก็ลดลงจนเป็นปกติ


ผู้เชี่ยวชาญเรื่องช้างรายหนึ่งระบุว่า ตามที่ช้างป่ากินพลาสติกเข้าไป บ่งบอกว่าสัตว์ป่ากำลังได้รับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ที่กำลังจะกลายเป็นปัญหาที่ภาคส่วนของหน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องเร่งหามาตรการแก้ไข ช้างกินถุงพลาสติกไม่ส่งผลต่อระบบทางเดินอาหาร เพราะช้างไม่มีกระเพาะ มีเพียงลำไส้ใหญ่เท่านั้น แต่เป็นห่วงว่าหากกวาง เก้ง หรือสัตว์ป่าอื่นๆ กินถุงพลาสติกเข้าไปก็อาจถึงตายได้ เพราะสัตว์เหล่านี้มีกระเพาะอาหารเมื่อกินเข้าไปแล้วไม่ย่อย จึงอาจเสียชีวิตได้


สำหรับอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว มีช้างป่ามากกว่า 100 ตัว สภาพป่าอุทยานแห่งชาติน้ำหนาวมีพื้นที่ 6 แสนไร่

อาณาเขตติดต่อกับเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว ทุ่งกะมัง จ.ชัยภูมิ เนื้อที่ 8 แสนไร่ และอุทยานแห่งชาติตาดหมอกอีก 4 แสนไร่ รวมเนื้อที่ของทางเดินของช้างป่าที่แยกกันออกหากินในเวลากลางคืนรวมเนื้อที่ประมาณ 1.8 ล้านไร่ ช้างป่าแต่ละโขลงแยกกันหากินโขลงละไม่เกิน 10 ตัว


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์