อนาคตน้ำท่วมกรุงนานขึ้น

ปัญหาสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปเมืองขยาย-ดินทรุด จี้ภาครัฐเร่งทำแผนแก้ให้เสร็จใน 3 ปี ก่อนจะสายไป

เมื่อวันที่ 5 ต.ค. ที่ อาคารรัฐสภา คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมวุฒิสภา และคลื่นข่าว 101 จัดสัมมนา “กรุงเทพนครใต้น้ำ” โดยมีวิทยากรประกอบด้วย รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน นายสุรจิต ชิรเวทย์ กรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ดร.สมิทธ ธรรมสโรช คณะกรรมการมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ นางสมร เข่งสมุทร ตัวแทนภาคประชาชนจากกรณีบ้านขุนสมุทรจีน นางปนัดดา ทัดศิริ ที่ปรึกษาเครือข่ายรักษ์ทะเลกรุงเทพฯ และสิ่งแวดล้อม บางขุนเทียน
   
รศ.ดร.เสรี กล่าวว่า จากการติดตามความเปลี่ยนแปลงของสภาพกายภาพใน กทม.

การเก็บข้อมูลปริมาณน้ำและสร้างแบบจำลองคาดการณ์ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ พบว่าปัจจัยที่จะทำให้ กทม.เกิดน้ำท่วม มีข้อมูลที่บ่งชี้ ได้แก่สถิติปริมาณน้ำฝนที่ตกในพื้นที่ ซึ่งเดิมจะมีฝนตกหนัก 200 มิลลิเมตรในรอบ 10 ปี แต่พบว่าในปัจจุบันฝนตกหนัก 200 มิลลิเมตรพบได้ในรอบ 3-4 ปี ในขณะที่ปริมาณน้ำเหนือจากเขื่อนเจ้าพระยาที่ระดับ 4,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ก็พบได้ทุก ๆ 5 ปี เห็นได้ว่ามีความถี่เพิ่มขึ้น รวมทั้งสาเหตุจากการทรุดตัวของดินในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ตามปกติทรุดตัว 1 เซนติเมตรทุกปี ทำให้ชายฝั่งหายไป 5 เมตรทุกปี ประกอบสาเหตุจากผังเมืองของ กทม.ที่มีแนวโน้มการขยายตัวของเมืองมาทางด้านตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำและเป็นแนวคันกั้นน้ำทำให้เป็นอุปสรรคในการระบายน้ำ ด้าน ดร.สมิทธ กล่าวว่า เชื่อว่ากรุงเทพฯ จะมีน้ำท่วมขังถาวรในอนาคตนี้แน่นอน ซึ่งเป็นลักษณะน้ำท่วมขังเป็นเวลานานมากขึ้น เพราะปัญหาการระบายน้ำ ซึ่งจะส่งผลกระทบมหาศาล ทั้งด้านเศรษฐกิจการใช้ชีวิตประจำวันและที่สำคัญตนมีความเป็นห่วงโบราณสถาน เช่น วัดพระแก้ว พระที่นั่งอนันตสมาคม ที่สร้างขึ้นโดยไม่มีเสาเข็มแต่ใช้ท่อนซุงเป็นฐานราก และโครงการพัฒนาต่าง ๆ ของกรุงเทพฯ อาทิ รถไฟฟ้าใต้ดิน ภาครัฐจะต้องเร่งให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง 
  
ทั้งนี้สำหรับแนวทางการแก้ปัญหามีการแสดงความคิดเห็นอย่างหลากหลาย เช่น ให้มีการขุดขยายคลอง แม่น้ำ เพื่อเพิ่มทางผ่านของน้ำให้สะดวก

และการเพิ่มพื้นที่แก้มลิงเก็บกักน้ำ การแก้ปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะ และหยุดการขยายตัวของเมืองไปยังพื้นที่รับน้ำ ได้เรียกร้องให้มีการนำปัญหานี้เข้าร่วมกันศึกษาและจัดทำแผนการจัดการอย่างเป็นรูปธรรม โดยระดมผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการทุกส่วนที่เกี่ยวข้องมาศึกษาจัดทำข้อมูล ให้ชัดเจน จะต้องเร่งให้ได้ข้อสรุปภายใน 3-4 ปีนี้ เพื่อที่จะวางแผนในการแก้ปัญหาโดยเร็วและป้องกันในระยะยาวไม่ใช่วิจารณ์กันไปเรื่อย ๆ จนทุกอย่างสายเกินแก้.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์