หลายลูก อยู่ติดไทย ภัยภูเขาไฟ ใกล้ตัว กว่าที่คิด !!

“ภูเขาไฟ ภัยพิบัติที่ใกล้ตัวเรากว่าที่คิด” ...

เป็นชื่องานเสวนาที่จัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ในโอกาสที่ เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ชาแนล ช่องสารคดีระดับโลก นำสารคดีชุด “Doomsday Volcano” สารคดีการสำรวจสืบสวนหาข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ “ภูเขาไฟระเบิด” บนเกาะซานฌโตรินี่หรือชื่อเดิมว่าเธร่าในประเทศกรีซ ซึ่งเป็นการระเบิดที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ มานำเสนอ... 

แม้ว่าในประเทศไทยจะไม่มีภูเขาไฟที่สามารถปะทุได้

แต่ประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่รอบ ๆ มีภูเขาไฟที่พร้อมปะทุขึ้นมาและสร้างความเสียหายมายังประเทศไทยได้...เป็นการระบุของ ฤทธิชาติ ศิลารักษ์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการตลาดและจัดจำหน่าย เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ชาแนล เอเชีย ซึ่งนี่มิได้เกินเลยจากความจริง
 
“แผ่นดินไหว-สึนามิ” การเกิดเกี่ยวข้องกับ “ภูเขาไฟ” 

ภูเขาไฟ เกิดจากหินหนืดที่อยู่ใต้เปลือกโลกถูกแรงดันอัดให้แทรกรอยแตกขึ้นสู่ผิวโลก โดยมีแรงปะทุหรือแรงระเบิดเกิดขึ้น สิ่งที่พุ่งออกมาจากปล่องภูเขาไฟเมื่อเกิดระเบิดก็คือ หินหนืด ไอน้ำ ฝุ่นละออง เศษหิน แก๊สต่าง ๆ โดยหินหนืดถ้าพุ่งออกมาบนพื้นผิวโลกเรียกว่า “ลาวา” แต่ถ้ายังอยู่ใต้ผิวโลกเรียกว่า “แมกมา”
 
บริเวณที่มีโอกาสเกิดภูเขาไฟคือแนวรอยต่อของเปลือกโลก

เป็นบริเวณที่มีโอกาสเกิดภูเขาไฟได้มากที่สุด โดยเฉพาะบริเวณที่มีการมุดตัวของแผ่นเปลือกโลกใต้พื้นมหาสมุทรลงไปสู่บริเวณใต้เปลือกโลกที่เป็นส่วนของทวีป เพราะแผ่นเปลือกโลกที่มุดตัวลงไปจะถูกหลอมกลายเป็นหินหนืด และสามารถแทรกตัวขึ้นมาบริเวณผิวโลกได้ง่ายกว่าบริเวณอื่น ส่วนบริเวณที่อยู่ห่างจากรอยต่อระหว่างเปลือกโลกก็อาจเกิดภูเขาไฟได้เช่นกัน ซึ่งเกิดขึ้นได้โดยกระบวนการที่หินหนืดถูกดันขึ้นมาตามรอยแยกในชั้นหิน
 
ในไทยก็มีภูเขาไฟ 8 แห่ง แต่ดับสนิทหมดแล้ว

มีอายุราว 7 แสนปี โดยอยู่ที่ จ.บุรีรัมย์ 6 ประกอบด้วย... ภูเขาไฟหินพนมรุ้ง ที่เขาพนมรุ้ง ต.ตาเป๊ก อ.เฉลิมพระเกียรติ, ภูเขาไฟอังคาร ที่ภูพระอังคาร ต.เจริญสุข อ.เฉลิมพระเกียรติ, ภูเขาไฟกระโดง ที่เขากระโดน ต.เสม็ด อ.เมือง, ภูเขาไฟหินหลุบ, ภูเขาไฟไบรบัด, ภูเขาไฟคอก และอยู่ที่ จ.ลำปางอีก 2 คือ ภูเขาไฟดอยผาคอกจำปาแดด และ ภูเขาไฟดอยหินคอกผาฟู 
 
ทั้งนี้ ลักษณะของภูเขาไฟมีอยู่ 4 ประเภท

ได้แก่... ภูเขาไฟแบบกรวยสูง เกิดจากการทับถมของลาวาที่เป็นกรด มีความข้นและเหนียวจึงไหลและเคลื่อนตัวช้าแต่แข็งตัวเร็ว ทำให้ไหล่เขาชันมาก ภูเขาไฟแบบนี้ถ้าเกิดการระเบิดจะรุนแรง, ภูเขาไฟแบบโล่ เกิดจากลาวาที่มีความเป็นเบส ลาวามีลักษณะเหลว ไหลได้เร็วและแข็งตัวช้า การระเบิดไม่รุนแรง, ภูเขาไฟแบบกรวยกรวด เป็นกรวยสูงขึ้น ฐานแคบ เป็นภูเขาไฟที่มีการระเบิดรุนแรงที่สุด, ภูเขาไฟแบบสลับชั้น กรวยของภูเขาไฟมีหลายชั้น มีปล่องและแอ่งปากปล่องขนาดใหญ่
 
