อีก30ปีข้างหน้า อุณหภูมิไทยจะสูงขึ้น3-4องศา

จุฬาฯเผยผลวิเคราะห์แบบจำลองสภาพภูมิอากาศของไทยช่วงปี พ.ศ.2588 – 2608 พบอีก 30 ปีข้างหน้าอุณหภูมิประเทศเฉลี่ยสูงขึ้น 3-4 องศา น้ำทะเลชายฝั่งอ่าวไทย “กทม.-ระยอง–เพชรบุรี-นราธิวาส” สูงขึ้น 14-15 ซ.ม. ...


เมื่อวันที่ 8 ก.ย. ผศ.ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผอ.ศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ( SEA START RC ) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กล่าวในเวทีวิชาการเรื่อง การคาดคะเนผลกระทบเชิงกายภาพของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อประเทศไทย จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ว่า จากการวิเคราะห์แบบจำลองสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยในช่วงปี พ.ศ.2588 – 2608 ในขอบเขต 8 พื้นที่ตามลักษณะของสภาพทางธรณีวิทยาและภูมิประเทศ ตั้งแต่บริเวณเทือกเขาสูง ที่ราบลุ่มและชายฝั่งทะเล โดยใช้องค์ความรู้ที่มีอยู่ เช่น การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ปริมาณน้ำฝนและระดับน้ำทะเลในการศึกษา พบว่า อีก 30 ปีข้างหน้าอุณหภูมิเฉลี่ยของประเทศไทยจะสูงขึ้นอีก 3 – 4 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะบริเวณเทือกเขาทางภาคเหนือจะมีอุณภูมิสูงขึ้นมากกว่าพื้นที่อื่น


ทั้งนี้ยังพบว่าอุณหภูมิที่สูงขึ้นจะเกิดขึ้นในฤดูฝนและหนาว ส่งผลให้ในอนาคตฤดูร้อนกับฤดูหนาวของประเทศไทยจะไม่แตกต่างกันมากนัก

นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังเป็นปัจจัยเสริมให้เกิดโดมความร้อนที่รุนแรงขึ้นในเขตเมือง ในทุกช่วงเวลาทั้งกลางวัน กลางคืนและทุกฤดูกาล ซึ่งอันตรายที่เกิดจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นในหน้าร้อนจะเพิ่มขึ้น หากความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศสูง ส่งผลให้ระบบเมตาบอลิซึมในร่างกายล้มเหลวเป็นอันตรายถึงชีวิต


ผศ.ดร.อานนท์ กล่าวอีกว่า จากแบบจำลองดังกล่าวยังคาดการณ์ว่าระดับน้ำทะเลจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 14 – 15 เซนติเมตร

ซึ่งจะทำให้ชายฝั่งบริเวณอ่าวไทยได้ผลรับผลกระทบเป็นอย่างมาก ชายฝั่งที่ประสบปัญหารุนแรง คือ กรุงเทพมหานครและบริเวณใกล้เคียงที่ตั้งอยู่ใกล้ปากแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก รวมถึงชายฝั่งจังหวัดระยอง เพชรบุรีลงไปถึงนราธิวาส ไม่เพียงเท่านี้ ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยยังมีแนวโน้มแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ โดยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันตกจะมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยลดลงถึง 70 – 100 มิลลิเมตรต่อปี ซึ่งจะทำให้บริเวณดังกล่าวเกิดความแห้งแล้งและขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภค ในขณะที่บางพื้นที่บริเวณชายฝั่งภาคตะวันออกกลับมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปี สูงขึ้นมากถึง 300 มิลลิเมตร ซึ่งจะส่งผลให้เกิดภาวะน้ำท่วมตามหัวเมืองใหญ่ แหล่งท่องเที่ยวและเขตเศรษฐกิจต่างๆ


นอกจากนี้ แบบจำลองสภาพภูมิอากาศจากหลายๆประเทศทั่วโลก ยังชี้ว่าในปีพ.ศ.2643 เหตุการณ์น้ำท่วมรุนแรงจะเพิ่มขึ้นหลายเท่า โดยมีโอกาสเกิด 3 – 6 ครั้ง ในช่วง 100 ปี ซึ่งต่างจากสมัยก่อนที่เกิดเพียง 1 ครั้งต่อ 100 ปี ทั้งนี้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีแนวโน้มที่จะเกิดฝนตกหนักและน้ำ ท่วมบ่อยครั้งขึ้น


“ประเทศไทยมีความอ่อนไหวต่อสภาวะน้ำท่วมและแผ่นดินถล่ม ดังนั้นจึงต้องให้ความสำคัญต่อการตั้งถิ่นฐานริมฝั่งแม่น้ำหรือชายฝั่งทะเล เพราะพื้นที่เหล่านี้จะเสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัยในอนาคต ซึ่งหากยังไม่เตรียมการป้องกันย่อมส่งผลต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศโดยรวม ” ผศ.ดร.อานนท์ กล่าว.


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์