อบต.พนอมบูมรอยเท้าไดโนเสาร์ หวังเป็นแหล่งท่องเที่ยว-สร้างรายได้

ภาคอีสานขึ้นชื่อว่า เป็นถิ่นของ "ไดโนเสาร์" ที่มีชื่อเสียงมากอีกแห่งหนึ่งของโลก เพราะมีการขุดค้นพบซากสัตว์ดึกดำบรรพ์ชนิดนี้ในหลายจังหวัดจนพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับประเทศ


ทั้งกระดูกไดโนเสาร์ที่ อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น และภูกุ้มข้าว จ.กาฬสินธุ์
ส่วนจังหวัดเล็กๆ อย่าง นครพนม แม้จะไม่มีการพบซากไดโนเสาร์ แต่ก็ปรากฏรอยเท้าของสัตว์ขนาดมหึมานี้ที่บ้านนากระเสริม หมู่ 10 ต.พนอม อ.ท่าอุเทน ริมถนนหลวงสายนครพนม-บ้านแพง กม. 257 ซึ่งจะมีการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับประเทศต่อไป
ด.ต.วราชัย ดีบุกคำ นายก อบต.พนอม เล่าถึงความเป็นมาของแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่นี้ว่า เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2544

ขณะที่คนงานกำลังระเบิดหินในพื้นที่ของเอกชนเพื่อนำไปก่อสร้างเขื่อนกั้นตลิ่งตามแนวลำน้ำโขงก็สังเกตเห็น "รอยเท้าประหลาด" ของสัตว์ฝังอยู่ในหิน จึงได้แจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ นักธรณีวิทยาจากกรมทรัพยากรธรณีวิทยา นำโดย ดร.วราวุธ สุธีธร ลงพื้นที่มาตรวจสอบ
ผลการตรวจสอบสร้างความตื่นตะลึงเป็นอย่างมาก เพราะรอยเท้าประหลาดที่พบ คือ รอยเท้าของ ไดโนเสาร์ นกกระจอกเทศ และ อีกัวดอน รวมทั้ง รอยเท้าจระเข้ขนาดเล็ก อีก 1 ชนิด


การค้นพบครั้งนั้นถือเป็นการค้นพบอันยิ่งใหญ่ เพราะซากที่พบเป็นซากสัตว์ดึกดำบรรพ์อายุกว่า 100 ล้านปี

โดยขุดพบที่ระดับความลึก 20 เมตร ใต้พื้นดิน โดยคณะสำรวจไดโนเสาร์ไทย-ฝรั่งเศส ก็สำรวจจนพบรอยเท้าเพิ่มขึ้นอีก 202 รอย !!! อย่างไรก็ตาม แม้จะผ่านมาถึง 7 ปี แต่การค้นพบครั้งยิ่งใหญ่ในวันนั้นกลับไม่ได้นำมาสู่การพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ของคนในชุมชน และนำไปสู่การรับรู้ของนักท่องเที่ยวจากถิ่นอื่นแต่อย่างใด โดยอุปสรรคสำคัญ คือ พื้นที่ที่ขุดพบเป็นของเอกชนที่ต้องเจรจากันนานหลายปี
เมื่อสามารถผ่านอุปสรรคข้อดังกล่าวมาได้ อบต.พนอม จึงได้รับการอนุมัติงบประมาณจากกรมทรัพยากรธรณี จำนวน 2 ล้านบาท เพื่อสร้างแหล่งเรียนรู้ไดโนเสาร์ และยังได้ร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เขต 4 จัดงบมาพัฒนาให้เป็นศูนย์เรียนรู้อีก 2 ล้านบาท


รูปแบบการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ไดโนเสาร์แห่งนี้ เริ่มตั้งแต่การจัดรูปแบบการแสดงรอยเท้าที่ค้นพบ

การปั้นหุ่นไดโนเสาร์ด้วยเรซิ่น รวมไปถึงการสร้างสะพานคอนกรีต และวางโครงหลังคาตลอดแนวเพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินชมได้อย่างสะดวกสบาย
ในที่สุด "แหล่งเรียนรู้รอยเท้าไดโนเสาร์" แห่งนี้ก็แล้วเสร็จไปเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ที่ผ่านมา โดย นายอภิชัย ชวเจริญพันธ์ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ได้ทำพิธีส่งมอบพื้นที่แหล่งเรียนรู้รอยเท้าไดโนเสาร์แห่งนี้ให้แก่ อบต.พนอม รับผิดชอบดูแลต่อไป  นายก อบต.พนอม กล่าวให้คำมั่นว่า แหล่งเรียนรู้รอยเท้าไดโนเสาร์แห่งนี้อยู่ในความรับผิดชอบของ อบต.พนอม ซึ่งโจทย์สำคัญที่ต้องทำให้สำเร็จคือ จะทำอย่างไรให้คนทั่วโลกได้รู้จักแหล่งเรียนรู้แห่งนี้ และเมื่อผ่านมาจะต้องแวะชม


โดยผลที่จะได้รับตามมา คือ รายได้จากการท่องเที่ยว ซึ่งจะทำให้ชาวบ้านในพื้นที่มีรายได้เพิ่มขึ้น


อย่างไรก็ตาม ก่อนจะไปสู่จุดนั้นก็จะต้องมีการพัฒนาพื้นที่ให้มีความสวยงามเพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชม โดย อบต.พนอม ได้จัดงบประมาณพัฒนาพื้นที่โดยรอบ เริ่มตั้งแต่การทำระบบไฟฟ้า และสร้างหุ่นไดโนเสาร์ ตรงปากทางเข้า เพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้สังเกตเห็นได้ชัดเจนขึ้น ขณะที่พื้นที่โดยรอบที่เป็นบ่อหินขนาดใหญ่อยู่กลางภูเขาก็มีแนวคิดที่จะทำถนนล้อมรอบ และสร้างซุ้มพักผ่อน โดยจะเปิดให้ชาวบ้านมาขายอาหาร และนำผลผลิตด้านการเกษตรมาขาย เช่น สับปะรด และ ส้มปลาโด ซึ่งเป็นสินค้าที่ขึ้นชื่อใน อ.ท่าอุเทน


นอกจากนี้ ยังได้ขอความร่วมมือกับ ททท.เขต 4 เพื่อให้นำข้อมูลของแหล่งเรียนรู้รอยเท้าไดโนเสาร์เข้าสู่เว็บไซต์ของ ททท. เพื่อให้คนรู้จักมากขึ้น

และนำข้อมูลดังกล่าวมาเชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของ อบต.พนอม ที่จัดทำขึ้นเพื่อให้ข้อมูลของแหล่งท่องเที่ยวแห่งนี้ด้วย
"เราจะรุกเรื่องการประชาสัมพันธ์ทั้งวิทยุ หนังสือพิมพ์ และโทรทัศน์ ให้นักท่องเที่ยวได้รู้จักทุกช่องทาง โดยนักท่องเที่ยวกลุ่มแรกที่เป็นเป้าหมายคือ คนนครพนม เพื่อให้รู้เสียก่อนว่าบ้านเราก็มีไดโนเสาร์ ไม่จำเป็นต้องไปดูที่กาฬสินธุ์ หรือขอนแก่น ซึ่งตอนนี้คนส่วนใหญ่ในนครพนมก็ยังไม่รู้ เราต้องดึงดูดคนนครพนมก่อนแล้วค่อยขยายผลไปที่นักท่องเที่ยวต่างจังหวัดต่อไป"


นายก อบต.พนอม กล่าวด้วยความมุ่งมั่นที่จะยกระดับชาวพนอมให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์