อาจองพยากรณ์หิมะตกไทย

"ดร.อาจอง"เผย"หิมะตก"ในเประเทศไทย ม.ค.ปีหน้า ชี้ห่วงคนเมืองกาญจน์ ตายยกจังหวัด เขื่อนมีสิทธิแตก ต้องลดปริมาณน้ำในเขื่อนด่วน

พร้อมระบุอีก 30 ปีน้ำท่วมภาคกลาง ผลจากน้ำแข็งขั้วโลกละลาย ต้องย้ายเมืองหลวง แนะพื้นที่เหมาะสมอีสานตอนใต้ เพราะสูงกว่าระดับน้ำทะเล วอนรัฐออก ก.ม.ก่อสร้างบ้าน ป้องกันแผ่นดินไหว 6 ริคเตอร์ ขณะที่ ปภ.รายงานสถานการณ์อุทกภัย 24 จังหวัด คลี่คลายแล้ว 16 จังหวัด จากกรณีน้ำท่วมหลายจังหวัดในภาคเหนือ อีสาน และภาคกลาง สร้างความเสียหายเดือดร้อนให้กับประชาชนเป็นวงกว้าง โดยมีบ้านเรือนและพื้นที่ทางการเกษตรได้รับความเสียหายหลายแสนไร่ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ความคืบ หน้าเกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 24 ก.ย. นาย อนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทา สาธารณภัย (ปภ.) กล่าวสรุปสถานการณ์น้ำท่วมว่า

มีพื้นที่ประสบอุทกภัยรวม 24 จังหวัด 138 อำเภอ 735 ตำบล 4,262 หมู่บ้าน ผู้เสียชีวิต 13 ราย ราษฎรเดือดร้อน 282,554 ครัวเรือน 839,573 คน บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง 8 หลัง เสียหายบางส่วน 1,887 หลัง สะพาน 38 แห่ง ถนน 951 สาย พื้นที่การเกษตรถูกน้ำท่วมประมาณ 297,862 ไร่ มูลค่าความเสียหายเบื้องต้น 114,957,778 บาท

อธิบดี ปภ. กล่าวต่อว่าขณะนี้สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 16 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ ตาก นครสวรรค์ นครนายก เลย สุโขทัย ฉะเชิง เทรา ตราด ชลบุรี พิจิตร สระบุรี อุบลราชธานี มุกดาหาร บุรีรัมย์ แม่ฮ่องสอน และจันทบุรี ทั้งนี้ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใน 8 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา หนองบัวลำภู ชัยภูมิ ขอนแก่น นครราชสีมา และปราจีนบุรี

ด้าน ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา อดีตนักวิทยาศาสตร์นาซา และผู้เชี่ยวชาญเรื่องภาวะโลกร้อนเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวเดลินิวส์

ถึงความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศของประเทศที่ส่งสัญญาณมาทางพายุหมุนทอร์นาโดขนาดเล็ก ณ บึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ และพัทยา ว่าปกติแล้วพายุทอร์นาโดมีให้เห็นเป็นเรื่องธรรมดา ในต่างประเทศ แต่ประเทศไทยไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสาเหตุมาจากอุณหภูมิสูงขึ้นและขณะนี้ทั่วโลกอุณหภูมิสูงขึ้นเกือบ 1 องศาแล้ว แม้ภาพรวมจะไม่เห็นชัดเจนนัก แต่ที่ผ่านมาก็ส่งผลให้ประชากรในยุโรปเสียชีวิตแล้ว 20,000 คน จากความร้อนที่สูงขึ้นมีผลกระทบโดยตรง ประเทศที่อยู่ในเขตเส้นศูนย์สูตร มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเยอะ ที่ผ่านมามีหิมะตกครั้งแรกในเวียดนาม เคนยา และมีความเป็นไปได้ที่ในเดือน ม.ค. 2552 นี้จะมีหิมะตกในภาคเหนือของประเทศไทย

