อันดับความน่าเชื่อถือไทยปิ๋ว บริษัทจัดเครดิตเรตติ้ง 5 แห่งพร้อมใจขย่ม

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือของโลกจำนวน 5 แห่ง

ได้แก่ บริษัทเอสแอนด์พี (Standard & Poor's), ฟิทช์ เรตติ้ง (Fitch Ratings), อาร์แอนด์ไอ (Rating & Investment Information, Inc.), เจแปนเครดิตเรตติ้ง (Japan Credit Rating Agency) และมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส (Moo dy's Investors Service) ได้ปรับลดแนวโน้มของระดับเครดิตของประเทศไทยลงถ้วนหน้าแล้ว


ทั้งนี้ บริษัทเอสแอนด์พีได้ปรับลดแนวโน้มเครดิตของไทยลงจากระดับที่มีเสถียรภาพ (Stable Outlook) เป็นระดับที่เป็นลบ (Negative Outlook)

แต่ยังคงยืนเครดิตตราสารหนี้ระยะยาว และระยะสั้นสกุลเงินต่างประเทศไว้ที่ระดับ BBB+/ A-2 ส่วนตราสารหนี้ระยะยาว และระยะสั้นสกุลเงินบาทอยู่ที่ A/A-1 ซึ่งยังคงอยู่ในระดับน่าลงทุนต่อไป เช่นเดียวกับที่ฟิทช์เรตติ้ง อาร์แอนด์ไอ เจซีอาร์ และมูดี้ส์ที่ได้ปรับลดแนวโน้มเครดิตของไทยจากระดับดังกล่าวลงเป็นระดับที่เป็นลบ (Negative Outlook) แต่ยังคงยืนอันดับเครดิตตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศไว้ที่ระดับเดิมซึ่งยังเป็นระดับน่าลงทุนที่ BBB+ ตามลำดับ  


สำหรับเหตุผลหลักของการปรับลดเครดิตเรตติ้งดังกล่าว มาจากการขาดเสถียรภาพทางการเมืองเป็นหลักโดยเฉพาะในการเข้ายึดครองสนามบินนานาชาติทั้ง 2 แห่งของประเทศไทยโดยกลุ่มผู้ต่อต้านรัฐบาล

กระทั่งถึงการตัดสินของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคการเมือง 3 พรรคที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และการที่ยังไม่มีผู้นำการบริหารประเทศอย่างเป็นทางการ ล้วนส่งผลกระทบในทางลบต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ตาม สบน.พิจารณาแล้วเห็นว่า การปรับลดแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของไทยลงดังกล่าวเป็นการส่งสัญญาณอันตรายต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศต่อระบบเศรษฐกิจไทย ซึ่งหากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการเยียวยาแก้ไข ก็จะนำไปสู่การปรับลดเครดิตของประเทศในที่สุด นอกจากนี้ ในการคลี่คลายปัญหาความไม่สงบทางการเมือง และการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ที่มีความมั่นคง และเป็นที่ยอมรับ น่าจะช่วยฟื้นความเชื่อมั่นได้ระดับหนึ่ง แต่คงไม่สามารถทำให้แนวโน้มเครดิตของประเทศกลับมาสู่ระดับมีเสถียรภาพดังเดิมได้ในเวลาอันรวดเร็ว


แม้ไทยจะมีจุดแข็งในเรื่องของฐานะทุนสำรองระหว่างประเทศเทียบกับหนี้ต่างประเทศ และการรักษาวินัยทางการคลังซึ่งวัดจากหนี้สาธารณะอยู่ในระดับต่ำก็ตาม

ทั้งนี้ บริษัทต่างๆจะเข้ามาประเมินเครดิตของไทยครั้งต่อไปในไตรมาสแรกของปี 2552 รัฐบาลจึงต้องใช้โอกาสนี้ชี้แจงทำความเข้าใจให้ดี โดย สบน.คาดว่า อาจต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน ที่ไทยจะกลับมามีแนวโน้มเครดิตดังเดิมอีก  


ด้านนางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ย.2551 ซึ่งสำรวจจากประชาชนทั่วประเทศ 2,238 คน 

ความเชื่อมั่นทุกรายการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และหลายรายการอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 76-85 เดือน โดยดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 67.1 ลดจาก 68.6 ในเดือน ต.ค. และต่ำสุดในรอบ 82 เดือน นับจากเดือน ก.พ.2545 ส่วนความเชื่อมั่นต่อโอกาสหางานทำ อยู่ที่ 67.9 ลดจาก 69.2 ต่ำสุดในรอบ 78 เดือน นับแต่เดือน พ.ค.2545 และความเชื่อมั่นต่อรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 87.8 ลดจาก 89.5
 

กรณีดังกล่าวส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นในเดือน พ.ย.อยู่ที่ 74.2 ลดจาก 75.8 ในเดือน ต.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นปัจจุบันอยู่ที่ 66.8 ลดจาก 68.1 ดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตอยู่ที่ 74.7 ลดจาก 76.3

โดยปัจจัยลบที่ทำให้ดัชนีทุกรายการลดลง คือ ความกังวลต่อเสถียรภาพทางการเมืองที่มีผลกับบรรยากาศการลงทุน และการท่องเที่ยว การปิดสนามบินที่ทำให้ภาพพจน์ประเทศเสียหาย และยิ่งซ้ำเติมประเทศ วิกฤติสถาบันการเงินสหรัฐฯ การปรับลดการคาดการณ์อัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจ เงินบาทอ่อนค่า และความกังวลต่อปัญหาค่าครองชีพ และราคาสินค้าสูง 


นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์ พยากรณ์เศรษฐกิจ และธุรกิจ กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหลายรายการลดลงต่ำสุดในรอบ 7 ปี


และเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปีของการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นที่ผู้ตอบแบบสอบถามให้น้ำหนัก 85.7% ไปยังปัจจัยการเมือง และ 80.8% ให้น้ำหนักราคาน้ำมัน แสดงว่า สถานการณ์การเมืองยังน่ากังวลอยู่ “ถ้าการเมืองนิ่ง เศรษฐกิจปีหน้าจะขยายตัว 0-2% การว่างงานจะอยู่ที่ 900,000 คน แต่หากการเมืองไม่นิ่ง ยังมีการประท้วง และปิดล้อมสถานที่ต่างๆ รัฐบาลยังมีความเสี่ยงอยู่ ก็จะขยายตัวติดลบแน่นอน โดยไตรมาสแรกอาจติดลบ 1-2% ส่วนไตรมาส 2 อาจติดลบ 2-3% และว่างงานจะเพิ่มเป็น 1.3 ล้านคน จากที่ก่อนหน้านี้ที่เคยคาดว่าเศรษฐกิจปีหน้าจะขยายตัว 2-3%”.
   


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์