อะไรกัน!! !เสรีภาพใหม่ของคนไทย ได้ใช้เร็ว ๆ นี้



เคยเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์กันในวงกว้างเมื่อกว่า 3-4 ปี ก่อน มาถึงวันนี้...ประเด็นนี้อาจจะกลับมาอยู่ในกระแส-อยู่ในความสนใจของประชาชนคนไทยทั่วไปอีกครั้ง ประเด็นที่ว่า.....

ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลซึ่งมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุข ที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย

หรือที่พูดกันแบบง่าย ๆ ว่า สิทธิในการเลือกที่จะตาย !!


ภายใต้ตัวบทกฎหมาย พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ


ทั้งนี้ แม้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 จะถูกฉีกไปแล้วหลังจากคณะทหารยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลชุดที่แล้ว แต่ผลพวงจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ยังหลงเหลือและได้รับการสานต่อในหลายด้าน

ซึ่งก็รวมถึงพระราชบัญญัติ หรือ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ที่สืบทอดเจตนารมณ์การ ปฏิรูปด้านสุขภาพ

ภายในเดือน ธ.ค.นี้ ร่าง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ จะถูกเสนอสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อสามารถนำมาใช้ได้ทันในรัฐบาลชุดนี้ !!

...นี่เป็นการให้สัมภาษณ์สื่อเมื่อวันที่ 14 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ หลังจากที่ก่อนหน้านี้เรื่องนี้เดินหน้าได้อย่างช้า ๆ

สาเหตุที่ช้า ที่ไม่สามารถผ่านออกมาบังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็ว ด้านหนึ่งอาจเป็นเพราะก่อนหน้านี้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ถูกบางฝ่ายมองในเชิงที่ว่า สิทธิมนุษยชนเกินเหตุ ?!?

และ สิทธิในการเลือกที่จะตาย ก็เคยถกกันเครียด !?!

โฟกัสลงไปเฉพาะเรื่องสิทธิในการตายนี้ เป็นมาตราที่มีเนื้อหาที่ว่าด้วยเรื่องการกำหนดสิทธิ.....

ให้บุคคลมีสิทธิเลือกตายอย่างสงบและมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ในบั้นปลายของชีวิต โดยไม่ถูกยืดชีวิตหรือถูกแทรกแซงการตายเกินความจำเป็น โดยให้มีสิทธิแสดงความจำนงล่วงหน้าได้

ย้อนไปเมื่อกว่า 3-4 ปีที่แล้ว หรือตั้งแต่สิทธิในจุดนี้เปิดตัว ขึ้นมาใหม่ ๆ และร่าง พ.ร.บ.ยังไม่เรียบร้อย ก็เป็นประเด็นคำถามกันอึงมี่ว่า.....

สังคมไทยพร้อมแล้วหรือกับสิทธิในการเลือกที่จะตาย ??

ก่อนหน้านี้บางฝ่ายมีมุมมองในด้านหนึ่งทำนองว่า...การบัญญัติกฎหมายให้ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะตายนั้นอาจก่อให้เกิดปัญหา ทั้งปัญหาจริย ธรรม-สังคม-กฎหมาย...ตามมามากมาย เพราะสิทธิในการเลือกที่จะตายในร่าง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติไม่ได้มีการพูดถึงการให้แพทย์ ดับชีวิต ผู้ป่วยด้วยความสงสาร หรือ การุณยฆาต

และก็ไม่ได้พูดถึงการให้แพทย์ ช่วยให้ผู้ป่วยฆ่าตัวตาย

ก่อนหน้านี้อีกเช่นกันที่มีการตั้งคำถามสำคัญข้อหนึ่ง ซึ่งก็น่า ขบคิด.....

คำถามที่ว่า... เมื่อผู้ป่วยมีสิทธิที่จะเลือกตาย แล้ว แพทย์ จะต้อง มีหน้าที่ตามกฎหมาย ที่จะต้องทำให้ผู้ป่วยถึงแก่ความตายสมใจเมื่อได้รับการร้องขอจากผู้ป่วยด้วยหรือไม่ ? ซึ่งหากต้องมีหน้าที่ในจุดนี้ เมื่อแพทย์ต้องเพิ่มบทบาทจากการเป็นผู้รักษาชีวิต เป็นผู้ดับชีวิต ด้วย อะไรจะเกิดขึ้น ? สังคมจะมอง-จะคิดอย่างไร ?


บทบาทของแพทย์ในสังคมจะเป็นอย่างไรต่อไป ??


ทั้งนี้และทั้งนั้นที่ผ่านมาก็มีเสียงร่ำลือกันมากทำนองว่า...ใน วงการแพทย์เองก็มีแพทย์ระดับอาจารย์แพทย์หลายคนได้ทำพินัยกรรมชีวิตของตนมอบไว้กับเพื่อนอาจารย์แพทย์ด้วยกัน เพื่อให้ช่วยดูแลให้การรักษาขณะที่ตนเองป่วยหนักไม่รู้สติ ไม่รู้สึกตัว โดยมีเงื่อนไขการดูแลรักษาคล้าย ๆ กับ สิทธิในการเลือกที่จะตาย

คือ ไม่เป็นการยืดชีวิตที่สร้างความทุกข์ทรมาน

แต่สำหรับประชาชนคนไข้ทั่วไป...การจะจากไปอย่างสงบ หรือตายอย่างช้า ๆ และทรมานในโรงพยาบาล จะเกี่ยวข้องกับแพทย์โดยตรงหรือไม่-อย่างไร เป็นเรื่องยากที่จะกล่าวมาโดยตลอด ทุกยุค-ทุกสมัย

ก่อนหน้านี้อีกนั่นแหละ...ที่ถามใคร ๆ ส่วนใหญ่ก็มองว่า-คิดว่าเรื่องสิทธิในการเลือกที่จะตายนั้น สำหรับคนไทยเราคงจะอีกไกลกว่าจะได้เห็นเป็นรูปธรรมว่าจะอย่างไรกันแน่ ?? แต่ล่วงเลยมาถึงวันนี้...อาจจะไม่ไกลอีกแล้ว...

หลังคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ดังที่ได้ระบุไว้ตั้งแต่ต้น ๆ คือ...ภายในเดือน ธ.ค.นี้ ร่าง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ จะถูกเสนอสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติ แห่งชาติ เพื่อสามารถนำมาใช้ได้ทันในรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งก็หมายรวมถึงประเด็น สิทธิในการเลือกที่จะตาย

ต้องถือว่า น่าจับตา สำหรับสิทธิ-เสรีภาพใหม่นี้

น่าติดตาม ว่าเรื่องนี้เอาเข้าจริงจะอย่างไร ??

คนไทยจะเลือกตายได้เร็ว ๆ นี้...แน่หรือ ?????.

ขอขอบคุณเนื้อหาข่าวที่มีคุณภาพจาก

หนังสือพิมพ์ เดลินิวส์



เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์