การระเบิดของภูเขาไฟก็มีประโยชน์อยู่บ้าง

อาทิ ทำให้แผ่นดินขยายกว้างขึ้นหรือสูงขึ้น เกิดเกาะใหม่หลังเกิดการปะทุใต้ทะเล ดินที่เกิดจากภูเขาไฟระเบิดจะอุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ธาตุต่าง ๆ เป็นแหล่งเกิดน้ำพุร้อน 
 
แต่โทษภัยที่จะมีต่อชีวิตและทรัพย์สินที่อยู่ใกล้เคียงนั้น มันร้ายแรง

จนคนทั่วไปไม่ค่อยคิดถึงประโยชน์ของภูเขาไฟระเบิด โดยนอกจากธารลาวาแล้ว หลังการระเบิดของภูเขาไฟจะมี “เขม่าควันและก๊าซพิษ” ซึ่งเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต นอกจากนั้นยังทำให้เกิด “แผ่นดินไหว” และต่อเนื่องถึง “สึนามิ” ได้ด้วย
 
วรวุฒิ ตันติวนิช ที่ปรึกษาการบริหารจัดการทรัพยากรธรณี ระบุว่า...

การเกิดระเบิดของภูเขาไฟนั้นสิ่งที่ทำให้ผู้คนเสียชีวิตมากที่สุดไม่ใช่ลาวา แต่เป็น “ไพโรคลาสติก” ซึ่งประกอบด้วยเศษหินร้อน พุ่งขึ้นบนอากาศ เกิดฝุ่นหนาปกคลุมพื้นที่ ทำให้คนขาดอากาศหายใจและเสียชีวิต ปัจจุบันถึงไทยจะไม่มีภูเขาไฟให้ระเบิด แต่บริเวณรอบ ๆ ที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านของไทยนั้นยังมีภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นใน อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, อินเดีย เพราะอยู่บนรอยต่อของเปลือกโลกที่จะมีการเคลื่อนตัวตลอด 
 
“ภูเขาไฟที่น่าเป็นห่วงที่สุดตอนนี้ก็คือ ภูเขาไฟ Barren Island ที่อินเดีย

ที่อยู่ในทะเลอันดามัน เพราะมีความเสี่ยงที่จะเกิดการปะทุมากที่สุด และถ้าเกิดขึ้นไทยก็จะได้รับผลกระทบด้วยอย่างแน่นอน ดังนั้นการเตรียมตัวรับมือไว้ก่อนจึงดีที่สุด เพราะเราไม่สามารถยับยั้งไม่ให้เกิดภัยพิบัติได้ แต่เราสามารถเรียนรู้ถึงวิธีการรับมือกับภัยพิบัติต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นได้” ...ผู้เชี่ยวชาญรายนี้กล่าว 
 
สอดคล้องกับ ดร.สมิทธ ธรรมสโรช ประธานอำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ที่บอกว่า...


ภูเขาไฟที่อยู่ใต้ทะเลอาจจะเกิดปะทุขึ้นได้ทุกนาที เพราะพลังงานที่อยู่ใต้เปลือกโลกยังมีอยู่ ยังถูกปล่อยออกมาจากใต้เปลือกโลก ซึ่งถ้าเกิดการระเบิดของภูเขาไฟในประเทศเพื่อนบ้าน ก็จะก่อให้เกิดผลกระทบกับประเทศไทยแน่ ถ้ามีการระเบิดขึ้นแล้วตามมาด้วยแผ่นดินไหวเกินกว่า 7 ริคเตอร์ อาจจะทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิในไทยได้
 
“การระเบิดของภูเขาไฟ การเกิดแผ่นดินไหว

จึงเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาเรียนรู้และทำความเข้าใจให้มากขึ้น รัฐบาลต้องสร้างระบบเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพสูงให้กับประชาชน เพราะถึงไม่สามารถหยุดยั้งภัยพิบัติได้ แต่ก็จะสามารถช่วยชีวิตและทรัพย์สินได้มาก” ...ดร.สมิทธระบุ
 
ในอดีตไทยเฉย ๆ กับ “แผ่นดินไหว” แต่ยุคนี้ต้องกลัว
 
ในอดีตไทยไม่เคยกลัว “สึนามิ” แต่เดี๋ยวนี้ถึงขั้นผวา
 
และกับ “ภัยภูเขาไฟ” ไทยไม่กลัว...ไม่ได้แล้ว !!!!!.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์