ดร.อาจอง กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ภาวะ โลกร้อนยังส่งผลให้ภาวะน้ำแข็งในขั้วโลกเหนือ และขั้วโลกใต้ละลายเร็วกว่าที่คิด

ขณะนี้มีก้อนน้ำแข็งขนาดใหญ่เท่ากับเมืองนิวยอร์ก ไหลสู่ทะเล หมายความว่าน้ำในทะเลจะค่อย ๆ กินชายฝั่งทะเลบ้านเราไปเรื่อย ตอนนี้เราสูญเสียแผ่นดิน 1 กม. ที่ชายทะเลบางขุนเทียน และทั่วโลกเจอปัญหาเดียวกัน โดยเจ้าหน้าที่ สหรัฐอเมริกา ออกมาพูดแล้วว่าต่อไปเมืองไมอามี่ ซึ่งเป็นเมืองติดทะเลจะไม่เหลือ


ทั้งนี้กรุงเทพฯ สูงกว่าระดับน้ำทะเลไม่ถึง 1 เมตร เมื่อระดับน้ำทะเลขึ้นมาเกินกว่า 1 เมตร กรุงเทพฯ

พร้อมกับ จ.สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี และลพบุรี ครึ่งจังหวัดจะจมอยู่ใต้น้ำ และนั่นหมายความว่าพื้นที่ผลิตข้าวในภาคกลางจะหมด ราคาข้าวในตลาดโลกจะสูงเป็นประวัติการณ์ เพราะแหล่งปลูกข้าวในภาคกลางเลี้ยงคนเกือบทั้งโลก ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของแผนที่นาซาว่า ภายใน 30 ปี น้ำทะเลจะสูงขึ้น 6 เมตร

ดร.อาจอง กล่าวอีกว่า เพื่อรับมือกับปัญหานี้จำเป็นต้องย้ายเมืองหลวงตั้งแต่เดี๋ยวนี้เพราะต้องใช้เวลาเป็น 10 ปี ในการย้ายเมือง

และภายใน 6 ปีจะเริ่มเห็นระดับน้ำทะเลสูงขึ้นในระดับท่วมขังแล้ว จะสูบออกได้ยาก นอกจากสร้างเขื่อนกั้นน้ำเหมือนกับประเทศเนเธอร์แลนด์ จะป้องกันได้ แต่ล่าสุดตนไปประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อเดือนที่แล้ว เขาบอกว่าจะรับไม่ไหวแล้วเพราะระดับน้ำทะเลสูงขึ้น การสูบน้ำออกจากเขื่อนทำได้ลำบาก สถาปนิกของประเทศเริ่มออกแบบบ้านอยู่บนแพกันแล้ว อย่างไรก็ตาม การย้ายเมืองใหม่อันดับแรกต้องย้ายรัฐสภาไปก่อน เพราะเป็นศูนย์กลางของเมืองใหม่ เมื่อย้ายไปหน่วยราชการต่าง ๆ จะตามไป จุดเหมาะสมที่จะย้ายเมืองหลวงคือ อีสานตอนใต้ ขณะที่ภาคใต้จะเจอพายุรุนแรงมากขึ้น จะเกิดสตอม เซอจมาถึงกรุงเทพฯ อย่างที่ ดร.สมิทธ บอกไว้ ส่วนภาคตะวันตกจะมีพายุไซโคลนเข้ามา โชคดีที่ผ่านมาพายุนาร์กีสเข้าไปที่พม่ายังมาไม่ถึง ประเทศไทย

อดีตนักวิทยาศาสตร์นาซา กล่าวต่อว่าก่อนหน้านี้ตนเคยเตือนแล้วว่าเขื่อนใหญ่ 2 เขื่อน ใน จ.กาญจนบุรี อยู่ใต้รอยร้าวของเปลือกโลก

