หวั่นเศรษฐกิจประเทศล่มสลาย วิกฤติยิ่งกว่าต้มยำกุ้ง

นายโอฬาร ไชยประวัติ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังที่ได้เชิญผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐบาลและเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากการปิดสนามบินสุวรรณภูมิมาหารือว่า

วันนี้ (2 ธ.ค.) จะเสนอ ครม. อนุมัติวงเงินฉุกเฉินมาช่วยเหลือนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ตกค้างในไทยและนักท่องเที่ยวไทยที่ตกค้างในต่างประเทศในวงเงิน 1,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากที่คิดว่าจะใช้ 1,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันจะจัดสินเชื่อผ่อนปรนให้ธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบคิดเป็นมูลค่าหลายแสนล้านบาท ซึ่งหากยืดเยื้อไปมากกว่านี้เศรษฐกิจจะล่มสลาย จึงพยายามให้ยุติเร็วที่สุด เพราะความเสียหายของเศรษฐกิจใหญ่หลวงและเป็นตราบาปของเศรษฐกิจไทยไปอีกนาน โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในปีหน้าคงไม่มีการขยายตัวและอาจติดลบเลวร้ายกว่าปี 2540 ที่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง


“เอกชนเองและไม่มีใครพูดให้รัฐบาลลาออก เพียงแต่บอกให้แก้ปัญหารวดเร็วและให้เคลียร์สนามบินแห่งชาติเร็วที่สุดและรัฐบาลคงต้องดูสิ่งที่ดีกับประเทศเร็วที่สุด ส่วนหนึ่งนายกรัฐมนตรีก็ต้องตัดสินใจ”


ด้านนายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า
 
จะเสนอให้ ครม.อนุมัติตั้งกองทุนช่วยต่อสายป่านให้ธุรกิจท่องเที่ยววงเงินไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท ในการประชุม ครม.เนื่องจากมีแรงงานอยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการด้วยกันทั้งสิ้น 2.4 ล้านคน เพราะต้องยอมรับว่าเมื่อเปิดสนามบินได้แล้วก็จะยังไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามา โดยวงเงินนี้ไม่ได้ให้เปล่าและต้องนำมาคืนรัฐภายหลังจากธุรกิจดีขึ้นแล้ว โดยการดูแลนักท่องเที่ยวที่ตกค้างนำนักท่องเที่ยวต่างชาติออกไปได้แล้ว 50,000 คน เหลืออีก 240,000 คน และพร้อมรับคำตำหนิติชมจากทุกฝ่ายที่เริ่มมีรัฐบาลจากหลายประเทศต่อว่ามาเพราะได้ทำงานภายใต้ข้อจำกัดและได้ขอให้เจ้า หน้าที่ของทุกสถานทูตมาร่วมกันทำงานและประสานกับนักท่องเที่ยวของประเทศตนเองด้วย เพื่อให้นักท่องเที่ยวกลับบ้านปลอดภัยที่สุด


นายเจริญ วังอนานนท์ นายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (ทีทีเอเอ) กล่าวว่า

ที่รัฐบาลจะตั้งกองทุนช่วยเหลือธุรกิจท่องเที่ยว 10,000 ล้านบาท ถือว่าไม่น้อย แต่ก็ไม่มาก และต้องใช้ให้ตรงจุด แต่ตนเองคงไม่ได้เงินกู้ก่อน เพราะได้เสนอให้นายกฯลาออก สำหรับคนไทยที่ตกค้างในต่างประเทศเท่าที่ตรวจสอบกับบริษัททัวร์ที่เป็นสมาชิก 500 บริษัทมีตกค้างอยู่กับคณะทัวร์ประมาณ 5,000 คน บางคนทางเอเย่นต์ หรือบริษัททัวร์ก็สำรอง ค่าใช้จ่ายให้ก่อน บางคนก็สำรองไปเองก่อน


ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในระหว่างการประชุมนางมัยรัตน์ พีระญาณโกเศส นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) ได้เสนอที่ประชุมว่า
 
ในเมื่อรัฐบาลทำอะไรไม่ได้และเอกชนเป็นผู้ เดือดร้อนภาคเอกชนน่าจะรวมตัวไปเจรจากับพันธมิตรฯให้เปิดสนามบินเอง อย่างไรก็ตาม นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่เอกชนจะรวมตัวกันเองเพื่อไปเจรจาต่อรองกับพันธมิตรฯ เพราะขนาดรัฐบาลที่ทุกคนมอบอำนาจให้บริหารประเทศยังไม่สามารถเจรจาต่อรองกันได้

นายไพบูลย์ พลสุวรรณา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร กล่าวว่า

กลุ่มฯอาหารได้รับความเดือดร้อนหนัก เพราะปกติช่วงนี้ทุกๆปีจะเป็นช่วงที่ผู้ซื้อในญี่ปุ่นเดินทางมาเจรจาเพื่อวางแผนซื้อ-ขายสินค้าจากไทย สำหรับให้ไทยเริ่มผลิตเพื่อส่งมอบกลางปีหน้า แต่นักลงทุนญี่ปุ่นก็ไม่สามารถเดินทางเข้ามาได้ 


“ล่าสุดแจ้งให้ฝ่ายไทยทราบว่าขอยกเลิกการเดินทางเข้ามาในไทยแล้ว ทำให้คำสั่งซื้อของกลุ่มอาหารหายหมด เพราะญี่ปุ่นให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยในการเดินทางมากที่สุด โดยการส่งออกอาหารไปญี่ปุ่นคิดเป็นมูลค่ากว่า 100,000 ล้านบาท ของการส่งออกอาหารในภาพรวม 750,000 ล้านบาทต่อปี”


นายไพบูลย์กล่าวว่า

ตัวเลขความเสียหายในอุตสาหกรรมอาหารหากสถานการณ์ยังยืดเยื้ออาจเสียหายเกินกว่า 100,000 ล้านบาท โรงงานผลิตผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆที่ต้องส่งสินค้าทางอากาศก็ต้องหยุดการผลิตทั้งหมดและหยุดการสั่งซื้อวัตถุดิบจากผู้ผลิตในประเทศ สุดท้ายก็ต้องปลดคนงานทั้งคนงานในโรงงานและคนงานในกลุ่มที่ผลิตวัตถุดิบป้อนให้โรงงานผลิตสินค้าอีกหลายหมื่นคนเฉพาะในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร


ด้านนายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า
 
ได้ขอให้รัฐบาลเสนอ ครม.อนุมัติงบประมาณ 1,500 ล้านบาทของกระทรวงแรงงานฯเพื่อมาช่วยเหลือผู้ประกอบการไม่ให้มีการปลดแรงงาน ขณะที่นายขัติยา ไกรกาญจน์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ส.อ.ท. กล่าวว่า ที่ประชุมยังหาทางออกไม่ได้ ปัญหาขณะนี้ คือไม่มีเครื่องบินขนส่งสินค้า ทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนขนส่งเพิ่มเพราะต้องนำสินค้าไปส่งที่อู่ตะเภา หรือที่ จ.ภูเก็ต และใช้เรือนำสินค้าไปลงที่สิงคโปร์ และกัวลาลัมเปอร์ เพื่อส่งออกไปยังจุดหมายปลายทางในประเทศต่างๆทั่วโลก ทำให้มีต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่ม ซึ่งอยากให้รัฐเข้ามาช่วยอุดหนุนค่า ใช้จ่าย โดยปกติมีการนำเข้าส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ทางอากาศมีมูลค่าวันละ 2,000 ล้านบาท.  


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์