อย.แนะสังเกตปลาร้าปนเปื้อน

อย.แนะสังเกตสัญญาณอันตรายปนเปื้อนยาฆ่าแมลงถ้าแมลงวันไม่ตอมปลาร้าปลาเค็มให้ระวัง

หลังบุกตลาดไท ตรวจ “ปลาร้า-ปลาเค็ม-ปลาแห้ง” พบปนเปื้อนยาฆ่าแมลงถึง 90% สั่งอายัดสินค้าและระงับการขายทันที พร้อมส่งตัวอย่างตรวจซ้ำกรมวิทย์ฯ ก่อนดำเนินคดีหนักกับร้านค้า แถมเตรียมลุยตรวจตลาดขายส่ง ชื่อดังใน กทม. และกำหนดดีเดย์ให้ สสจ.ลงพื้นที่ตรวจแหล่งผลิตทั่วประเทศ 16 ธ.ค.นี้
     
จากกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เก็บตัวอย่างปลาร้า ปลาแห้ง และปลาเค็ม

ที่จำหน่ายในตลาดนัด ตลาดสด และห้างสรรพสินค้า ในกรุงเทพฯ จำนวน 200 ตัวอย่าง และจากการทดสอบเบื้องต้น ตรวจพบสารฆ่าแมลงในสินค้าดังกล่าว จำนวน 85 ตัวอย่าง ตามที่ปรากฏเป็นข่าวไปแล้วนั้น  ความคืบหน้าในเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. นายมานิต นพอมรบดี รมช.สาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิ การคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และเจ้าหน้าที่กองควบคุมอาหาร อย. ได้ลงไปที่ตลาดไท เพื่อเก็บตัวอย่างมาตรวจหาการปนเปื้อนยาฆ่าแมลง โดยใช้ชุดทดสอบเบื้องต้น จีที-เทสต์ คิท (GT-Test kit) ซึ่ง สามารถตรวจหาสารเคมีได้ 2 กลุ่ม คือ ออร์กาโนฟอสเฟต และคาร์บาเมต เป็นสาร กำจัดศัตรูพืช รู้ผลใน 2 ชม.
   
นายมานิต รมช.สาธารณสุข เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบสารฆ่าแมลงในปลาร้า ปลาเค็ม และปลาแห้ง ที่ตลาดไท จำนวน 79 ตัวอย่าง จาก 26 ร้านค้า

ผลปรากฏว่ามีการตกค้างสารฆ่าแมลงจำนวน 58 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 73.41 โดยในปลาร้าจากจำนวน 40 ตัวอย่าง พบสารฆ่าแมลง 36 ตัวอย่าง (ร้อยละ 90) ปลาแห้งจากจำนวน 6 ตัวอย่าง พบสารฆ่าแมลง 5 ตัวอย่าง (ร้อยละ 83.33) และปลาเค็มจากจำนวน 33 ตัวอย่าง พบสารฆ่าแมลง 17 ตัวอย่าง (ร้อยละ 51.51)  
     


ด้าน นพ.พิพัฒน์ กล่าวว่า สำหรับปลาร้าที่ตรวจพบยาฆ่าแมลง ได้สั่งให้ระงับ การจำหน่ายและอายัดสินค้าทั้งหมดแล้ว

ในเบื้องต้นจะยังไม่ดำเนินคดีทางกฎหมายใด ๆ  แต่จะนำตัวอย่างปลาร้าที่ตรวจพบยาฆ่าแมลง ส่งตรวจซ้ำที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์อีกครั้ง หากผลการตรวจวิเคราะห์พบว่ามีการตกค้างของสารฆ่าแมลง ก็จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป ในกรณีอาหารผิดมาตรฐาน มีโทษปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท และกรณี    อาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
     
เลขาธิการ อย. กล่าวต่อว่า นอกจากนี้จากการตรวจสอบย้อนกลับไปยังแหล่งผลิตสินค้า พบว่าส่วนใหญ่มีแหล่งผลิตอยู่แถบภาคกลางและภาคอีสาน

ซึ่ง อย.จะจัดทีมเฉพาะกิจลงพื้นที่ดำเนินการ ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ที่เป็นแหล่งผลิตผลิตภัณฑ์แปรรูปจากปลาเหล่านี้ เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาต่อไป โดยเฉพาะ จ.นครสวรรค์ และ จ.ชัยนาท ที่พ่อค้าแม่ค้าในตลาดไทอ้างว่ารับปลาร้ามาจำหน่าย โดย สสจ.จะเริ่มดำเนินการทันทีตั้งแต่วันที่ 16 ธ.ค.นี้เป็นต้นไป ส่วนปลาเค็ม ปลาแห้ง ที่อ้างว่ามาจากแถวมหาชัยนั้น จะให้ สสจ. สมุทรสาคร ตรวจสอบต่อไป
     
นพ.พิพัฒน์ กล่าวด้วยว่า ขอให้ผู้บริโภคอย่าได้ตื่นตระหนก เพราะในอดีตที่ผ่านมาก็เคยมีข่าวทำนองนี้เช่นกัน

โดย อย. ได้มีการแจ้งเตือนประชาชนมาโดยตลอด และหากต้องการบริโภคให้ปลอดภัยก็ควรสังเกตจากสภาพแวดล้อม ทั้งนี้หากอาหารที่จำหน่ายใกล้เคียงมีแมลงวันตอม แต่ไม่ตอม  ปลาเค็ม ก็ให้สงสัยว่าปลาเค็มนั้นปนเปื้อนสารฆ่าแมลง อย่างไรก็ตามในการตรวจสอบในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากเจ้าของ ตลาดไทเป็นอย่างดี โดยรับปากว่าต่อไปจะตรวจผลิตภัณฑ์ปลาร้า ปลาแห้ง และปลาเค็มที่นำมาจำหน่ายในตลาดไทอย่างละเอียด
   
“อย.จะเฝ้าระวังและติดตามเรื่องนี้ต่อไป และดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ให้เสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุด ซึ่งนอกจากตลาดไทแล้ว อย.จะลงไปสุ่มตรวจปลาร้า ปลาเค็ม และปลาแห้ง ในตลาดค้าส่งใน กทม.ด้วย เช่น ตลาดสี่มุมเมือง ตลาดพรานนก และตลาดยิ่งเจริญ แต่เชื่อว่าตลาดค้าส่งเหล่านี้จะรับปลาร้า ปลาเค็ม และปลาแห้งมาจากแหล่งเดียวกัน โดยเฉพาะปลาร้าไม่มีใครคาดคิดว่าจะมีการปนเปื้อน ดังนั้นต้องให้ สสจ.  ลงไปดูว่ามีการปนเปื้อนยาฆ่าแมลงได้อย่างไร นอกจากนี้จะประสานห้างสรรพสินค้าชื่อดังที่ตรวจพบยาฆ่าแมลงปนเปื้อนผลิตภัณฑ์ 3 รายการดังกล่าว เพื่อเฝ้าระวังเรื่องนี้ด้วย” นพ.พิพัฒน์ กล่าว.

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์