แต่วิศวกรแย้งว่าได้ออกแบบการก่อสร้างเขื่อนให้ทนต่อแผ่นดินไหวได้ 8 ริคเตอร์ แม้ว่าที่ผ่านมาประเทศไทยไม่เคยเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง อย่างไรก็ตาม ถ้าเอาเขื่อนมาเขย่าในความแรง 8 ริค เตอร์ เขื่อนก็สามารถทนได้ แต่ถ้ารอยร้าวเคลื่อน ที่สลับกัน จะทำให้เขื่อนแตก และน้ำจะไหลลงมาท่วม จ.กาญจนบุรี ที่อยู่ใต้เขื่อน และจะทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก รัฐบาลต้องให้นักธรณีวิทยาไปศึกษาดู เบื้องต้นต้องรีบปล่อยน้ำออกจากเขื่อนให้เหลือน้อยลง แม้ว่าเขื่อนแห่งนี้จะเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าสำคัญของพื้นที่ภาคกลางก็ตามที จำเป็นต้องเสียสละไฟฟ้าเพื่อช่วยชีวิตมนุษย์ และต่อไปการสร้างบ้าน สร้างอาคารในแนวที่มีรอยร้าวแผ่นดินไหวไม่ว่าจะเป็นเชียงใหม่ กรุงเทพฯ อีสานตอนเหนือ ต้องออกฎหมายรับรอง การทนทานต่อแผ่นดินไหวอย่างน้อย 6 ริคเตอร์

ส่วน นายศุภฤกษ์ ตันศรีรัตนวงศ์ อธิบดี กรมอุตุนิยมวิทยา

กล่าวถึงกรณีที่มีผู้กล่าวว่าในช่วงเดือน ม.ค. 2552 จะมีหิมะตกในประเทศไทย ว่า การที่จะมีหิมะตกหรือไม่ขึ้นอยู่กับมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนที่แผ่เข้าปกคลุมในประเทศไทยช่วงนั้นว่ามีความหนาวเย็นมากแค่ไหน โดยต้องดูเรื่องระดับความสูงของพื้นที่ในไทยด้วย ซึ่งโดยรวมคิดว่าน่าจะเกิดแม่คะนิ้งตามภูเขาและดอยในเชียงใหม่ และเชียงรายมากกว่า ไม่ใช่หิมะ

ขณะที่ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผอ.ศูนย์วิจัยภัยธรรมชาติ ม.รังสิต กล่าวว่า เรื่องที่จะเกิดหิมะตกในเมืองไทยถือเป็นเรื่องที่ไกลตัวและมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก

เนื่องจากลักษณะภูมิศาสตร์ของประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตอากาศร้อนชื้นและไม่ได้อยู่ติดกับประเทศจีนเหมือนพื้นที่ภาคเหนือของเวียดนาม ที่มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ นอกจากนี้การเกิดหิมะตกอุณหภูมิต้องติดลบ แต่ลักษณะภูมิอากาศของไทยยังไม่ถึงขั้นติดลบ โอกาสที่จะเกิดหิมะตกจึงเป็นไปได้ยาก คงมีแต่โอกาสที่จะเกิดลูกเห็บตกและเกิดแม่คะนิ้งบน ดอยสูงมากกว่า

สำหรับในเรื่องอีก 30 ปี จะเกิดน้ำท่วม กรุงเทพฯ เรื่องนี้มีโอกาสเป็นไปได้สูง หากดูจากเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปี 2538

ซึ่งหากมีปริมาณฝนตกหนักเหมือนปี 2538 ประกอบกับแผ่นดินที่ทรุดตัวลงทุก ๆ ปี รวมกับน้ำเหนือที่ไหลลงมา และเกิดน้ำทะเลหนุนขึ้น หากปัจจัยต่าง ๆ เกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน ก็อาจจะใช้เวลาไม่ถึง 30 ปี โดยพื้นที่ที่จะเกิดน้ำท่วมก่อน คือ จ.สมุทรปราการ แต่การท่วมจะเป็นไปในลักษณะเหมือนน้ำขึ้น-น้ำลงตามระดับ จึงเป็นเรื่องที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องหาทางรับมือตั้งแต่ตอนนี้เพื่อให้เกิดผลกระทบและความเสียหายน้อยที่สุด


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์