หวั่นตกงาน!เหยื่อม็อบกว่าหมื่นร้องรัฐช่วยเหลือ



แรงงานเผยนายจ้างราชประสงค์ขอช่วยเหลือแล้ว 1.2 พันราย ลูกจ้าง 1.1 หมื่นคน เชื่อ สัปดาห์หน้าสรุปชัดเจน ประสาน กทม.ป้อนงาน  ขณะที่องค์กรลูกจ้างประณามนายจ้างฉวยโอกาสปลด-ลดแรงงาน


เมื่อวันที่  7 พ.ค. นายสมเกียรติ  ฉายะศรีวงศ์  รองปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผย ขณะนี้มีผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อเผด็จการแห่งชาติ  หรือ นปช.ทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่ รายย่อย และผู้ประกอบอาชีพอิสระ มาแจ้งขอความช่วยเหลือที่ศูนย์ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบด้านการจ้างงาน จากการชุมนุมทางการเมือง (ศชจ.)และผ่านทางโทรศัพท์ กว่า 1,200 ราย ลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกว่า 11,000 ราย ซึ่งตัวเลขที่กระทรวงแรงงานได้รับก็ยังไม่ตรงกับผู้ประกอบการที่แยกราช ประสงค์ได้มายื่นขอความช่วยเหลือจกรัฐบาลที่มีกว่า 20,000 ราย  ซึ่ง กระทรวงแรงงานและคณะทำงานที่คณะรัฐมนตรีมอบหมายจะต้องหาตัวเลขผู้ที่ได้รับ ผลกระทบจริงที่ชัดเจน เพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะทำงานประสานความช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการและ ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม ที่มีนางอัญชลี เทพบุตร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในสัปดาห์หน้า ทั้งนี้กระทรวงแรงงานได้สั่งการณ์ให้พนักงานตรวจแรงงานเข้าไปตรวจสอบใน พื้นที่ว่ามีผู้ใช้แรงงาน ลูกจ้างได้รับผลกระทบเช่นไร ส่วนผู้ประกอบอาชีพอิสระ หาบเร่ แพงลอยนั้นต้องประสานขอข้อมูลไปยังกรุงเทพมหานครในการให้ข้อมูล แต่อย่างไรก็ตามเชื่อว่าในสัปดาห์หน้าจะได้ตัวเลขที่ชัดเจน และเชื่อว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะดีขึ้นและสงบลง


ขณะที่นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) ได้ออกแถลงการณ์เรื่องความขัดแย้งทางการเมือง ผลกระทบกับแรงงาน โดยมีเนื้อหาว่า จากสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันเริ่มมีการลดการจ้างงานในบางกิจการ และปิดกิจการชั่วคราว ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ใช้แรงงาน แต่นายจ้างและผู้ประกอบการก็ไม่ควรใช้สถานการณ์ดังกล่าวเป็นข้ออ้างในการ เลิกจ้าง หรือลดทอนสิทธิของผู้ใช้แรงงาน โดยจากสถานการณ์นี้แสดงให้เห็นว่าผู้ใช้แรงงานไม่มีหลักประกันที่ จะรับรองคุณภาพชีวิต ไม่ว่าจะเป็นระบบสวัสดิการสังคมที่ไม่เอื้อต่อการคุ้มครองและลักษณะการจ้าง งานที่เป็นรายวัน แบบรับเหมาช่วง รับเหมาค่าแรง ดังนั้นเมื่อเกิดภาวะวิกฤติต่าง ๆ ขึ้นผู้ใช้แรงงานเหล่านี้ก็จะเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบ ขณะเดียวกันก็เป็นข้ออ้างของนายจ้างที่จะออกมาเรียกร้องเพื่อผลประโยชน์ของ ตัวเองเป็นหลัก


ในแถลงการณ์ยังระบุข้อเรียกร้องอีก 6 ข้อประกอบด้วย

 1.นายจ้าง และผู้ประกอบการจะต้องไม่ฉวยโอกาสในสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น เพื่อการเลิกจ้าง และลดทอนสภาพการจ้างงานของแรงงานในสถานประกอบการต่าง ๆ รวมทั้งวิธีการจ้างงานที่เลี่ยงกฎหมาย
 
2.รัฐบาลและ กระทรวงแรงงานจะต้องสร้างกลไกการคุ้มครองแรงงานที่ได้รับผลกระทบในภาวะ วิกฤติทางการเมือง และจะต้องตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อแก้ไขปัญหาการจ้างงานในสถานการณ์ขัด แย้งทางการเมือง เพื่อป้องกันมิให้เกิดการเลิกจ้างหรือผลกระทบอื่น ๆ ต่อผู้ใช้แรงงาน  โดยจะต้องมีตัวแทนของผู้ใช้แรงงาน เข้าไปเป็นกรรมการในระดับชาติ ขณะเดียวกันก็จะต้องพิจารณากลไกการคุ้มครองแรงงานทุกระดับในระยะยาว เพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิตของผู้ใช้แรงงานอย่างแท้จริง

3.รัฐบาลและกระทรวงแรงงานจะต้องมี กองทุนเพื่อรองรับผลกระทบของการจ้างงานในภาวะความขัดแย้งทางการเมือง โดยมีหลักการที่จะทำให้การแก้ไขปัญหาส่งผลโดยตรงต่อผู้ใช้แรงงาน และแก้ไขปัญหาของผู้ใช้แรงงานอย่างแท้จริง


4.รัฐบาลและผู้ชุมนุม ตลอดจนประชาชนทั่วไปจะต้องไม่ก่อให้เกิดภาวะความเกลียดชังต่อกันและกัน ซึ่งอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งที่ฝังรากลึกจนไม่อาจเยียวยา ดังนั้นประชาชนทุกคนควรแสดงความเห็นและแสดงออกทางการเมืองบนพื้นฐานของความ แตกต่างแต่เคารพในความเป็นมนุษย์ของฝ่ายที่คิดต่าง รวมทั้งไม่ใช้สื่อในไปทิศทางที่จะสร้างความเกลียดชังดังกล่าวด้วย

5.รัฐและผู้ชุมนุมจะต้องลดท่าทีการคุกคามต่อชีวิตของทุกฝ่ายรวมถึง ประชาชนทั่วไป ทั้งนี้รัฐจะต้องไม่ใช้มาตรการทางกฎหมายใด ๆ ที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงและเกิดการสูญเสีย ขณะเดียวกันผู้ชุมนุมทุกฝ่ายก็จะต้องลดท่าทีหรือการชุมนุมในลักษณะที่คุกคาม ต่อผู้อื่น

6.รัฐและผู้ชุมนุมทุกส่วนจะต้องให้ เสรีภาพในการนำเสนอและรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน ไม่มีการปิดกั้นการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนไม่ว่าจะเป็นการปิดกั้น สื่อโดยกฎหมาย หรือการบุกรุกใช้กำลังต่อสื่อมวลชน ขณะเดียวกันองค์กรวิชาชีพและภาคประชาชนจะต้องเข้าไปมีบทบาทสำคัญในการดูแล การนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ไม่นำไปสู่การยั่วยุหรือการสร้างความเกลียดชังของทุกฝ่าย.


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์